- Details
- Category: ธปท.
- Published: Saturday, 13 August 2016 10:44
- Hits: 3407
แบงก์แบกหนี้เน่า 3.73 แสนล้าน ไตรมาส 2 ปูดเพิ่ม 1.63 หมื่นล้าน
แนวหน้า : นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2 ปี 2559 ว่า ไตรมาส 2 สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในระดับต่ำที่ 3.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากความต้องการสินเชื่อที่ยังอ่อนแอ จากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สินเชื่อธุรกิจขยายตัว 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยขยายตัวดีในภาคธุรกิจการเงิน จากสินเชื่อเพื่อซื้อกิจการในธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ ภาคบริการและก่อสร้าง ขณะที่สินเชื่อในภาคอุตสาหกรรมและอสังหาริมทรัพย์หดตัวและสินเชื่อในภาคพาณิชย์กลับมาขยายตัวเป็นบวกเล็กน้อย หลังจากหดตัวต่อเนื่องมา 2 ไตรมาส
สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัว 6% ชะลอตัวลง ต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากครัวเรือนยังไม่มั่นใจในการใช้จ่าย ธนาคารพาณิชย์ยังระมัดระวังการขยายสินเชื่อส่วนบุคคลโดยเฉพาะสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยยังขยายตัวดีแม้จะชะลอลงหลังสิ้นสุดมาตรการรัฐในการ กระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ด้านสินเชื่อรถยนต์ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 สอดคล้องกับตลาดรถยนต์ที่มียอดขายเพิ่มขึ้น ขณะที่ สินเชื่อบัตรเครดิตได้รับอานิสงส์จากมาตรการรัฐในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทำให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน
ขณะที่คุณภาพสินเชื่อด้อยลงต่อเนื่อง ทั้งสินเชื่อธุรกิจโดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี และสินเชื่ออุปโภค โดยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL มียอดคงค้าง 3.73 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 1.63 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วน Gross NPL ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.72% จาก 2.64% ขณะที่สินเชื่อจัดชั้น กล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือ SM มียอดคงค้าง 2.98 แสนล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 8,000 ล้านบาท ทำให้สัดส่วน SM ต่อสินเชื่อรวมลดลงมาอยู่ที่ 2.17% จาก 2.26%
ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ มีการกันสำรองสำหรับสินเชื่อด้อยคุณภาพในระดับสูงต่อเนื่อง โดยสำรองเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน 2.42 หมื่นล้านบาท เป็น 4.92 แสนล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันขึ้นมาอยู่ที่ 161.3% จากไตรมาสก่อนที่ 160%
นายดอน กล่าวว่า ในไตรมาส 2 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิเท่ากับ 5.09 หมื่นล้านบาท ลดลง 4.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการกันสำรองที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับคุณภาพสินเชื่อที่อาจด้อยลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย และอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ยทรงตัวที่ 2.6% และ 1.2% ส่วนภาพรวมฐานะทางการเงินของระบบพาณิชย์ยังมั่นคง โดยมีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,273.7 พันล้านบาท และมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ที่ 17.5%
สำหรับ ในช่วงไตรมาส 3 คาดว่าอัตราการขยายตัวของสินเชื่อจะเพิ่มสูงขึ้นจากไตรมาส 2 ที่ขยายตัวได้ 3.3% เล็กน้อย เนื่องจากภาครัฐมีการออกมาตรการกระตุ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ธนาคารพาณิชย์ยังคงระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่ออย่างต่อเนื่องส่งผลให้สินเชื่อขยายตัวได้ไม่สูงนัก ขณะที่ NPL มองว่า จะขยับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากกลุ่มธุรกิจและอุปโภคบริโภค ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าว จะส่งผลให้การตั้งสำรองเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกับ NPL ที่จะเพิ่มสูงขึ้นด้วย