- Details
- Category: ธปท.
- Published: Wednesday, 01 April 2015 12:52
- Hits: 2953
'ประสาร'สะท้อนศก.ไทย ขาดศักยภาพแข่งส่งออก ภาครัฐเบิกจ่ายไม่ถึงเป้า
มติชนออนไลน์ :
หมายเหตุ - นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดให้ทีมงานหนังสือพิมพ์ในเครือมติชน ประกอบด้วยประชาชาติธุรกิจ มติชน และข่าวสด สัมภาษณ์พิเศษที่ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยผู้ว่าการ ธปท.ได้สะท้อนภาพเศรษฐกิจของไทยปีนี้
ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในด้านเสถียรภาพขณะนี้ถือว่ายังดี ทั้งดุลชำระเงินระหว่างประเทศ อัตราเงินเฟ้อภายในประเทศ อัตราว่างงาน ระบบธนาคารพาณิชย์ ระบบสถาบันการเงิน เหล่านี้โชคดีที่ไม่ได้มีปัญหามากในด้านมิติเสถียรภาพ ซึ่งสะท้อนมาที่เครดิตของประเทศที่ยังไม่มีใครตั้งคำถาม
ด้านอัตราแลกเปลี่ยน ถือว่าทรงตัว อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นระยะยาวมีเสถียรภาพ สะท้อนว่าเสถียรภาพไม่ได้มีปัญหา แต่เศรษฐกิจกำลังเผชิญกับความท้าทาย 3 ด้าน คือ ด้านต่างประเทศ ที่การฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง และเรื่องความสามารถทางการแข่งขันที่ต้องแข่งขันกันมากขึ้น และด้านที่สามคือด้านความเชื่อมั่น
ภาวะเศรษฐกิจไทยขณะนี้กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทาย ประกอบด้วยความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ เศรษฐกิจโลกที่กำลังซบเซา เป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งสหรัฐอเมริกาที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนแต่ยังมีความเปราะบาง ประเทศญี่ปุ่นและยุโรปยังคงต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอีกสักระยะหนึ่ง กระทั่งหันมาใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ส่งผลให้เกิดความผันผวนต่ออัตราแลกเปลี่ยนและตลาดการเงินไปทั่วโลก
ขณะที่ภาคการส่งออกเคยฝากความหวังเอาไว้หลังจากนี้คงเป็นเรื่องยาก เนื่องจากไทยยังขาดศักยภาพในการแข่งขัน ทั้งเรื่องของบุคลากร การลงทุน รวมถึงนวัตกรรม ต้องมีการวิจัยและพัฒนา สิ่งสำคัญคือต้องทำให้เกิดความมั่นใจว่าเดินมาถูกทาง และความเสี่ยงที่สามเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นที่ต้องสร้างให้เห็นเป็นรูปธรรม เมื่อมีความเชื่อมั่นภาคเอกชนก็จะมาลงทุน ต้องบริหารจัดการให้ได้ตามกรอบเวลาและทิศทาง รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่จะเกิดจากการมีรายได้ที่เพียงพอ เมื่อมีรายได้การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนก็จะตามมา เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงและความท้าทายที่ต้องเร่งผลักดัน
การเบิกจ่ายของภาครัฐที่เบิกจ่ายได้ไม่ถึงเป้า 30% ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
การเบิกจ่ายดังกล่าวเป็นหนึ่งในโจทย์สำคัญซึ่งรัฐบาลก็กำลังพยายาม โดยการเบิกจ่ายของภาครัฐที่เบิกได้มากเป็นในส่วนของงบประจำ แต่ที่ไม่สามารถเบิกได้ตามเป้าเป็นเรื่องของงบการลงทุน สาเหตุมาจากกลไกต่างๆ ช้าลงภายหลังจากเริ่มมีการตรวจสอบมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขเศรษฐกิจไทย 2 เดือนที่ผ่านมา (เดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2558) สะท้อนว่าไทยยังมีเสถียรภาพค่อนข้างดี สังเกตจากความเคลื่อนไหวของดุลบัญชีชำระเงินระหว่างประเทศ อัตราเงินเฟ้อภายในประเทศ อัตราการว่างงาน และระบบสถาบันการเงินก็ไม่ได้มีปัญหามาก ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนยังทรงตัว ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวที่น่าเป็นกังวล อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวในตลาดพันธบัตรก็ค่อนข้างดี
ทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทท่ามกลางภาวะตลาดการเงินโลกในขณะนี้ที่มีการฟื้นตัวไม่สม่ำเสมอนั้น เท่าที่ประเมินพบว่าผลกระทบกับตลาดการเงินไทยมีจำกัดไม่รุนแรง เนื่องจากยังมีช่องทางอีกหลายช่องทาง ได้แก่ ตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร ธนาคารพาณิชย์ เงินกู้บริษัทและเอกชน เป็นต้น โดยปัจจัยที่เป็นข้อกังวลเมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยคือ เงินบาทจะไหลออกนั้น คิดว่าไม่น่าจะเป็นปัญหา ไม่เกิดช็อก เมื่อมองจากสถานการณ์ที่ผ่านมาเมื่อครั้งสหรัฐจะหยุดมาตรการคิวอี และเรามีเงินสำรองของประเทศเพียงพอ ด้านตลาดพันธบัตรของไทยมีชาวต่างประเทศถือหุ้นอยู่ 10% ขณะที่ตลาดหุ้นมีชาวต่างประเทศลงทุน 30-40%
ภาวะตลาดการเงินโลกวันนี้วางใจไม่ได้ เพราะการฟื้นตัวไม่สม่ำเสมอกัน ต่างกับอดีตที่เวลาพูดถึงเศรษฐกิจใหญ่ เวลาฟื้นก็ไปด้วยกัน เวลาไม่ดีก็ไปด้วยกัน แต่เวลานี้เศรษฐกิจโลกค่อนไปทางคนละทิศ อเมริกาค่อนไปทางฟื้นตัว สิ่งที่ตามมาคือ คนก็พูดกันว่าเมื่อไหร่เขาจะขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งเวลานี้เขาหยุดปั๊มเงิน พอหยุดปั๊มเงิน ตัวงบดุลของธนาคารกลางของสหรัฐก็มีค่อนข้างใหญ่ ดังนั้นจะหดบาลานซ์ชิฟต์หรือไม่ ซึ่งจะกระทบต่อสภาพคล่องตลาดการเงินโลก แม้เขาจะพูดว่า จะไม่ทำและจะทำให้หดตามธรรมชาติ คือพันธบัตรที่หมดอายุก็ปล่อยไป ให้เป็นไปตามธรรมชาติ แต่ตัวที่คนกำลังดูคือ เมื่อไหร่จะขึ้นดอกเบี้ย เพราะทุกครั้งที่แถลงข่าวจะค่อนข้างระมัดระวัง
ขณะที่ยุโรปก็ปั๊มเงิน ญี่ปุ่นก็ยังปั๊มเงินเข้าสู่ระบบต่อเนื่อง ดังนั้นจะเห็นได้ว่านโยบายการเงินต่างเดินกันไปคนละทิศ ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศเกิดใหม่ หลายส่วนในภูมิภาคก็ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของจีน และเราก็ค้าขายกับจีนเยอะ ดังนั้นจะเห็นว่าเศรษฐกิจไปคนละทิศ พอเป็นอย่างนี้จะเห็นเงินที่ไหลเข้าไหลออก ไม่นิ่งตามปกติ เพราะคนที่บริหารเงินก็เพื่อหาผลตอบแทน ดังนั้นตลาดการเงินโลกก็ยังคงไม่นิ่ง
แต่ถามว่าประเทศไทยเป็นอย่างไร จากการประเมินเบื้องต้น เชื่อว่า ผลกระทบน่าจะมีจำกัด ไม่น่าจะรุนแรง เพราะเงินทุนที่จะเคลื่อนย้าย เวลาเคลื่อนย้ายจะมีท่อของมัน เช่น ตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร หากเป็นสองตลาดนี้ นักลงทุนยุโรปนิยมสินทรัพย์ในตลาดสหรัฐมากกว่า ขณะที่ช่องทางธนาคารพาณิชย์ เวลาทำธุรกิจส่วนใหญ่ก็ใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ แต่เวลานี้ยุโรปยังอ่อนแอ ดังนั้นยุโรปก็ไม่น่าจะให้สินเชื่อ ส่วนการกู้ต่างประเทศที่ผ่านมา ธุรกิจไทยกู้จากต่างประเทศน้อย ไม่เหมือนตอนต้มยำกุ้ง (วิกฤตเศรษฐกิจไทยปี 2540) ระบบธนาคารพาณิชย์ปัจจุบันเรากู้ต่างประเทศเพียง 5% เท่านั้น ส่วนพวกบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ ระยะหลังเขากู้น้อยลง เพราะในประเทศก็มีสภาพคล่อง ดังนั้นท่อส่งจึงไม่มาทางเรามาก
นักวิชาการจากสถาบันการเงินเป็นกังวลว่าจะเกิดเป็นสงครามค่าเงิน
คิดว่าไม่เป็นเช่นนั้น เพราะสงครามค่าเงินนั้นคือการที่ธนาคารกลางซื้อสกุลเงินต่างประเทศเพื่อทำให้เงินของตัวเองอ่อน ธปท.ก็ได้ติดตามระบบเงินสำรองของประเทศต่างๆ ที่เป็นคู่ค้าคู่แข่งสำคัญซึ่งไม่พบความผิดปกติ สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเวลานี้ที่ระดับ 1.75% ต่ำสุดในภูมิภาครองจากไต้หวันที่ 1.87% แต่เงินบาทก็ยังไม่อ่อนค่า อ่อนมาลงนิดหน่อยเมื่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงช่วงไตรมาส 4 ปี 2557
สำหรับ ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2557 ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 1.4 หมื่นล้านบาท ขณะที่ในปี 2558 เกินดุล 1.6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากไทยมีรายได้จากต่างประเทศมากกว่ารายจ่าย การนำเข้าลดลงจากราคาน้ำมันที่ราคาลงทำให้สามารถประหยัดรายจ่าย ด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายไม่ได้มีความผิดปกติแต่อย่างใด
ในเรื่องของสโลว์ดาวน์ก็เป็นปัญหาไปทั่วโลก ถ้าปีนี้ไทยได้ 3% กว่า อัตราการว่างงาน 1% ก็ถือว่าไม่เป็นปัญหาใหญ่ ในส่วนการส่งออกในปีนี้จะโตได้ 0.8% เป็นเรื่องของราคาไม่ใช่วอลุ่ม ทั้งสินค้าเกษตรและปิโตรเคมีที่ราคาตกตามน้ำมันที่ราคาลดลง เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ก็ยังตามเทคโนโลยีที่เป็นกระแสนิยมไม่ทัน เพราะไทยยังอยู่กับพวกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์อยู่ พวกอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีวัฏจักรที่สั้น และผู้ที่มาลงทุนต้องเป็นเจ้าใหญ่ เราต้องมีการเชิญชวนในเชิงยุทธศาสตร์ให้มีการมาร่วมลงทุน อาจจะต้องมีการคุยกันในบีโอไอเพื่อแนวทาง
ขณะที่สถานการณ์ในขณะนี้เป็นลักษณะอัตราเงินเฟ้อต่ำ (โลว์ อินเฟรชั่น) หากดูเงินเฟ้อพื้นฐานจะสะท้อนอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าต่างๆ ได้ดีกว่าเงินเฟ้อทั่วไป อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคือราคาน้ำมันและราคาอาหารสดประกอบกัน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปติดลบในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาเป็นเพราะราคาน้ำมันที่ลดลง แต่เงินเฟ้อพื้นฐานยังขึ้นอยู่ เป้าหมายปีนี้ตั้งไว้ที่ 1.2% แสดงให้เห็นว่าสินค้าทั่วไปยังราคาขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปทั้งปีจะอยู่ที่ 0.2% สำหรับภาวะเงินฝืดเป็นเรื่องของธุรกรรมหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก ผู้ขายจะรู้สึกว่าขายของไม่ได้ ผู้ซื้อก็ไม่อยากอุปโภคและบริโภค กระทั่งมีผลทำให้เกิดการว่างงานตามมา ขณะนี้สถานการณ์ไม่ได้เป็นแบบนั้น แต่ถ้าหากถามว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศก็รุนแรงกว่าเรา เมื่อเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงจะลามมากระทบไทยหรือไม่ก็รับปากไม่ได้
อยากฝากถึงผู้มารับช่วงต่อหลังผู้ว่าการประสารจะเกษียณอายุราชการในอีก 6 เดือน
เรื่องที่อยากจะฝากให้มีการรับช่วงต่อ ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำแผนระยะที่ 3 ของระบบสถาบันการเงิน (ตั้งแต่ปี 2558-2562) จะสามารถเปิดเผยได้ในราวๆ กลางปีนี้ เบื้องต้นได้ร่างแผนขึ้นมาเพื่อพูดคุยหารือกับทีมผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ และที่ปรึกษา รวมถึงจะมีการนำไปเปรียบเทียบกับระดับสากล ประการแรกคือ จะปรับปรุงกลุ่มเอสเอ็มอีให้สามารถใช้บริการทางการเงินได้สะดวกขึ้น โดยพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับบทบาทของดิจิตอลแบงกิ้ง ประการที่สอง คือการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทั้งการดูแลเศรษฐกิจมหภาคให้อยู่ในสมดุลที่ดี เช่น ระบบหนี้สาธารณะ หนี้ภาคเอกชน หนี้ภาคครัวเรือน ดุลบัญชีเดินสะพัด และความเข้มแข็งของระบบสถาบันการเงิน โดยจะมีกรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่ยืดหยุ่นและสามารถนำเอาปัจจัยต่างๆ มาพิจารณารอบด้านได้
ประการที่สาม คือการมีชุดเครื่องมือที่พร้อมรับมือ อาทิ การซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยน การใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่น และเครื่องมือพวกแมคโคร โพเทนเชียล สุดท้ายประการที่สี่ คือการสื่อสารและทำความเข้าใจกับสาธารณชน พยายามสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การเปิดเผยรายงานการประชุม การออกรายงานเพื่ออธิบายให้ประชาชนได้ทำความเข้าใจ เชื่อว่ากรอบทั้ง 4 ประการข้างต้น ไม่ว่าใครจะมารับช่วงต่อก็จะสามารถดำเนินนโยบายและดูแลเศรษฐกิจมหภาคให้เกิดความสมดุลต่อไปได้