- Details
- Category: ธปท.
- Published: Monday, 30 June 2014 23:10
- Hits: 3294
ธปท.เผยศก.ไทยพ.ค. ปรับตัวดีขึ้น หลังผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในเดือนเม.ย.
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการ สำนักเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคม 57 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า มาจากการผลิตภาคอุตสาหกรรม การใช้จ่ายภาคเอกชนที่เริ่มมีสัญญาณขยายตัว รวมถึงการส่งออกไปประเทศอุตสาหกรรมหลักปรับตัวดีขึ้น แต่การส่งออกในภาพรวมยังฟื้นตัวได้ช้าจากผลของราคาสินค้าเกษตรและอุปสงค์จากภูมิภาคในเอเชียที่ยังอ่อนแอ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวพ.ค.ได้รับผลกระทบเพิ่มติมจาการชุมนุมและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนตามการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการใช้จ่ายภาคเอกชน โดยเฉพาะการบริโภคที่เริ่มมีสัญญาณขยายตัวจากเดือนก่อนตามการใช้จ่ายในสินค้าไม่คงทน ส่วนหนึ่งเนื่องจากครัวเรือนนอกภาคเกษตรมีรายได้จากการทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้น แต่หากเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนยังหดตัวร้อยละ 0.3 ตามการใช้จ่ายในสินค้าคงทนที่ยังมีผลของฐานสูงในปีก่อน ประกอบกับครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่ายตามภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงและรายได้ในภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากราคาข้าวและยางพาราที่ตกต่ำ
สำหรับ การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต แต่หากเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน หดตัวร้อยละ 2.9 เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการลงทุนใหม่ออกไปเพื่อรอความชัดเจนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและแนวนโยบายภาครัฐ ส่งผลให้การลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัวต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัว
การส่งออกในภาพรวมฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้าโดยการส่งออกสินค้ามีมูลค่า 19,268 ล้านดอลลาร์สรอ. หดตัวร้อยละ 1.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการส่งออกยานยนต์ เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์เหล็กและโลหะ ที่อุปสงค์จากประเทศในภูมิภาคเอเชียยังอ่อนแอ รวมถึงการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปที่ได้รับผลจากราคายางพาราและน้ำตาลที่ลดลง
อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าในหลายอุตสาหกรรมปรับดีขึ้นตามอุปสงค์จากประเทศอุตสาหกรรมหลัก อาทิ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
นายดอน กล่าวว่า ในปีนี้หากจะให้การส่งออกเป็นไปตามเป้า 3.5% การส่งออกตั้งแต่เดือนมิ.ย.เป็นต้นไป ต้องมีมูลค่าเฉลี่ย 2 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน
ภาคการท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากสถานการณ์การชุมนุมและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำให้หลายประเทศเพิ่มระดับการเตือนภัย และส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างประเทสในเดือนนี้มีจำนวน 1.7 ล้านคน หดตัวร้อยละ 10.7 จากระยะเดียวกันปีก่อนตามการลดลงของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะจีนและมาเลเซีย
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นตามราคาพลังงานและอาหารสำเร็จรูป ดุลการค้าเกินดุล ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจจากการส่งกลับกำไรและเงินปันผลไปต่างประเทศของบริษัทต่างชาติและรายรับจากการท่องเที่ยวที่ลดลง
"เศรษฐกิจไทย bottom ไปแล้วเมื่อเดือนที่แล้ว(เม.ย.) โดยภาพรวมเศรษฐกิจในเดือนพ.ค.ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน แม้จะเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ยังถือว่าติดลบ แต่สถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมตอนนี้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี และในเดือนพ.ค. แทบจะยังไม่เห็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง น่าจะเห็นตัวเลขเศรษฐกิจจากผลความเปลี่ยนแปลงชัดเจนในเดือนมิ.ย." นายดอน กล่าว
อินโฟเควสท์