WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

เปิดมุมมอง 'ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ' ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

รายงานพิเศษ โดย พรเทพ อินพรหม http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=1428835376

      สบโอกาสดี ล้อมวงคุยกับ 'นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล' ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หัวเรือใหญ่ผู้กุมบังเหียนนโยบายการเงินของประเทศ พร้อมเปิดใจถึงภาพรวมเศรษฐกิจ ก่อนอำลาตำแหน่งผู้ว่าฯธปท.ที่จะครบวาระในเดือนก.ย.นี้

ทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย

      การตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ลดดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นจาก 2.00% มาอยู่ที่ 1.75% ที่ผ่านมา ในที่ประชุมคณะกรรมการ ก็มีความเห็นทั้งสองด้าน บางท่านก็บอกว่ายังไม่น่าลด ซึ่งหากดูรายงานของ กนง.ที่ออกมา ทุกคนยอมรับว่าการฟื้นตัวเศรษฐกิจยังอ่อนกว่าที่คาด แต่ก็ยังมีการถกเถียงกันว่าการลดดอกเบี้ยจะช่วยเศรษฐกิจได้หรือไม่ โดยเฉพาะด้านความเชื่อมั่นคนบริโภค ความเชื่อมั่นด้านการลงทุนต่างๆ ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ดอกเบี้ยไม่ใช่อุปสรรค แต่อุปสรรคคือ การแข่งขันสูงไม่ใช่เกิดจากต้นทุน

    "ขณะนี้ดอกเบี้ยเราถือว่า อ่อนสุดแล้ว เวลานี้มีแต่ไทยกับเกาหลีใต้ที่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.75% แต่ค่าเงินบาทก็ไม่อ่อนค่า โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับมาเลเซีย ดอกเบี้ยอยู่ที่ 3.25% มากกว่าของไทยที่ 1.75% แต่ค่าเงินริงกิตกลับอ่อนค่า ส่วนค่าเงินบาทแข็งค่า ซึ่งมาเลเซียการเติบโตเศรษฐกิจค่อนข้างสูง ส่งออกก็ถือว่าค่อนข้างดี ดอกเบี้ยนโยบายก็อยู่ในระดับสูง"

     อย่างไรก็ตาม แนวโน้มคาดการณ์ดอกเบี้ย คงบอกไม่ได้ว่าจะลดลงต่อเนื่องหรือไม่ เป็นการแสดงความเห็นพื้นฐาน ไม่ได้ชี้นำการตัดสินใจของ กนง.ในระยะข้างหน้า เพราะผู้ว่าฯพูดคนเดียวก็อาจจะไม่เป็นไปตามนั้น เนื่องจากกรรมการอิสระมาก ข่าวที่บอกว่าเสียงคนใน ธปท.โหวตให้คงดอกเบี้ย คนนอกให้ลดดอกเบี้ย ก็ไม่เป็นเรื่องจริง ขนาดรองผู้ว่าฯยังโหวตไม่เหมือนผู้ว่าฯเลย ความจริงเป็นแบบนี้ ต่างคนต่างมีเหตุผล

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในขณะนี้

     หากด้านเสถียรภาพขณะนี้ ถือว่ายังดี เช่น ดุลชำระเงินระหว่างประเทศ อัตราเงินเฟ้อภายในประเทศ อัตราการว่างงาน ระบบธนาคารพาณิชย์ ระบบสถาบันการเงิน โชคดีที่ไม่ได้มีปัญหามากในด้านมิติเสถียรภาพ ซึ่งสะท้อนมาทางเครดิตประเทศที่ยังไม่มีต่างชาติเป็นห่วงหรือตั้งคำถาม ส่วนอัตราแลกเปลี่ยน ก็ถือว่าทรงตัวๆ อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นระยะยาวก็มีเสถียรภาพ

     ทั้งนี้ มองว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับความท้าทาย 3 ด้าน คือ 1.ด้านต่างประเทศ มาจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง 2.ความสามารถทางการแข่งขันที่ต้องแข่งขันกันมากขึ้น และ 3.ด้านความเชื่อมั่น ทั้ง 3 ด้านนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องดูแล แต่ขณะที่ด้านมิติเสถียรภาพยังไม่มีความอ่อนแอ ส่วนเศรษฐกิจชะลอตัวก็เป็นกันทั่วโลก ซึ่งถ้าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้เติบโตได้ที่ประมาณ 3% การว่างงานไม่เกิน 1% ก็ถือว่าไม่เป็นปัญหาอะไร

    อย่างไรก็ตาม ภาวะตลาดการเงินโลกยังวางใจไม่ได้ เพราะการฟื้นตัวเศรษฐกิจแต่ละประเทศยังไม่สม่ำเสมอกัน ค่อนไปทางคนละทิศ อเมริกาค่อนไปทางฟื้นตัว สิ่งที่ตามมาคือคนก็พูดกันว่าเมื่อไหร่จะขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะกระทบต่อสภาพคล่องตลาดการเงินโลก ขณะที่ยุโรปและญี่ปุ่นก็ปั๊มเงินอยู่ ส่วนเศรษฐกิจในประเทศเกิดใหม่ หลายส่วนในภูมิภาคก็ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของจีน ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจไปคนละทิศ ก็จะเห็นเงินที่ไหลเข้าไหลออก ไม่นิ่งตามปกติ

มองการส่งออกในระดับต่ำอย่างไร

    จากตัวเลขการส่งออกในปีก่อนหน้าที่ไม่ขยายตัว จนล่าสุดเดือนก.พ.2558 ติดลบ -6.1% ไม่ได้สะท้อนถึง การเปลี่ยนการเติบโตพื้นฐาน (New Normal) ที่เฉลี่ย 1% ไม่ใช่ความพอใจที่จะเติบโตได้เท่านั้น แต่คิดว่าขณะนี้เป็น เพอร์เฟ็กต์ สตอร์ม (Perfect Storm) แปลว่า พายุลูกใหญ่ มีปัจจัยเสี่ยงและมันถาโถมเข้ามาพร้อมกันสามอย่าง

    1.ราคาพืชผลตกต่ำ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพารา 2.คู่ค้าคู่แข่งกำลังซื้อตก เช่น ประเทศจีน ยุโรป ญี่ปุ่น รวมถึงการตัดสิทธิจีเอสพี และ 3.คือเทคโนโลยีกับคุณภาพสินค้าของไทยในระยะหลัง เรียกว่าไม่เป็นไปตามกระแส (Out Of Trends) เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่ปรับเปลี่ยนไปใช้เป็น แท็บเล็ต สมาร์ตโฟน

    "จะถามว่าเป็น New Normal หรือไม่ เราไม่ยอมรับ เพราะตอนนี้สถานการณ์มันไม่ปกติ เราไม่คิดว่าราคาเกษตรจะแบบนี้ตลอดไป คู่ค้าของเราสักวันหนึ่งก็น่าจะฟื้น อันถัดไปเราก็น่าจะมองหาช่องทางที่เป็นตัวเก่งของเรา เราเคยมีอย่างรถยนต์เป็นตัวเก่ง แต่ก็ต้องระวัง เพราะญี่ปุ่นไปตั้งฐานที่อินโดนีเซีย อนาคตเราอาจเสียตลาดให้คนอื่น เราต้องหาตัวเก่งตัวอื่นด้วย และเรื่องความต่อเนื่องของรัฐบาล เสถียรภาพการเมืองเป็นตัวที่ระยะยาวต้องคิด เป็นข้อเตือนใจสำหรับพวกเรา ภาพรวมจึงน่าจะไปได้ ผมว่ามันน่าจะค่อยๆ กระเตื้องขึ้นนะ เป็นแนวค่อยๆ ฟื้นตัว"

โอกาสเข้าสู่ภาวะเงินฝืด

   เงินฝืดเป็นอาการของกิจกรรมทางเศรษฐกิจค่อนข้างหยุดชะงัก คนก็รู้สึกว่าขายของไม่ได้ คนไม่อยากบริโภค เพราะรู้ว่าถ้าเราไม่กินวันนี้ผ่านไปอีกสักหน่อยราคาจะลง ซื้อได้ถูกกว่า ลักษณะแบบนี้ไม่ดี ทำให้กิจกรรมต่างๆ หยุดลง แล้วก็มีผลทำให้เกิดการว่างงาน แต่ปรากฏการณ์แบบนี้ไม่ใช่ในเมืองไทย ถามว่าธุรกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักไปเลยหรือเปล่า ไม่เป็นอย่างนั้น เพียงแต่ตอนนี้มีปัญหาค้าขายไม่ดีบ้าง ของที่เคยขายได้เยอะอาจขายได้น้อย แต่ลักษณะที่แบบว่าหยุดชะงัก เกิดภาวการณ์ว่างงานยังไม่เป็นแบบนั้น

     แต่ถามว่าจะเกิดขึ้นได้ไหม เป็นคำถามต่างหากนะ เวลานี้ในต่างประเทศบางประเทศก็รุนแรงกว่าเรา อย่างกรีซ แย่เลยหยุดเลย ดีไม่ดีจะชำระเงินไม่ได้ ยุโรปบางประเทศก็มีอาการแบบนั้น แต่ไม่ใช่อาการประเทศไทย แน่นอนว่าคนจะพูดว่าถ้าโลกไม่ดี มันก็จะลามมากระทบประเทศไทยได้ไหม จะไปรับประกันว่าไม่กระทบก็คงไม่ได้ ถ้าตั้งคำถามใหม่นะ แต่อาการที่ไทยเป็นอยู่เวลานี้ คือเงินเฟ้อต่ำ ไม่ใช่ไม่ใช่ดีเฟรชั่น ที่เศรษฐกิจแฟ่บ ธุรกรรมก็แฟ่บ เกิดอาการว่างงานสูง

     "ผมชอบดูฟุตบอล ก็ตอนนี้สถานะเศรษฐกิจบ้านเราสกอร์คือ 0:0 คือเราทำประตูเขาไม่ค่อยได้ แต่เราไม่เสียประตู ไอ้ที่ว่าเสถียรภาพคือเราไม่เสียประตู ไม่เหมือนอย่างกรีซ เป็นแพ้ 0:15 คือตีประตูเขาไม่ได้และถูกคนอื่นยิง 15 ประตู ถ้ากองกลางคือรัฐบาลถ้าเห็นภาพทั้งหมดแล้วจ่ายลูก แนวรุกคือเอกชน ซึ่งกองหน้ามันไปเจอกับทีมอะไรก็ไม่รู้ และทีมนั้นก็เก่งขึ้นเรื่อยๆ ก็ยิงประตูเขาไม่ได้ ปรับตัวเปลี่ยนผู้เล่นไม่ทัน และไปเจอะภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก กองกลางหรือภาครัฐไม่สงบ บ้านเมืองไม่สงบ รัฐบาลไม่ต่อเนื่อง ทำให้เราอ่อนแอ พวกนี้กำลังแก้กันอยู่"

แผนงานก่อนอำลาเก้าอี้

     ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้คือระบบสถาบันการเงินระยะที่ 3 ที่ใช้ในช่วง 5 ปี โดยเริ่มปี 2558 ที่คาดว่าจะเริ่มประกาศได้ในช่วงกลางปี ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ผู้ทรงคุณวุฒิมาวิพากษ์วิจารณ์ หลักๆ ของแผนจะพูดถึงการปรับปรุงให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าถึงบริการทางการเงินสะดวก ขึ้น การผลักดันดิจิตอล แบงกิ้ง และแผนการพัฒนากำลังคน

     นอกจากนี้ จะพยายามดูแลภาพรวมเศรษฐกิจให้เกิดความสมดุลที่ดี เช่น 1.การดูแลระดับหนี้สาธารณะ หนี้สินภาคเอกชน และหนี้ครัวเรือน สร้างความเข้มแข็งให้ระบบสถาบันการเงิน และดูแลอัตราเงินเฟ้อให้เหมาะสม 2.มีกรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่ยืดหยุ่น ดึงปัจจัยต่างๆ มาพิจารณาให้รอบด้าน เช่น การส่งออก การขยายตัวเศรษฐกิจ 3.มีชุดเครื่องมือที่พร้อมจะควบคุมดูแลการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ และการใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่น และ 4.การสื่อสารทำความเข้าใจกับตลาดการเงิน สามัญชน มีการอธิบายอย่างต่อเนื่องโดยก่อนหมดตำแหน่งจะเตรียมไว้ 4 ด้าน ผู้ที่มารับตำแหน่งต่อก็จะสามารถใช้ประโยชน์ได้ รวมถึงการติดตามดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอมอบหมายจาก รมว.คลัง

    นี่คือ ทัศนะจากผู้ ว่าการ ธปท.เปิดปมเศรษฐกิจปีนี้ ไม่ได้สวยหรูแต่ดูมีความหวัง ตลอดจนหลุมพรางที่ภาคเอกชนประชาชนยังคงต้องจับตาระมัดระวัง

กระจกไร้เงา: เศรษฐกิจไทยพ้นเหว ส่งสัญญาณเริ่มฟื้น

                ไทยโพสต์ : ครองขวัญ รอดหมวน

    ภาพเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ขยายตัวได้ในระดับที่ติดลบถึง 3.7% ขณะที่เดือน ก.พ.2558 ก็ยังติดลบต่อเนื่องที่ 6.1% ซึ่งจากสัญญาณดังกล่าวทำให้มีการประเมินว่าตัวเลขการส่งออกในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา คงจะขยายตัวในระดับที่ติดลบเช่นเดียวกัน และจากแนวโน้มดังกล่าวทำให้คาดว่าในไตรมาส 1 ปี 2558 ภาพรวมการส่งออกจะขยายตัวติดลบที่ประมาณ 4% ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดหลังจากเกิดวิกฤติเมื่อปี 2540 ซึ่งทำให้การส่งออกลดลงอย่างมาก ผู้ประกอบการเก็บสินค้าคงคลังน้อยลง และเป็นผลกระทบกับผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับการขายวัตถุดิบที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลาง

   'ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล' รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า แม้ เศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะภาคการส่งออกจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหาเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประ เทศคู่ค้า แต่ไทยยังโชคดีที่มีตัวช่วยจาก "การบริโภคในประเทศ" เข้ามาทดแทน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จากการบริโภคในประเทศในไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัวถึง 9.75% ซึ่งสามารถเข้ามาชดเชยแรงขับเคลื่อนจากภาคการส่งออกได้ในระดับหนึ่ง ส่วนการเบิกจ่ายของภาครัฐก็มีแนวโน้มดีขึ้นเช่นกัน โดยในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2558 (ต.ค.57-มี.ค.58) สามารถเบิกจ่ายภาพรวมได้ที่ 51% เป็นผลมาจากการเร่งรัดเบิกจ่ายของภาครัฐอย่างใกล้ชิด

    "ภาพรวมเศรษฐกิจไทยตอนนี้แม้ว่าการส่งออกจะลดลงมาก แต่จะไม่ลดลงไปมากกว่านี้อีกแล้ว โดยการบริโภคในประเทศและการเบิกจ่ายกลับมาดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยเสริมในส่วนนี้จะไม่ทำให้เศรษฐกิจไทยต่ำเตี้ยไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

   ซึ่งภาพรวมต่างๆ สอดคล้องกับความเห็นของต่างชาติ อาทิ "บริษัท Japan Credit Rating Agency (JCR) ที่ล่าสุดมีการปรับสถานะมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยจากลบ (Negative Outlook) เป็น "มีเสถียรภาพ" (Stable Outlook) โดยให้เหตุผลว่า พัฒนาการทางเศรษฐกิจของไทยเริ่มมีแรงสนับสนุนจากการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงเสถียรภาพของระบบธนาคาร ส่วนการรักษาสถานะภาคการคลังให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง เป็นปัจจัยหนุนสำคัญ

   นอกจากนี้ยังเห็นว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น และเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับภาคเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือ

   ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องจับตาใกล้ชิด ได้แก่ ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยที่อยู่ระดับสูงเกินกว่า 80% ของจีดีพี อาจกลายเป็นอุปสรรคของการฟื้นตัวในการบริโภคภาคเอกชน และภาคการส่งออกที่ยังฟื้นตัวได้ไม่ดีนักจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศจีนและยุโรปที่ไม่เอื้ออำนวย โดยคาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ แต่เป็นไปอย่างจำกัดและมีความเสี่ยงของการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากการปรับเพิ่มดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในอนาคตอีกด้วย

   ขณะที่'กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)' ออกมาประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่า "มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง" และจะกลับมาขยายตัวได้ที่ "3.7%" ตามการฟื้นตัวของการบริโภคที่ได้รับอานิสงส์จากราคาพลังงานที่ปรับลดลง และการลงทุนของภาคเอกชนที่จะเพิ่มขึ้นหลังจากที่ทางการอนุมัติโครงการลงทุนต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา

   โดยนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนจะเป็นตัวช่วยในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่วนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนอาจยังมีข้อจำกัดจากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ และอุปสงส์จากต่างประเทศที่ยังชะลอตัวและความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่วนการบริโภคภาคเอกชนอาจยังมีข้อจำกัดจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง จนเป็นผลให้สถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น อีกทั้งการลงทุนภาครัฐทำได้ล่าช้ากว่าที่คาดการณ์

   นอกจากนี้ ประเมินว่า ระยะต่อไปเศรษฐกิจไทยอาจจะขยายตัวได้ต่ำกว่าคาดการณ์ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศ ได้แก่ ความล่าช้าของนโยบายภาครัฐ อุปสงส์ของภาคเอกชนที่อ่อนแอกว่าคาด และความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่วนปัจจัยเสี่ยงจากนอกประเทศ ได้แก่ ความผันผวนของตลาดการเงินโลก และการชะลอลงของเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วและประเทศตลาดเกิดใหม่ ขณะที่ปัจจัยบวกยังมาจาก "การบริโภคภายในประเทศและการส่งออก" ที่อาจได้รับผลดีมากกว่าที่คาดไว้จากราคาน้ำมันโลกที่ลดลง

   ขณะที่'ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)'เองยังคงเชื่อมั่นว่าตัวเลขการส่งออกและตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2558 ยังมีความหวังที่จะขยายตัวได้ตามที่คาดการณ์ หรืออย่างน้อยจีดีพีปีนี้ก็มีโอกาสขยายตัวได้ 2.5% หากจีดีพีทุกไตรมาสไม่ขยายตัวเลย เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจปีก่อนๆ โตค่อนข้างต่ำ แต่อย่างไรภาวะเศรษฐกิจไทยก็ยังไม่เสี่ยงจนถึงขั้นภาวะเงินฝืด โดยปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ยังมาจากการลงทุนและการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ซึ่งปีนี้คาดว่าการลง ทุนของภาครัฐจะขยายตัวได้ที่ 8% โดยหลังจากนี้เป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูต่อว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะใช้ประโยชน์จากปัจจัยหนุนที่มีช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้แค่ไหน.

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!