- Details
- Category: ธปท.
- Published: Wednesday, 30 September 2015 21:18
- Hits: 2646
ธปท.เผย ศก.เดือน ส.ค.ยังอ่อนแอจากส่งออกที่หดตัว 5.6% ความเชื่อมั่นธุรกิจทรงตัวจาก ก.ค. ย้ำบาทอ่อนยังสอดคล้องกับภูมิภาค
ธปท.เผย ศก.เดือน ส.ค.ยังอ่อนแอจากส่งออกที่หดตัว 5.6% และภาคท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่ำลงหลังเกิดเหตุระเบิดราชประสงค์ แต่เชื่อจะหื้นตัวในอีก 2-3% ขณะที่ความเชื่อมั่นทางธุรกิจทรงตัวจากเดือน ก.ค. ที่ 46.4 แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 สะท้อนความกังวลของผู้ประกอบการ ส่วนความเชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้า เพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน พร้อมย้ำเงินบาทที่อ่อนค่าขณะนี้ ยังสอดคล้องกับภูมิภาค
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงตัวเศรษฐกิจและการเงิน เดือนสิงหาคม ปี 2558 กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมยังอ่อนแอ การส่งออกสินค้าหดตัวมากขึ้นจากความต้องการจากจีนและอาเซียนที่ชะลอตัว จำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวในอัตราที่ต่ำลง
ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้นเล็กน้อย แต่โดยรวมยังสะท้อนความระมัดระวังในการใช้จ่ายของครัวเรือน สอดคล้องกับรายได้ครัวเรือนที่ลดลงโดยเฉพาะรายได้นอกภาคเกษตร และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เปราะบาง
ส่วนการลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นเล็กน้อยตามการนำเข้าสินค้าทุนและยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์รุ่นใหม่ ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมก็ปรับเพิ่มขึ้น แต่ส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นผลจากปัจจัยชั่วคราว สำหรับภาครัฐยังใช้จ่ายได้ต่อเนื่องแม้แรงส่งจะลดลงบ้างหลังจากเร่งไปในช่วงก่อน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้นจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลง อัตราการว่างงานทรงตัว โดยแรงงานบางส่วนย้ายกลับเข้าสู่ภาคเกษตรหลังปริมาณน้ำฝนเอื้อต่อการเพาะปลูกมากขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องตามการนำเข้าที่อยู่ในระดับต่ำ
ธปท.ระบุว่า การส่งออกสินค้ายังคงซบเซา สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าที่หดตัว 5.6% อยู่ที่ 17.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการหดตัวที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่แล้วในเกือบทุกหมวดสินค้า ที่สำคัญได้แก่ 1) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ และปิโตรเคมี เนื่องจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าชะลอลงโดยเฉพาะจีน และอาเซียน อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง
2) สินค้าเกษตร จากข้าวที่อุปสงค์โลกชะลอตัว และมันสำปะหลังที่แม้ความต้องการจากจีนยังสูงแต่ผลผลิตในไทยมีจำกัดเนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยว และ 3) ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ผู้บริโภคในตลาดโลกเปลี่ยนไปนิยมสินค้าที่ใช้โซลิดสเตทไดรฟ์เป็นส่วนประกอบมากขึ้น อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าบางหมวดยังขยายตัวได้ อาทิ รถยนต์โดยเฉพาะ อีโคคาร์และรถยนต์เชิงพาณิชย์รุ่นใหม่ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำไปผลิตและประกอบเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ประเภทโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ต
ส่วนมูลค่าการนำเข้าหดตัว 10.8% อยู่ที่ 1.47 หมื่นล้านดอลล์ โดยเกินดุลการค้า 2.9 พันล้านดอลล์ และเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 2.6 พันล้านดอลล์ จากการนำเข้าสินค้าที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลจากการปรับฐานะเงินตราต่างประเทศของสถาบันการเงิน และการขายหลักทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ โดยรวมแล้วดุลการชาระเงินขาดดุล
ด้านภาคการท่องเที่ยวชะลอตัว เพราะเหตุระเบิดในกรุงเทพฯ และความไม่สงบทางการเมือง ในมาเลเซียส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนนี้ลดลงจากเดือนก่อนตามจำนวนนักท่องเที่ยวเอเชียเป็นหลัก อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวยังสูงกว่าในเดือนเดียวกันปีก่อน และตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกันยายนเป็นต้นมาจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศปรับดีขึ้น โดยมีแนวโน้มจะกลับเป็นปกติในอีก 2 - 3 เดือน
ส่วนดัชนีการบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้นเล็กน้อย 0.3% และการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 0.6% จากเดือนก่อนหน้า แต่โดยรวมยังสะท้อนถึงความระมัดระวัง ในการใช้จ่ายของครัวเรือน เนื่องจากรายได้นอกภาคเกษตรปรับลดลง และรายได้เกษตรกรตกต่ำต่อเนื่อง รวมทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังเปราะบาง เมื่อประกอบกับการที่สถาบันการเงินยังคงระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนที่มีมูลค่าสูง อาทิ รถยนต์ จึงยังอยู่ในระดับต่ำ สอดคล้องกับสินเชื่อยานยนต์ที่หดตัวต่อเนื่อง ขณะที่เครื่องชี้การใช้จ่ายในหมวดสินค้ากึ่งคงทนทรงตัวจากเดือนก่อน และหมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัวบ้างจากการบริโภคน้ำมันและหมวดบริการ โดยเฉพาะด้านการขนส่งและ การสื่อสาร
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน มาอยู่ที่ -1.19% เป็นผลจากราคาน้ามันในตลาดโลกที่ปรับลดลงเป็นสำคัญ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.89% ชะลอลงเล็กน้อยจากการปรับลดค่าโดยสารสาธารณะตามต้นทุนน้ำมัน
ส่วนอัตราการว่างงานทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยมีแรงงานบางส่วนย้ายกลับเข้าสู่ภาคเกษตรหลังปริมาณน้าฝนเอื้อต่อการเพาะปลูกข้าวนาปีมากขึ้น
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนส .ค. ที่ 46.4 ทรงตัวจากเดือนก.ค. และยังคงต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนความ กังวลของผู้ประกอบการ ต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ที่ยังอ่อนแอ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ เห็นว่าความต้องการจากตลาดในประเทศที่ ต่ำยังคงเป็นข้อจำกัดสำคัญอันดับ 1 ในการดำเนินธุรกิจ ส่งผลให้สัดส่วนการลงทุนชะลอลงต่อเนื่อง
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจใน 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งสำรวจใน เดือน ส.ค.อยู่ที่ 52.1 เพิ่มขึ้นจาก 49.9 ที่สำรวจเมื่อเดือนก.ค. และเป็น การปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนแรก หลังดัชนีปรับลงมา 3 เดือนต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประเมินว่า ภาวะทางธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะดีขึ้นจาก ปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ดัชนียังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต สะท้อนความ กังวลที่ยังคงมีอยู่ ต่อความชัดเจนในการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจในระยะต่อไป
ด้านนางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่าย นโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. กล่าวถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่าขณะนี้ ยังคงสอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของค่าเงินในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นผลจาก การแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ
"เงินบาทก็ยังถือว่าสอดคล้องกับคนอื่น ของเราก็ยังอยู่ กลางๆ สาเหตุก็มาจากดอลลาร์ที่แข็งขึ้น"
ธปท.เผยตั้งแต่ต้นปี เงินไหลออกจากตลาดหุ้น-พันธบัตรรวม 5.9 พันล้านดอลล์ - เร่งตัวขึ้นในเดือน ส.ค. กังวล ศก.โลก-ตลาดหุ้นจีน ยันติดตามใกล้ชิด
นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า ในปี 2558 มีเงินทุนไหลออก (Portfolio outflows) สุทธิประมาณ 5.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการไหลออกจากทั้งตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรของไทยประมาณ 3 และ 2.9 พันล้านดอลลาร์ ตามลำดับ
ทั้งนี้ การไหลออกของเงินทุนเร่งตัวขึ้นในช่วงเดือน ส.ค. จากความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่มีมากขึ้น รวมทั้งการปรับลดลงของตลาดหุ้นจีนที่ค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่ง ธปท. จะติดตามภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิดต่อไป
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย