- Details
- Category: ธปท.
- Published: Friday, 20 June 2014 00:23
- Hits: 3666
ธปท.คาดแนวโน้มเงินบาทเดือนนี้แข็งค่า จากความเชื่อมั่นดีขึ้น-ยัน คสช.ไม่ได้ติดต่อเรื่องพิมพ์แบงก์ใหม่
ธปท.คาดแนวโน้มเงินบาทเดือนนี้แข็งค่า จากความเชื่อมั่นดีขึ้น-ยัน คสช.ไม่ได้ติดต่อเรื่องพิมพ์แบงก์ใหม่ พร้อม เผยจีดีพีปีนี้โตได้ 1.5% เพราะได้การบริโภค-ลงทุนเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อน เชื่อเศรษฐกิจไทยจะไม่ถดถอยทางเทคนิค มั่นใจไตรมาส 2 ไม่ติดลบเมื่อเทียบจากไตรมาสก่อนหน้า
ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในเดือนนี้ มาจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ภายหลังจากความมั่นใจว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นมา ประกอบกับปัจจัยนอกประเทศ กรณีธนาคารกลางยุโรป (ECB)และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)ที่ยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ ส่งผลให้มีเงินไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชีย
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เงินทุนจากต่างประเทศไหลออกสุทธิทั้งในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร แต่หากดูเฉพาะเดือนมิถุนายน ตลาดพันธบัตรค่อนข้างสมดุล แต่ตลาดหุ้นโดยสุทธิแล้วเงินทุนต่างชาติยังไหลเข้า
"เงินบาทเดือนมิถุนายนแข็งค่าเล็กน้อย เมื่อเทียบกับดอลลาร์ หลักๆ แล้วมาจากปัจจัยในประเทศจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ฟื้นตัว"ดร.รุ่ง กล่าว
นอกจากนี้ การที่ ธปท.ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีขยายตัวได้ 1.5% โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในฐานที่ต่ำลักษณะตัว V(V-Shape)อย่างไรก็ดี เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่ถดถอยทางเทคนิค โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไตรมาส 2จะขยายตัวดีกว่าไตรมาส 1 และไม่ติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาส 1
"มองว่า เศรษฐกิจไตรมาส 2 จะเติบโตใกล้เคียง 0 หรือติดลบเล็กน้อย เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่มีแนวโน้มดีกว่าไตรมาส 1โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการเบิกจ่ายภาครัฐ และมีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 และต่อเนื่องถึงงบประมาณปี 2558ที่เริ่มกลับมาเบิกจ่ายได้ตามปีปฏิทิน อีกทั้งยังมีการลงทุนภาคเอกชน และการบริโภค แต่จะไม่ฟื้นตัวแรงเหมือนกับในอดีต เพียงแต่เชื่อว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนต่อเศรษฐกิจได้"ดร.รุ่ง กล่าว
ขณะที่ภาคการส่งออก จะเกื้อหนุนต่อการฟื้นตัวอยู่ และในส่วนของการท่องเที่ยวก็ได้เริ่มฟื้นตัวกลับมา หลังจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองก่อนหน้านี้
ดร.รุ่ง ยังกล่าวต่อถึง กรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ต้องการให้ใช้ยาแรงในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น โดยการประกาศยกเลิกธนบัตรเดิม เพื่อบังคับให้ผู้ครอบครองธนบัตรนำเงินสดที่มีอยู่จำนวนมาก มาแลกเป็นธนบัตรชุดใหม่ ทำให้สถาบันสามารถตรวจสอบการครอบครองธนบัตรได้ง่ายขึ้น ว่าขณะนี้ ยังไม่ได้รับการติดต่อใดใดทั้งสิ้น
"ประเมินว่า หากมีการเปลี่ยนธนบัตรใหม่จะส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างแน่นอน โดยเฉพาะต้นทุนการพิมพ์ธนบัตรชุดใหม่ และการปรับตัวของประชาชน ส่วนผลกระทบในเชิงลึก ขณะนี้ยังไม่ได้ศึกษาในรายละเอียด"ดร.รุ่งกล่าว
ทั้งนี้ การเปลี่ยนชุดธนบัตรเพื่อทดแทนชุดเดิมนั้น ที่ผ่านมา ธปท.ดำเนินการอยู่แล้วในกรณีที่ธนบัตรชำรุด แต่หากในกรณีดังกล่าวคือยกชุดใหม่หมด ถ้ากรณีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศที่พบ คือ การพิมพ์ธนบัตรใหม่เพื่อทดแทนธนบัตรเดิมที่ด้อยค่า เสื่อมสภาพ พบว่ามีการปลอมแปลงง่ายจนกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศ มูลค่าธนบัตรที่มีการใช้หมุนเวียนนั้นมีมูลค่าเสื่อมลง
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย