WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

BOA copyธปท.มองส่งออกปี 59 โต 2-3% จากที่หดตัวปีนี้,เอกชนหนุนรัฐขับเคลื่อนศก.

     ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มองส่งออกของไทยน่าจะกลับมาเติบโตได้ราว 2-3% ในปี 59 หลังจากหดตัวในปีนี้ ซึ่งเป็นไปตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น ขณะที่ภาคเอกชนหนุนการทำงานร่วมภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลก ด้วยการกระตุ้นยอดขายและการลงทุน ด้านโบรกเกอร์มองตลาดหุ้นไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และน่าจะปรับตัวเป็นขาขึ้นได้ ประเมินดัชนีสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 1,600-1,640

     นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจมหาภาค ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวในงานเสวนา MFC Finance Forum ครั้งที่ 19 (2/2558) ในหัวข้อ Investment Strategy in the New Normal and New Common ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้อาจจะเติบโตได้ประมาณ 3% ซึ่งเป็นภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ช้าจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่มีเข้ามา อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งปีหลังจะเห็นการกลับมาลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชน หลังได้ปัจจัยหนุนจากการลงทุนภาครัฐที่ปัจจุบันการเบิกจ่ายงบประมาณที่นับว่ามีความคล่องตัวมากขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะโครงการใหญ่ๆน่าจะเริ่มเห็นการลงนามสัญญาได้เร็วๆนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นภาคเอกชนมากขึ้น

    ส่วนการส่งออกคาดว่าปี 59 จะสามารถกลับมาเป็นบวกได้ราว 2-3% จากปีนี้ที่น่าจะติดลบ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่น่าจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้น และราคาน้ำมัน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันก็น่าจะปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกให้ปรับตัวดีขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามปัจจัยจากเศรษฐกิจจีน ซึ่งหากขยายตัวดีอยู่ ก็จะส่งผลดีต่อส่งออกของไทยในปีหน้าที่จะเติบโตได้ตามเป้าหมาย รวมถึงต้องติดตามปัญหาหนี้กรีซ ว่าจะกระทบกับตลาดเงินมากน้อยเพียงใด

   นายนิลสุวรรณ ลีลารัศมี รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ปรับตัวลดลงในปีนี้ ซึ่งจะเป็นการปรับตัวลงเป็นปีที่ 3 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับไม้ ไม้ยาง ไม้อัด และยางแผ่น เนื่องจากความต้องการของโลกมีการเปลี่ยนแปลง ขณะที่สินค้าที่สามารถส่งออกไปได้กลับเป็นสินค้าอย่าง ปิโตรเคมี ,ผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น

     ทั้งนี้ ผู้ประกอบการทุกรายต้องเตรียมความพร้อม และต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้สอดคล้องไปกับเศรษฐกิจโลก โดยมองการกระตุ้นยอดขายหรือรายได้และการกระตุ้นการลงทุน ถือเป็นปัจจัยหลักมากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากธุรกิจมีการขยายตัวช้าลง จึงไม่จำเป็นที่จะต้องปรับลดดอกเบี้ยในช่วงนี้

     สำหรับจุดอ่อนของภาคเอกชน คือการรอความชัดเจนจากการตัดสินใจของภาครัฐเกี่ยวกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ เช่น ในเรื่องของการขนส่ง รถไฟรางคู่ หากภาครัฐดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ก็เชื่อมั่นว่าภาคเอกชนก็จะมีการลงทุนเกิดขึ้นทันที

*ทรีนิตี้มองบวกตลาดหุ้นไทย

     นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนิตี้ กล่าวว่า ผลกระทบจากการกำหนดมาตรฐานสากล (New Common)  ส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งฝ่ายผู้ผลิต และผู้บริโภค  เกิดธุรกิจที่หลากหลายรูปแบบ และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ e-commend รวมถึงกระทบต่อเงินเฟ้อทั่วโลกปรับตัวลดลง ตลอดจนอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้นักลงทุนแสวงหาช่องทางการลงทุนอื่นๆเพิ่มขึ้น เพื่อหาผลตอบแทนที่มั่งคั่ง และจะเห็นการกู้เงินมาร่วมลงทุนหรือซื้อกิจการ(M&A) มากขึ้น

    ขณะเดียวกัน ยังส่งผลต่อตลาดหุ้นไทยในปีนี้ปรับตัวค่อนข้างผันผวน แต่ก็นับว่ามีความผันผวนน้อยลงประมาณบวกลบ 100 จุด จากปกติทุกปีจะปรับตัวอยู่ที่บวกลบ 380 จุด โดยตลาดหุ้นไทยยังให้ผลตอบแทนของหุ้นในปัจจุบันอยู่ที่ราว 3.5% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 1 ปีต่ำกว่า 2% ทำให้ยังมีช่องว่าง (GAP) เหลืออยู่ 1.5-1.7% สูงสุดในรอบ 5 ปี

     ทั้งนี้ มองว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และน่าจะปรับตัวเป็นขาขึ้นได้ จากมีการรับรู้ปัจจัยลบต่างๆไปพอสมควร โดยคาดว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 1,600-1,640 จุด จากแนวโน้มการทำกำไรในไตรมาส 2/58 ของบริษัทจดทะเบียนไทย น่าจะออกมาดีกว่าไตรมาสแรก ส่งผลให้โบรกเกอร์ต่างๆน่าจะปรับเพิ่มเป้าหมายอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิต่อหุ้น(EPS Growth) หลังจากประกาศงบไตรมาส 2/58 เสร็จสิ้น โดยกลุ่มที่น่าจะมีผลการดำเนินงานที่ดี ได้แก่ ก่อสร้าง ปิโตรเคมี น้ำมัน และธนาคารพาณิชย์

    ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามในช่วงครึ่งปีหลังนี้ คือ การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) คาดว่าน่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยตามคาดการณ์ในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค.58 ซึ่งหากเป็นไปตามคาดก็จะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าตลาดทุนในช่วงไตรมาส 3/58 รวมถึงยังต้องติดตามปัญหาหนี้กรีซ ว่าจะชำระหนี้ได้ตามกำหนดหรือไม่ หากไม่สามารถชำระได้ตามกำหนด ก็อาจจะทำให้กรีซหลุดออกจากกลุ่มยูโรโซนได้ และจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในกรีซลดลง 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!