- Details
- Category: ธปท.
- Published: Thursday, 04 June 2015 10:21
- Hits: 3012
ธปท.โฟกัสค่าบาท อ้ำอึ้ง‘ลด-ไม่ลด’ดอกเบี้ยอีกรอบ
แนวหน้า : นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. และ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เปิดเผยว่า กนง. ต้องการสื่อสารให้สาธารณะเข้าใจเกี่ยวกับบทบาท และนโยบายการเงินในปัจจุบันว่า กนง. ให้ความสนใจต่ออัตราแลกเปลี่ยน ไม่ได้ชอบให้เงินบาทแข็งค่า และพร้อมจะใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวส่งผ่านนโยบายการเงิน แต่เครื่องมือหลัก ยังคงให้น้ำหนักกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในการดูแลเสถียรภาพการเงิน โดยก็ยอมรับว่า ให้น้ำหนักกับอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มมากขึ้น เพราะการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสองครั้งล่าสุด ประกอบกับมาตรการผ่อนคลาย การไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ มีผลต่อค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงค่อนข้างเร็วและมาก ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้ส่งออก ทำให้มีรายรับในสกุลเงินบาทเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันด้านราคากับสินค้าส่งออกบางกลุ่ม
อย่างไรก็ตาม ค่าเงินไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะทำให้การส่งออกกลับมาขยายตัวดี ดังนั้น ผู้ส่งออกจะต้องศักยภาพการผลิตและพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังกล่าวด้วยว่า กนง. ไม่ได้ละเลยและติดตามดูความผันผวนของค่าเงินและเงินทุนเคลื่อนย้ายอยู่ตลอด ซึ่งพบว่า ยังไม่มีการเก็งกำไรค่าเงินบาทแต่การที่บาทอ่อนลงเร็ว ส่วนหนึ่งมาจากที่ตลาดคาดการณ์ไปในทิศทางที่ว่าเงินบาทจะอ่อนค่า ซึ่งเป็นผลกระทบเชิงจิตวิทยา แม้ว่ากระแสเงินทุนต่างชาติ จะไหลออกไม่มากก็ตาม
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยด่วน ทั้งการอัดฉีดเงินเข้าในระบบเศรษฐกิจโดยด่วน และอาจจำเป็นต้องใช้การลดดอกเบี้ยนโยบายเข้ามาช่วย ซึ่งมองว่าในเดือน มิ.ย. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการลดดอกเบี้ยนโยบาย ลงอีก 0.25% เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ ซึ่งหากเกิดขึ้นจะถือเป็นเรื่องดีทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ส่งผลดีต่อการส่งออก และหนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นได้อย่างรวดเร็ว
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในช่วงที่ผ่านมาช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลงบ้าง แต่เชื่อว่าการประชุม กนง.วันที่ 10 มิถุนายนนี้คงจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก เพราะ กนง.คงต้องการติดตามผลการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งที่ผ่านมาว่า ส่งผลอย่างไรบ้างแต่ถ้าหากจำเป็นกนง.และกนง.ต้องการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจก็ยังพอมีส่วนต่างพอที่จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีกเพราะปัจจุบันเงินเฟ้อติดลบ 0.9 % ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ที่ 2% ขณะที่การลงทุนของรัฐบาลเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งมากขึ้น และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจในช่วง 3 เดือนข้างหน้ามีทิศทางที่ดีขึ้นเช่นกัน