- Details
- Category: ธปท.
- Published: Wednesday, 25 November 2015 22:17
- Hits: 4571
ความเสี่ยงเศรษฐกิจรุมเร้า! ส่งออกยังหัวทิ่ม-กนง.จ่อปรับลดคาดการณ์จีดีพี
กรรมการ กนง. เผยเศรษฐกิจจีนและเอเชียที่ยังชะลอตัว และปัญหาภัยแล้งรุนแรงที่มีผลให้ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่ทั้งปีนี้และปีหน้า ระบุยังไม่วางใจปัญหาดอกเบี้ยต่ำนานผิดธรรมชาติ ถึงจุดหนึ่งควรทยอยปรับสู่ภาวะปกติ ขณะที่การส่งออกเดือน ต.ค.ติดลบหนักสุดในรอบปี รวม 10 เดือนปีนี้ ส่งออกติดลบแล้ว 5.32%
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน รองผู้ว่าการด้านบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะกรรมการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยมีมากขึ้นทั้งเรื่องการชะลอตัวเศรษฐกิจจีนและเอเชีย ปัญหาภัยแล้งที่มีผลต่อราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ จึงระบุชัดเจนว่าความเสี่ยงด้านต่ำมีมากขึ้นและประมาณการเศรษฐกิจไทยเคยประเมินไว้ครั้งก่อนก็ไม่เป็นไปตามประกาศไว้ จึงอาจมีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 58 และปี 59 ใหม่
อย่างไรก็ตาม กนง.จะทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทยทุก 3 เดือน ซึ่งจะประกาศตัวเลขอย่างเป็นทางการในรายงานนโยบายการเงินวันที่ 25 ธ.ค.นี้ และในวันที่ 16 ธ.ค.นี้จะมีการประชุมบอร์ด กนง. เพื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายและข้อมูลเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ ในประมาณการเศรษฐกิจเดือน ก.ย.คาดการณ์เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.7% ในปีนี้และปีหน้าอยู่ที่ 3.7% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ 0.9% และ 1.2% ในปีนี้และปีหน้า ส่วนส่งออกคาดว่าปีนี้จะหดตัว 5% และปีหน้า 1.2%
ก่อนหน้านี้ ธปท.ได้เผยแพร่รายงานการประชุม กนง.ในวันที่ 4 พ.ย. ซึ่งครั้งนั้นมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี ระบุว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชีย รวมถึงปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป ซึ่งมีผลต่ออัตราการขยายตัวเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 59 อยู่ต่ำกว่าประมาณการกรณีฐาน
ส่วนประเด็นอัตราดอกเบี้ยต่ำมานาน อาจ ส่งผลให้เกิดการเก็งกำไรช่องทางต่างๆ เพื่อให้ได้อัตราผลตอบแทนสูงขึ้นนั้น นายไพบูลย์ กล่าวว่า แม้ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณบ่งชัดเจนว่ามีปัญหา แต่ก็ต้องระมัดระวัง เพราะดอกเบี้ยต่ำนานอาจสะสมความเสี่ยงได้ ฉะนั้น บอร์ด กนง.สั่งจับตาและติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด “ดอกเบี้ยนโยบายต่ำมาเป็นเวลานานผิดธรรมชาติ เมื่อถึงจุดหนึ่งก็ทยอยปรับเพื่อให้เป็นไปตามปกติ เหมือนดอกเบี้ยสหรัฐฯที่อยู่ระดับ 0% มานานก็ต้องทยอยปรับสู่ธรรมชาติเช่นกัน แต่ต้องดูปัจจัยแวดล้อมอื่นด้วย ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นต้องมั่นใจว่าเศรษฐกิจขยายตัวระดับปกติและภาวะการเงินปรับสู่ภาวะปกติด้วย”
ขณะที่นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์เปิดเผยการส่งออกเดือน ต.ค.58 มีมูลค่า 18,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 8.11% เทียบกับ ต.ค. 57 เป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และติดลบหนักสุดในรอบปีนี้ ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 16,400 ล้านเหรียญฯลดลง 18.21% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 2,100 ล้านเหรียญฯ สำหรับการส่งออก 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ปี 58 มีมูลค่า 180,000 ล้านเหรียญฯ ลดลง 5.32% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนการนำเข้า 10 เดือน มีมูลค่า 170,000 ล้านเหรียญฯ ลดลง 11.27% ทำให้ไทยยังเกินดุลการค้า 9,859 ล้านเหรียญฯ
สาเหตุการส่งออก ต.ค.ติดลบหนักสุดในรอบปีนี้ เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยจากการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่าการส่งออกของโลกทั้งปี 58 จะหดตัวถึง 11.17% และปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 58 อยู่ที่ 3.1% เป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินปี 52 และเป็นระดับที่ต่ำกว่าเศรษฐกิจโลกปี 57 ที่ขยายตัว 3.4% รวมถึงสถานการณ์ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกหดตัวสูง ส่งผลให้การนำเข้าของทุกประเทศทั่วโลกหดตัว โดยเฉพาะการนำเข้าช่วง 9 เดือนของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น ญี่ปุ่น นำเข้าลด 20.6% จีนลด 18.8% ฝรั่งเศสลด 17.3% เกาหลีใต้ลด 16.6% สหรัฐฯ ลด 3.9% เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกชะลอลงต่อเนื่อง และไม่มีแนวโน้มฟื้นตัว โดย ต.ค. 58 ราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบลดลง 46.3% กระทบต่อมูลค่าส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันมีทิศทางลดลงและราคาสินค้าเกษตรโลกปรับตัวลงโดย 10 เดือนที่ผ่านมา ราคาข้าวลดลง 10.3% ยางพาราลดลง 19.8% และน้ำตาลลดลง 7.8% “อีกสาเหตุที่ส่งออก ต.ค.ติดลบหนัก มาจากการส่งออก ต.ค.ปี 57 มีอัตราการขยายตัวสูงผิดปกติ เนื่องจากช่วงต้นปี 57 เกิดความไม่สงบทางการเมือง ทำให้การส่งออกอัดอั้น และมาเพิ่มสูงขึ้นช่วงปลายปี”
นางอภิรดี กล่าวต่อว่า กระทรวงพาณิชย์ยังคงยืนยันเป้าหมายส่งออกทั้งปี 58 ติดลบ 3% ซึ่งการส่งออกช่วง 2 เดือนสุดท้าย คือ พ.ย.-ธ.ค.ต้องได้อย่างต่ำเดือนละ 19,000-20,000 ล้านเหรียญ ถึงจะเป็นไปตามเป้าหากดูตัวเลขการส่งออกในกลุ่มยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ยังขยายตัวได้ดีอยู่ ส่วนปี 59 ยังไม่ได้ประเมิน แต่ยืนยันว่ามีทิศทางดีขึ้นแน่นอน.
ภัยแล้งเกษตรกรตกงาน-รายได้หด
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 58 ว่า การจ้างงานลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ โดยการจ้างงาน ภาคเกษตรลดลง 3.8% นอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 1.7% ส่งผลให้การจ้างงานภาพรวมลดลง 0.2% เพราะฝนทิ้งช่วงในช่วงเวลาเพาะปลูกเดือน มิ.ย.-ส.ค. และน้ำในเขื่อนลดลง ทำให้แรงงานภาคเกษตร 80,064 คน เป็นแรงงานรอฤดูกาล เพิ่มขึ้น 26.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่คาดว่ามาตรการของรัฐบาลที่บรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง และช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย จะเห็นผลชัดเจนช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้
สำหรับ ประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ รายได้ ของเกษตรกร และแรงงาน ที่คาดจะลดลงจากปริมาณผลผลิต และราคาสินค้าเกษตรลดลง รวมถึงค่าแรง ที่ลดลงจากการลดชั่วโมงทำงาน เพราะภาวะเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ จากในช่วงครึ่งแรกปี 58 ที่ครัวเรือนเกษตรมีรายได้ลดลงเช่นกัน “ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ณ วันที่ 18 พ.ย.58 อยู่ที่ 58% ของความจุอ่าง มีปริมาณน้ำใช้ได้จริง 25% ของระดับน้ำกักเก็บ สะท้อนถึงปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับการเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไปมีน้อย แนวโน้มการจ้างงานภาคเกษตรจึงลดลงต่อเนื่อง และเป็นปัจจัยผลักดันให้แรงงานเกษตรโยกย้ายสู่การทำงานนอกภาคเกษตรมากขึ้น จึงควรเพิ่มทักษะแรงงานก่อนโยกย้ายไปสู่สาขาอื่น”
ส่วนปัญหาหนี้สินครัวเรือน พบว่ายังอยู่ในระดับสูง แต่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยจากผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนในครึ่งแรกปี 58 พบว่ามีรายได้เฉลี่ย 27,545 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 4.1% มีรายจ่าย 21,818 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 6.4% สัดส่วนรายจ่ายต่อรายได้เท่ากับ 79.2% เพิ่มขึ้นจาก 75.8% ในช่วงเดียวกันของปี 56 ขณะที่มีหนี้สินครัวเรือน 163,276 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 1.2% สำหรับครึ่งหลังปี 58 หนี้สินครัวเรือนยังมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง แต่การผิดนัดชำระหนี้ยังเพิ่มขึ้น โดยสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตที่ผิดนัดชำระเกิน 3 เดือน เพิ่มขึ้น 14.3% และ 24.5% ตามลำดับ จึงต้องติดตามและเฝ้าระวังหนี้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังอย่าให้ยุงกัด เพราะพบจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น 3.7 เท่า จากช่วงเดียวกันของปีก่อน.
ที่มา : www.thairath.co.th