- Details
- Category: ธปท.
- Published: Thursday, 10 July 2014 00:02
- Hits: 3026
ผู้ว่า ธปท.เผย จีดีพีปีนี้จะโตได้ 2.5%ตามที่ คสช.หวังหรือไม่ ขึ้นกับว่าจะออกมาตรการเพิ่มเติมอีกหรือไม่
ผู้ว่าธปท.เผย จีดีพีปีนี้จะโตได้ 2.5%ตามที่ คสช.หวังหรือไม่ ขึ้นกับแผนการออกมาตรการเพิ่มเติม ขณะที่ Q3-Q4คาดโต 3-4% หลังการท่องเที่ยว -บริโภคฟื้น ปีหน้าโต 5.5% แต่จับตาปัจจัยเสี่ยงหนี้ครัวเรือน-ศก.ต่างประเทศ พร้อมมอง คสช.ตรวจสอบเข้ม โครงการรัฐวิสาหกิจเกิน 100ลบ.ช่วยแก้คอร์รัปชั่น
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยหรือจีดีพีปีนี้จะเติบโตได้ 2.5% ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ตั้งเป้าไว้หรือไม่นั้นคงต้องมาดูว่า คสช.จะมีมาตรการอะไรเพิ่มเติมอีกหรือไม่ โดยธปท.ประเมินว่าถ้าจะเน้นมาตรการเพิ่มเติม ควรทำในเรื่องการลงทุนเนื่องจากตรงกับความต้องการของประเทศ ทั้งในเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน กำลังพล ขณะที่ด้านการบริโภคเริ่มเห็นความเชื่อมั่นดีขึ้น ขณะที่การท่องเที่ยวเมื่อสถานการณ์สงบคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ค่อนข้างเร็ว แต่ช่วงนี้ยังเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยวส่งผลยังไม่เห็นการฟื้นตัวมากนัก
"ธปท.ประกาศจีดีพีที่ 1.5% ซึ่งเป็นสมมติฐานที่ธปท.มีอยู่ ส่วนจะได้ 2.5% หรือไม่คงต้องลุ้นมาตรการเพิ่มเติม ซึ่งบางเรื่องสามารถดำเนินการได้เลยตามแผน แต่บางเรื่องยังต้องรอในส่วนของกระบวนการ"นายประสาร กล่าว
ทั้งนี้ เศรษฐกิจครึ่งปีหลังเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ หลังจากสถานการณ์ในประเทศคลี่คลาย โดยคาดว่าจีดีพีไตรมาส 3 และ 4 จะโตได้ 3-4% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว จากที่มีการประมาณการไว้ ขณะที่ด้านการท่องเที่ยวจะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่สำคัญ เพราะเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่ทำได้ต่อเนื่อง และเป็น ไปตามเป้าหมายที่วางไว้
ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2558 จีดีพีจะเติบโตได้ประมาณ 5.5% ซึ่งถือว่าเป็นการโตเต็มศักยภาพ โดยมองไปข้างหน้าว่า เศรษฐกิจมีแนวโน้มเริ่มฟื้นตัวโดยเฉพาะในส่วนภาคธุรกิจ ภาคเอกชน ที่มีความเข้มแข็ง ขณะที่ภาครัฐมีฐานะทางการคลังดีขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ดีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาคือ ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน เนื่องจากที่ผ่านมาภาคครัวเรือนมีหนี้มาก แม้เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวลง แต่ยังต้องติดตามใกล้ชิ ด
ด้านต่างประเทศ ยังต้องติดตามการดำเนินนโยบายการเงินของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทั้งสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน โดยมองว่าหากมีการปรับนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น อาจส่งผลต่อสภาพคล่องในตลาดการเงินต่างประเทศ แต่ทั้งนี้ยังไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลมากนัก เพราะขณะนี้ตลาดการเงินยังคงมีความสมดุล
"หนี้ภาคครัวเรือนที่สูงขึ้น เป็นหนี้ค่อนข้างเยอะ เกิดจากกลุ่มที่มีรายได้ต่ำ ส่งผลให้เป็นตัวจำกัดอำนาจซื้อ และยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ด้านของภาคธุรกิจ เอกชน และภาครัฐยืนยันว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง"นายประสาร กล่าว
นายประสาร ยังเปิดเผยถึงกรณีที่ คสช. ได้มีคำสั่งให้รัฐวิสาหกิจทุกแห่ง แจ้งรายงานโครงการประมูลจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินลงทุนเกิน 100 ล้านบาท เพื่อให้มีการพิจารณากลั่นกรองก่อนดำเนินการ รวมทั้งมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการใช้งบประมาณของรัฐ (คตร.)เพื่อตรวจสอบโครงการต่างๆ ว่า คสช.มีเจตนาเพื่อแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ อาจส่งผลต่อการทำธุรกรรมสะดุดบ้างในช่วงแรก แต่เชื่อว่าไม่มีปัญหาแน่นอน
"ช่วงแรกอาจสะดุด แต่ธุรกรรมที่มีมูลค่า 100 ล้านบาท ยังดำเนินการได้ปกติ ส่วนที่จะต้องตรวจสอบคือ ด้านการจัดซื้อ จัดจ้างที่เกิดขึ้นใหม่เท่านั้น"นายประสาร กล่าว
ส่วนร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ เป็นการสร้างหลักประกันใหม่ นอกเหนือจากการจำนองและค้ำประกัน โดยให้สามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาใช้เป็นหลักประกันได้ โดยไม่ต้องส่งมอบการครอบครองทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันแก่ผู้ปล่อยสินเชื่อ ซึ่งมองว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีก ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนกว่า 2 ล้านราย และยังช่วยพัฒนากระบวนการทางเศรษฐกิจและสังคม เพราะเอสเอ็มอีมีสัดส่วนถึง 40% ของจีดีพี หรือคิดเป็นมูลค่า 4 ล้านล้านบาทของจีดีพี
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้น้อย เนื่องจากสถาบันการเงินยังมีความกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงกับสถาบันการเงิน
"ในมุมของผู้ให้กู้ไม่ได้อยากได้หลักประกันของลูกหนี้ แต่อยากให้ลูกหนี้มีการชำระคืนมากกว่า ดังนั้นหากผู้ประกอบการจะทำให้สถาบันการเงินมั่นใจในการปล่อยกู้ภายใต้กฎหมายดังกล่าว จะต้องเปิดเผยข้อมูลของบริษัทอย่างโปร่งใสและมีระบบบัญชีที่ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อ" นายประสาร กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย