- Details
- Category: ธปท.
- Published: Sunday, 05 April 2015 09:40
- Hits: 2171
ผู้ว่าธปท.มอง ศก.ไทยปีนี้ฟื้นตัวช้า ลั่นไทยยังไม่อยู่ในภาวะเงินฝืด เชื่อครึ่งปีหลังกลับมาเป็นบวกได้ส่วน มาตรา 44 ชี้ กระทบแค่บางประเทศ
ผู้ว่าธปท. มอง ศก.ไทยปีนี้ฟื้นตัวช้า หวังการบริโภคเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อน ลั่นยันไทยยังไม่อยู่ในภาวะเงินฝืด แม้เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง 3 เดือน เชื่อครึ่งปีหลังกลับมาเป็นบวกได้ พร้อมระบุ มีมาตรการพร้อมรับมือ การเงินโลกที่ยังผันผวน แนะรัฐเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ สร้างความเชื่อมั่นต่อ นลท. ส่วนมาตรา 44 ชี้กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนบางประเทศ จี้ รัฐเร่งชี้แจงทำความเข้าใจ
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยในงานสัมมนา SCB Investment Symposium 2015 “The World Ahead” ในหัวข้อ ระบบการเงินไทยภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลก ว่า ในปีนี้ มองว่าเศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวช้าๆ แต่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง การว่างงานและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ภาระการคลังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมั่นคงเมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศ
“ในช่วงเวลานี้เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้มแข็ง โดยเฉพาะการใช้จ่ายภาคเอกชนที่แบงก์ชาติหวังให้เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ ภาคครัวเรือนยังระมัดระวังในการใช้จ่ายจากความเชื่อมั่นต่อรายได้ในอนาคตที่ลดลง ตามราคาสินค้าเกษตรและเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า รวมทั้งหนี้สะสมที่อยู่ในระดับสูง”นายประสาร กล่าว
นายประสาร กล่าวถึง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบติดต่อกัน 3 เดือนติดต่อนั้น ยืนยันว่าจะไม่เป็นภาวะเงินฝืด เนื่องจากเงินเฟ้อที่ติดลบเกิดจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมองว่าเป็นปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น ไม่นานเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวก โดยจะเริ่มเห็นเงินเฟ้อเป็นบวกในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่ปีหน้ามองว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ระดับ 2.5% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานยังประเมินไว้ที่ 1.2%
“การจะเกิดเงินฝืดโดยทางเทคนิค คือ การไม่มีธุรกรรมทางการเงินเลย คนว่างงาน แต่ตอนนี้ยังไม่เป็นเช่นนั้น”นายประสาร กล่าว
ทั้งนี้ ธปท.มองว่าในปีนี้ไทยยังคงมีความเสี่ยงจากความผันผวนในตลาดการเงิน ดังนั้นจะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ธปท.จะใช้อัตราดอกเบี้ยในการเป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินนโยบายและส่งสัญญาณ แต่ก็พร้อมที่จะดูแลอัตราแลกเปลี่ยนด้วย หากเห็นว่าอัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจ
นายประสารได้แนะภาครัฐว่า ควรเร่งเบิกจ่ายงบประมาณโดยเฉพาะงบลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เพราะจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การฟื้นตัวของความเชื่อมั่นและเศรษฐกิจเข้มแข็งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้เห็นความพยายามของทางการที่จะเบิกจ่ายงบประมาณแม้จะเผชิญข้อจำกัดที่สะสมมานาน รวมทั้งเร่งดำเนินการลงทุนโครงสร้างบริหารจัดการน้ำและระบบขนส่งทางถนน เป็นต้น
“แนวนโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจนและการดำเนินนโยบายที่มีความต่อเนื่อง จะช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้ธุรกิจบางส่วนที่ยังลังเลที่จะลงทุนเริ่มตัดสินใจลงทุนได้ง่ายขึ้น”นายประสาร กล่าว
ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนจะต้องเตรียมความพร้อม เช่น การไม่สะสมความเปราะบางของฐานะทางการเงินในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยทั้งในและนอกประเทศอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะทำให้รับมือได้ยากหากต้นทุนการกู้ยืมในตลาดการเงินสูงขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ผู้ประกอบการจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงิน โดยเฉพาะการป้องกันความเสี่ยงตลอดจนการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสม
สำหรับ การที่รัฐบาลประกาศใช้มาตรา 44 ในการบริหารประเทศแทนกฎอัยการศึก นั้น คงส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนบางประเทศบ้าง เนื่องจากมาตรา 44 อำนาจจะผูกขาดอำนาจกับตัวบุคคล ซึ่งบางประเทศอาจไม่คุ้นเคยกับการบริหารประเทศแบบนี้ เพราะไม่มีการคานอำนาจในส่วนของสถาบัน
“เราต้องอธิบายให้ต่างชาติเข้าใจว่า การใช้มาตรา 44 นั้น เป็นกรณีพิเศษ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งประเทศเรากำลังพยายามที่จะดำเนินการเพื่อให้เข้าสู่ระบบ คือ มีรัฐธรรมนูญนำไปสู่การเลือกตั้ง แต่ทั้งนี้ก็ต้องอธิบายในส่วนของกรอบเวลาให้ชัดเจนด้วยว่าขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านประเทศเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง”นายประสาร กล่าวว่า
นายประสาร กล่าวว่า การประกาศใช้มาตรา 44 นั้น ไม่ได้ทำให้กระบวนการอื่นนั้นไม่ได้ทำงาน ยังมีในส่วนของตุลาการ สภานิติบัญญติแห่งชาติ หรือ สนช. ยังคงดำเนินการปกติ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือจะต้องอธิบายให้ต่างชาติมีความเข้าใจ ไม่เช่นนั้นอาจมีปัญหาในเรื่องของการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศได้
“ต้องยอมรับว่ามาตรา 44 มันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีคือเหมาะสำหรับการตัดสินใจได้เด็ดขาดไม่ต้องผ่านขั้นตอนหรือกระบวนการใดให้มีความยุ่งยาก” นายประสาร กล่าว
ทั้งนี้ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงต่างๆไทยจะต้องเร่งสร้างโครงสร้างระบบการเงินไทยเอื้อให้ภาครัฐและเอกชนปรับตัวให้ทัน เช่น การเชื่อมโยงระบบการเงินไทยกับอาเซียน การกำหนดกฎเกณฑ์ที่เอื้อให้ธุรกิจไทยออกไปแสวงหาโอกาสในภูมิภาค การผลักดันให้เกิดตลาดหลักทรัพย์อาเซียน เพื่อช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจซื้อหลักทรัพย์ได้ง่ายขึ้น
“ผมเคยเปรียบเศรษฐกิจไทยเป็นเรือสำเภาหลายครั้ง ซึ่งตอนนี้ดูเหมือนประคองตัวได้อย่างมั่นคง สามารถต้านลมได้ระดับหนึ่ง แต่ก็แล่นได้เพียงช้าๆ ปัจจุบันเรากำลังพัฒนาและสร้างระบบการเงินให้เป็นเหมือนเครื่องยนต์ของเรือยอร์ช หรือ speed boat แต่สุดท้ายแล้วเรือเศรษฐกิจลำนี้จะแล่นได้เร็ว ไกล และมั่นคงแค่ไหนขึ้นอยู่กับทุกท่านว่าจะใช้ประโยชน์จากเครื่องยนต์ดังกล่าวได้มากน้อยเพียงใด”นายประสาร กล่าว
นายประสาร กล่าวทิ้งท้ายว่า นายพลชาวอเมริกันท่านหนึ่ง ซึ่งระหว่างสงครมโลกครั้งที่ 2 ได้กล่าวให้กำลังใจทหารในสังกัดของเขาไว้สั้นๆ ว่า “Pressure makes diamonds” ช่วงนี้ทั้งผู้ดำเนินนโยบายและนักลงทุนยังคงเผชิญกับ pressure อยู่เป็นระยะ แต่ผมมั่นใจว่าทุกภาคส่วนจะใช้โอกาสนี้ในการปรับตัวเพื่อให้เศรษฐฏิจมีความแข็งแกร่งเหมือน diamonds ได้ในไม่ช้า
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
ผู้ว่าธปท. ชี้ มาตรา 44 กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนบางประเทศ แนะรัฐบาลเร่งชี้แจงทำความเข้าใจ
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยถึงการที่รัฐบาลประกาศใช้มาตรา 44 ในการบริหารประเทศแทนกฎอัยการศึก ว่า คงส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนบางประเทศบ้าง เนื่องจากมาตรา 44 อำนาจจะผูกขาดอำนาจกับตัวบุคคล ซึ่งบางประเทศอาจไม่คุ้นเคยกับการบริหารประเทศแบบนี้ เพราะไม่มีการคานอำนาจในส่วนของสถาบัน
“เราต้องอธิบายให้ต่างชาติเข้าใจว่า การใช้มาตรา 44 นั้น เป็นกรณีพิเศษ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งประเทศเรากำลังพยายามที่จะดำเนินการเพื่อให้เข้าสู่ระบบ คือ มีรัฐธรรมนูญนำไปสู่การเลือกตั้ง แต่ทั้งนี้ก็ต้องอธิบายในส่วนของกรอบเวลาให้ชัดเจนด้วยว่าขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านประเทศเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง”นายประสาร กล่าวว่า
นายประสาร กล่าวว่า การประกาศใช้มาตรา 44 นั้น ไม่ได้ทำให้กระบวนการอื่นนั้นไม่ได้ทำงาน ยังมีในส่วนของตุลาการ สภานิติบัญญติแห่งชาติ หรือ สนช. ยังคงดำเนินการปกติ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือจะต้องอธิบายให้ต่างชาติมีความเข้าใจ ไม่เช่นนั้นอาจมีปัญหาในเรื่องของการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศได้
“ต้องยอมรับว่า มาตรา 44 มันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีคือเหมาะสำหรับการตัดสินใจได้เด็ดขาดไม่ต้องผ่านขั้นตอนหรือกระบวนการใดให้มีความยุ่งยาก” นายประสาร กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย