- Details
- Category: ธปท.
- Published: Saturday, 02 May 2015 09:27
- Hits: 2862
ธปท.หวังมาตรการผ่อนคลายทุนเคลื่อนย้ายเพิ่มความยืดหยุ่นเงินบาท-ยันไม่ใช้ Capital Control
นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวถึงการประกาศมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมภายใต้แผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศว่า ธปท.เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยในการเพิ่มความยืดหยุ่นของอัตราแลกเปลี่ยนให้สามารถปรับตัวไปได้ตามจังหวะของผู้เล่น และความต้องการของภาคธุรกิจ ส่วนการจะทำให้เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้ที่ทำธุรกรรม และปริมาณธุรกรรมในขณะนั้น ซึ่งหากเป็นช่วงที่ตลาดบาง ก็อาจจะมีผลให้เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงได้บ้าง
นอกจากนี้ ในส่วนของการผ่อนคลายให้ผู้ประกอบการในต่างประเทศที่ไม่ใช่สถาบันการเงินสามารถกู้ยืมเงินบาทได้โดยตรงเพื่อลงทุนในประเทศไทย ซึ่งจากเดิมจะไม่อนุญาตให้มีการกู้ยืมเป็นเงินบาทได้นั้น จะทำให้นักลงทุนต่างประเทศที่มีความสนใจจะลงทุนในประเทศไทยอยู่แล้วมีการตัดสินใจและบริหารการลงทุนง่ายขึ้นที่จะเข้ามาลงทุนในไทย อันจะถือเป็นการช่วยอำนวยความสะดวกให้สามารถหาแหล่งทุนในประเทศได้ง่ายขึ้น แทนที่จากเดิมนักลงทุนต่างประเทศจะต้องนำเงินจากสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทย
อย่างไรก็ตาม ธปท.ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องออกมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้าออกจากต่างประเทศ(Capital Control) เนื่องจากมาตรการที่มีอยู่ยังสามารถดูแลอัตราแลกเปลี่ยนได้ดี
นางจันทวรรณ ชี้แจงว่า มาตรการผ่อนคลายฯ ที่จะมีผลภายในปี 58 ได้แก่ การฝากเงินตราต่างประเทศกับสถาบันการเงินในประเทศ ขยายวงเงินให้บุคคลในประเทศซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อฝากกับสถาบันการเงินในประเทศได้โดยเสรี ซึ่งเพิ่มยอดคงค้างเขึ้นเป็นไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์ จากเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 5 แสนดอลลาร์ เพื่อเป็นทางเลือกในการถือครองสินทรัพย์สกุลเงินตราต่างประเทศ และกระจายความเสี่ยงในการลงทุน
การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ ขยายวงเงินโอนออกไปต่างประเทศเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ตกแต่ง เพิ่มเป็นไม่เกินปีละ 50 ล้านดอลลาร์ จากเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 10 ล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศเพื่ออยู่อาศัย รวมทั้งเพื่อการลงทุน
การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ มีการเพิ่มช่องทางการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่ให้บุคคลในประเทศลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านธนาคารพาณิชย์ได้ จากเดิมที่กำหนดให้ต้องลงทุนผ่านตัวกลาง ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ หรือกองทุนส่วนบุคคล เพื่อให้คนไทยที่เป็นลูกค้าของธนาคารพาณิชย์มีทางเลือกในการลงทุนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางการเงินในประเทศ เช่น ให้ผู้ลงทุนรายย่อยลงทุนใน Structured product สกุลบาทอ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนที่เกี่ยวกับบาทที่เสนอขายในประเทศ จากเดิมที่ให้ลงทุนได้ภายในขอบเขตที่จำกัดนั้น จะทำให้สถาบันการเงินในไทยออกและเสนอขายผลิตภัฑณ์ทางการเงินได้หลากหลายมากขึ้น ช่วยให้ผู้ลงทุนคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อนและมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
และการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจของศูนย์บริหารเงิน เช่น การผ่อนคลายเกณฑ์การฝากเงินตราต่างประเทศ โดยให้ศูนย์บริหารเงินเปิดบัญชีเงินฝากสกุลต่างประเทศ โดยให้สามารถนำเงินตราต่างประเทศจากแหล่งต่างประเทศ และที่ซื้อจากธนาคารพาณิชย์ฝากเข้าบัญชีได้นั้น จะเป็นการเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารเงินตราต่างประเทศแบบ cash pooling นอกจากนี้การอนุญาตให้ศูนย์บริหารเงินสามารถกู้เงินบาทจากบริษัทในเครือต่างประเทศได้จะเพิ่มความสามารถในการบริหารเงินบาทให้แก่บริษัทในเครือในต่างประเทศได้คล่องตัวมากขึ้น
ส่วนมาตรการที่จะมีผลในปี 59 ได้แก่ การประกอบธุรกิจซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยน(FX)ของโบรกเกอร์ในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า(TFEX) และบริษัทหลักทรัพย์ จากการอนุญาตให้โบรกเกอร์ใน TFEX รายใหม่เป็นนายหน้าซื้อขาย USD futures ใน TFEX ได้ และอนุญาตให้ บล.ซื้อขาย FX กับลูกค้า จากเดิมที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ซื้อขาย FX กับลูกค้าแต่ต้องติดต่อผ่านธนาคารพาณิชย์นั้น จะช่วยเพิ่มผู้ให้บริการและให้ลูกค้ามีทางเลือกในการใช้บริการได้มากขึ้น รวมทั้งทำให้ บล.สามารถให้บริการด้าชำระราคาหลักทรัพย์แก่ลูกค้าไทยและต่างชาติได้คล่องตัวมากขึ้น
ขณะที่การผ่อนคลายคุณสมบัติและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจของตัวแทนโอนเงินระหว่างประเทศและบุคคลรับอนุญาต ขะมีผลในช่วงปี 58-59 โดยผ่อนคลายประเภทธุรกิจเพื่อให้สามารถยื่นขออนุญาตทำ Money transfer agent ได้เพิ่มขึ้นจะทำให้ช่วยเพิ่มผู้ให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศ และให้ลูกค้ามีทางเลือกในการโอนเงินเพิ่มขึ้น
อินโฟเควสท์