- Details
- Category: ธปท.
- Published: Thursday, 18 June 2015 22:53
- Hits: 4174
ธปท.ชี้แจง 7 แนวทางกำกับผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล รวม Nano Finance
นายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าในวันนี้ ธปท. ได้เชิญผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ (P-loan) ที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังแล้วทั้งสิ้น 34 ราย ในจำนวนนี้ประกอบธุรกิจแล้ว 29 ราย และยังไม่เปิดดำเนินธุรกิจ 5 ราย โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. การเปิดดำเนินการ : สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาต และยังไม่ได้เปิดดำเนินการ จะต้องเปิดดำเนินธุรกิจภายใน 1 ปีนับแต่วันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอนุญาต และแจ้งการเริ่มประกอบธุรกิจให้ธปท. ทราบก่อนวันเปิดดำเนินการ
2. การจัดหาเงินทุน : ห้ามผู้ประกอบธุรกิจรับเงินฝากหรือจัดหาเงินทุนจากประชาชน เช่นเดียวกับข้อห้ามของผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (Nano Finance) เว้นแต่เป็นการออกหุ้นกู้ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
3. การให้สินเชื่อแก่ผู้ที่สนใจกู้เงิน: ผู้ประกอบธุรกิจสามารถให้สินเชื่อแก่บุคคลธรรมดาที่ไม่มีหลักประกันซึ่งไม่ได้ระบุวัตถุประสงค์ หรือมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการ และสามารถให้วงเงินสูงสุดแก่ผู้ขอกู้เงินแต่ละรายได้ไม่เกิน 5 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของผู้ขอกู้เงิน โดยผู้ประกอบธุรกิจควรจัดให้มีเอกสารหลักฐานเพื่อพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้และพิสูจน์รายได้ของผู้ขอกู้เงินได้อย่างชัดเจน โดยหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจะอยู่ในดุลพินิจของผู้ประกอบธุรกิจ
4. การจัดทำรายงานส่งทางการ : ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดทำรายงานยอดสินเชื่อคงค้างเป็นรายเดือนส่งให้ธปท. และกระทรวงการคลังทราบภายในวันที่ 21 ของเดือนถัดไป
5. การประชาสัมพันธ์และติดต่อลูกค้า : ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงสิทธิของผู้บริโภค ได้แก่ 1. สิทธิที่ลูกค้าจะได้รับข้อมูลครบถ้วน ถูกต้อง สามารถนำไปเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อใช้ในการตัดสินใจได้ 2. สิทธิที่ลูกค้าจะเลือกใช้บริการหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ผู้ประกอบธุรกิจเสนอให้ 3. สิทธิที่ลูกค้าจะสามารถร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้บริการจากผู้ประกอบธุรกิจ ตลอดจนผู้ประกอบธุรกิจควรมีกระบวนการจัดการข้องร้องเรียนได้อย่างเหมาะสม 4. สิทธิที่ลูกค้าจะได้รับการพิจารณาค่าชดเชยความเสียหาย หากพิสูจน์แล้วว่าผู้ประกอบธุรกิจจงใจหรือประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้ลูกค้าได้รับความเสียหาย
6. กระบวนการติดตามทวงถามหนี้ : ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีกระบวนการติดตามทวงถามหนี้ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2558
7. อื่น ๆ : ในอนาคต ธปท. มีแนวทางให้ผู้ประกอบธุรกิจยื่นขออนุญาตทำธุรกรรม หรือข้อหารืออื่น ๆ เพิ่มเติมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-application) เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการพิจารณาคำขอต่อไป
รายชื่อผู้ประกอบธุรกิจ P-loan ที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง
ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้เปิดดำเนินการแล้ว
1 บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
2 บริษัท บัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด
3 บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)
4 บริษัท เจเนอรัล คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด
5 บริษัท เทสโก้ คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด
6 บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด
7 บริษัท อีซี่ บาย จำกัด (มหาชน)
8 บริษัท แคปปิตอล โอเค จำกัด
9 บริษัท พรอมิส (ประเทศไทย) จำกัด
10 บริษัท ซิตี้คอร์ป ลิสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด
11 บริษัท สยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน)
12 บริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด
13 บริษัท วี แคช เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด
14 บริษัท เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน)
15 บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน)
16 บริษัท ไทยพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน)
17 บริษัท วัฒนาธนสินทรัพย์ จำกัด
18 บริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน)
19 บริษัท ศักดิ์สยามพาณิชย์ลิสซิ่ง จำกัด
20 บริษัท ไซเบอร์เนตติคส์ จำกัด
21 บริษัท สินมิตร จำกัด
22 บริษัท เมืองไทย ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน)
23 บริษัท กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง จำกัด
24 บริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัด
25 บริษัท เงินสดทันใจ จำกัด
26 บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน)
27 บริษัท รีโซลูชั่น เวย์ จำกัด
28 บริษัท ไทยเอซ แคปปิตอล จำกัด
29 บริษัท มีนาลิสซิ่ง จำกัด
ผู้ประกอบธุรกิจที่ยังไม่ได้เปิดดำเนินการ
30 บริษัท ซัมมิท แคปปิตอล ลีสซิ่ง จำกัด
31 บริษัท โดเมสติค แคปปิตอล จำกัด
32 บริษัท ล้านนาบางกอก จำกัด
33 บริษัท แมคคาเล กรุ๊พ จำกัด (มหาชน)
34 บริษัท ไอร่า แอนด์ ไอฟุล จำกัด (มหาชน)
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย