- Details
- Category: ธปท.
- Published: Saturday, 01 August 2015 13:56
- Hits: 2552
ธปท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจมิ.ย.อยู่ที่ 49.1 จาก 50.3 เดือนพ.ค.
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ในเดือนมิถุนายน 2558 ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลงจากเดือนก่อนที่ระดับ 50.3 มาอยู่ที่ระดับ 49.1 และดัชนีที่ปรับฤดูกาลแล้วยังคงต่ำกว่าระดับ 50 จากองค์ประกอบย่อยด้านคำสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศ การผลิต และการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต ตามความกังวลของผู้ประกอบการต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และภาวะส่งออกที่อ่อนแอจากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม
ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภาคที่มิใช่อุตสาหกรรมปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากผู้ประกอบการในภาคการค้า และภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นส่าคัญ ทั้งนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่า ความต้องการจากตลาดในประเทศต่ำยังคงเป็นข้อจำกัดส่าคัญอันดับ 1 ในการดำเนินธุรกิจ
ในอีก 3 เดือนข้างหน้า แม้ว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประเมินว่า ภาวะทางธุรกิจจะดีขึ้นจากปัจจุบัน สะท้อนจากดัชนีฯ ที่อยู่เหนือระดับ 50 แต่สัดส่วนของผู้ที่ประเมินว่าภาวะทางธุรกิจจะดีขึ้นปรับลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ทั้งผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม และมิใช่อุตสาหกรรม โดยดัชนีฯ ปรับลดลงจาก 52.0 มาอยู่ที่ 51.0 ในเดือนนี้สะท้อนความกังวลที่เพิ่มขึ้นต่อความชัดเจนในการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจในระยะต่อไป
อินโฟเควสท์
ธปท.ปลอบศก.ฟื้นแน่แบบค่อยเป็นค่อยไป ยอดตั้งรง.ใหม่ยังไม่โงหัว
แนวหน้า : กรมโรงงาน เผย 6 เดือนแรกของปีนี้ ยอดเปิดโรงงาน และขยายกิจการลดลง 6% มั่นใจครึ่งปีหลังมีเมกะโปรเจกท์-พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯมาช่วยกระตุ้น
นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยถึงยอดการตั้งโรงงานใหม่ว่า หากรวมยอดเปิดกิจการใหม่และขยายกิจการในช่วง 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.2558) พบว่ามีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 234,600 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 6.2.% ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับครึ่งปี 2557 ถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยลบจากปัญหาเศรษฐกิจโลก และค่าเงินบาทก็ตาม แต่ขณะนี้ในประเทศเศรษฐกิจถือว่ามีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้น สังเกตได้จากในเดือน ก.ค.นี้ (1-23 ก.ค.2558) มีจำนวนโรงงานเปิดใหม่ 324 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 25,279 ล้านบาท และมีโรงงานขยายกิจการ 58 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 16,277 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเดือนมิถุนายนทั้งเดือน
“ดังนั้น คาดว่า ทั้งปีจะมียอดการเปิดกิจการใหม่และขยายกิจการเติบโตประมาณ 10-15% เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในขั้นตอนการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน(รง.4) ที่มีความโปร่งใสและความสะดวกรวดเร็วขึ้น รวมทั้งพระราชบัญญัติอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ที่เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค.2558 ที่ผ่านมา จะอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการยื่นเรื่องและได้รับการพิจารณารวดเร็วขึ้น และช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ” นายพสุกล่าว
นอกจากนี้ โครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกท์)ของภาครัฐบางส่วนจะเห็นเป็นรูปชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะทำให้ผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างประเทศมีความมั่นใจและมีการลงทุนเพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่งปีแรก รวมทั้งเรื่องการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ให้กับโรงไฟฟ้า ที่กรมโรงงาน ส่งให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) พิจารณาอยู่ และปัจจุบันเริ่มทยอยอนุญาตแล้วในขณะนี้
นายพสุ กล่าวว่า ในเรื่องของการร้องเรียนขณะนี้มีการร้องเรียนเพิ่มขึ้น เนื่องจากทางกรมโรงงานมีช่องทางรับเรื่องร้องเรียนมากขึ้น อาทิ สายด่วนกรมโรงงานอุตสาหกรรม 1564 และเว็บไซต์กรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเป็นเรื่องของการปล่อยน้ำเสีย กลิ่น เป็นต้น โดยโรงงานที่ทำผิดเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานอาหาร สิ่งทอ และฟอกย้อม ซึ่งทางกรมได้สั่งให้ปิดปรับปรุงโรงงานตามมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.กรมโรงงาน พ.ศ.2535 โดยครึ่งปีแรก 2558 ยังไม่มีโรงงานใดถูกถอนใบอนุญาตมีเพียงปิดเพื่อปรับปรุงให้ถูกต้องเท่านั้น
นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจ การเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การส่งออกของไทยปี 2558 อาจติดลบ มากกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ที่ 1.5% แต่เชื่อว่าจะกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ไม่มากนัก ขณะที่คาดว่าจีดีพีในไตรมาส 2/58 จะเป็นบวกเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก อย่างไรก็ตาม คาดว่าจีดีพีปีนี้มีโอกาสปรับลดลงจากเดิมที่คาดโต3% จากการส่งออกที่ชะลอตัว
“น่าจะต้องปรับประมาณการส่งออกลงในทิศทางเดียวกับ สศค. อาจจะกระทบเล็กน้อยต่อจีดีพี” นางรุ่ง กล่าว
อย่างไรก็ดี ในเดือนมิถุนายน 2558 พบว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐ รวมทั้งการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวเล็กน้อยโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าและหมวดบริการ สะท้อนกำลังซื้อของผู้บริโภคระดับกลางและบนที่ยังมีอยู่แต่ถูกหน่วงด้วยความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังไม่ดีนัก ขณะเดียวกันเศรษฐกิจโดยรวมได้รับผลกระทบจากการส่งออกสินค้าที่หดตัวตาม การชะลอตัวของความต้องการจากจีนและอาเซียน เมื่อผนวกกับอุปสงค์ในประเทศที่ไม่เข้มแข็งจึงส่งผลให้ ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจปรับลดลง การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัว และการลงทุนภาคเอกชนทรงตัว อยู่ในระดับต่ำ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงจากราคาน้ำมันและราคาอาหารสดที่เริ่มขยับสูงขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทาน อย่างไรก็ดี ยังไม่มีแรงกดดันเงินเฟ้อจากด้านอุปสงค์ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง โดยแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งได้โยกย้ายออกจากภาคเกษตรเข้าสู่ภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับค่าจ้างไม่สูงนัก ส่วนภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง