- Details
- Category: ธปท.
- Published: Saturday, 09 May 2015 22:13
- Hits: 2168
ธปท.ยันยังไม่เกิดเงินฝืดเงินบาทอ่อนเป็นผลดียอมรับเศรษฐกิจโตเชื่องช้า
บ้านเมือง : แบงก์ชาติ เผยค่าเงินบาทออ่อนเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทย แต่การฟื้นตัวอ่อนแรง ยินยัน ประเทศไทย ยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืดอย่างที่กังวล ขณะที่ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 10 เดือน เหตุผู้บริโภค ยังไม่เชื่อมั่น ไม่กล้าควักเงินเพื่อการบริโภค
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในขณะนี้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทย โดยเป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการเงินทุนเคลื่อนย้าย การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และตัวเลขสหรัฐที่ยังคงเข้มแข็งส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่า แต่ยังคงต้องติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทต่อไปว่าจะอ่อนค่ามากแค่ไหน เพราะยังมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศแต่ก็ยอมรับว่าการที่เงินบาทอ่อนค่าเป็นผลดีต่อการส่งออกและเศรษฐกิจ เพราะที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่ากว่าเงินสกุลอื่นๆ
ส่วนภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2558 การฟื้นตัวอ่อนแรงกว่าที่คาด โดยมีสาเหตุหลักมาจากการส่งออกที่ชะลอตัวมากกว่าที่คาด ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับหลายประเทศ เพราะแม้เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวแต่การบริโภคและการค้าขายในประเทศยังไม่ฟื้นทำให้มีการนำเข้าของสหรัฐลดลง ซึ่งการส่งออกของไทยที่ลดลงทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกได้รับผลกระทบไปด้วย การบริโภคในประเทศจึงชะลอตัวตาม ซึ่งแม้ว่าการเบิกจ่ายภาครัฐและการท่องเที่ยวจะขยายตัวได้ดี แต่ยังไม่สามารถชดเชยการส่งออกที่ชะลอตัวได้ จึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ต้องลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกร้อยละ 0.25 ในการประชุมครั้งล่าสุด เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
สำหรับ อัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายนติดลบร้อยละ 1.4 เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยชั่วคราวที่ยังไม่น่ากังวล เพราะเชื่อว่าราคาน้ำมันมีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และมาจากการคาดการณ์ที่มองว่าแนวโน้มเงินเฟ้อจะลดลง ซึ่งทำให้การบริโภคชะลอตัวตาม อย่างไรก็ตามแม้เงินเฟ้อจะติดลบ 4 เดือนต่อเนื่อง แต่ยืนยันว่าประเทศยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เนื่องจากอัตราการว่างงานของไทยยังต่ำ กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไม่ได้แผ่วลงมาก และอุปโภคบริโภคก็ยังไม่ติดลบ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย.58 อยู่ที่ 76.6 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 66.0 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 71.2 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 92.7
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 10 เดือน โดยมีปัจจัยลบมาจากการที่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 58 เหลือ 3.7% จากเดิมคาด 3.9% รวมทั้งปรับลดการส่งออกเหลือโต 0.2% จากเดิมคาดโต 1.4% นอกจากนี้การส่งออกของไทยในเดือน มี.ค.ยังติดลบ 4.45% ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรที่ยังอยู่ในระดับต่ำ, ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น, เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย, ผู้บริโภคยังกังวลปัญหาค่าครองชีพ ราคาสินค้าและความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต ขณะที่ปัจจัยบวกมีเพียงคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาเหลือ 1.5% จะเป็นการช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศให้เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการบริโภคจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับการเร่งเบิกจ่ายเงินลงทุนของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ในช่วงที่การส่งออกยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวน ทั้งนี้เชื่อว่าการบริโภคน่าจะเริ่มฟื้นตัวได้เด่นชัดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง สิ่งที่จะต้องจับตาในช่วงต่อไปนี้ คือ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และอัตราเงินเฟ้อในช่วงเดือน พ.ค.และ มิ.ย. ซึ่งหากสัญญาณเงินเฟ้อยังมีการติดลบมากขึ้นในเดือน พ.ค.และ มิ.ย. เห็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้ง เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และพยุงให้ค่าเงินบาทอยู่ในระดับ 33 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งจะช่วยหนุนการส่งออกของไทยและส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว อันจะช่วยให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเริ่มกลับมาฟื้นขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ดี ยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ไว้ที่ระดับ 3.2% แต่สิ่งที่ยังสุ่มเสี่ยงคือ การส่งออกที่ยังมีโอกาสติดลบได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้การที่เศรษฐกิจไทยจะโตได้ในระดับ 3% ก็เริ่มจะมีน้อยลง และอาจจะเหลือโตแค่ 2.8-2.9%
ผู้ว่าฯธปท.เผยบาทอ่อนค่าจากหลายปัจจัย ย้ำยังไม่มีมาตรการเพิ่ม
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามาจากหลายปัจจัย ทั้งในและต่างประเทศ จากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยนโยบายลง จากมาตรการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้าย ประกอบกับเป็นช่วงวันหยุดยาวที่ส่งผลให้มีการปิดความเสี่ยงค่าเงิน และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐมีทิศทางดีขึ้น ซึ่งยังต้องติดตามดูต่อไป แต่เชื่อว่าเงินบาทที่อ่อนค่าจะช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และยังไม่มีมาตรการเพิ่มเติม
“ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาเป็นไปตามความเหมาะสมของมาตราการที่ออกมา ซึ่งส่งผลต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ค่อนข้างดี จากนี้ก็ยังต้องติดตามปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ว่าจะส่งต่ออัตราแลกเปลี่ยนอย่างไร"นายประสาร กล่าว
นายประสาร กล่าวว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/58 ชะลอตัวลงกว่าที่คาด เป็นผลมาจากภาคการส่งออกที่ลดลง ซึ่งเป็นทุกประเทศทั่วโลก สะท้อนได้จากปริมาณการค้าระหว่างประเทศลดลง ขณะที่ประเทศต่างๆ เน้นการบริโภคในประเทศทดแทนการนำเข้ามากขึ้น และภาคการส่งออกที่ชะลอตัวของไทยก็ส่งผลต่อการบริโภคในประเทศให้ชะลอลงตามไปด้วย แม้ว่าช่วงไตรมาสแรกภาคการท่องเที่ยว และการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐยังขยายตัวได้ดี แต่ก็ไม่สามารถชดเชยได้ จึงเป็นเหตุให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว
ขณะเดียวกัน ภาคการส่งออกของไทยจะไม่กลับไปขยายตัวได้เหมือนเดิม และต้องเผชิญความท้าทายอีกมาก มาจากปัจจัยภายนอกที่ประเทศต่างๆ เน้น Supply Chain ในประเทศมากขึ้น และปัจจัยในประเทศ ที่ราคาสินค้าภาคการเกษตรปรับตัวลดลง แต่จะนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับการปรับตัว
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า มาตรการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศของ ธปท.จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงได้อีก เพราะจะสร้างสมดุลให้กับตลาดการเงินมากขึ้น
"การที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจะส่งผลดีกับภาคการส่งออกของไทย แต่จะดีขึ้นมากแค่ไหนต้องดูเรื่องเศรษฐกิจประกอบด้วย...รัฐบาลหวังพึ่งเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนจะช่วยทำให้เศรษฐกิจของไทยดีขึ้นมากกว่าพึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลง ซึ่งเมื่อมีการเซ็นอนุมัติมาตรการที่ ธปท. ออกมาทั้งหมด เชื่อว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงได้มากกว่าที่เป็นปัจจุบัน" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
อินโฟเควสท์