WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ธปท.ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 58 เหลือโต 3.8% จากเดิม 4%,ปีหน้าคาดโต 3.9%

    ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในปี 58 เหลือเติบโตราว 3.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 4% ส่วนในปี 59 คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องในระดับ 3.9%

    นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. แถลงรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และการดำเนินนโยบายการเงินฉบับล่าสุดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 58 มีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่เคยประเมินไว้และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น สาเหตุสำคัญมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและอินเดีย การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มล่าช้ากว่าคาด โดยเฉพาะงบลงทุน การใช้จ่ายภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจชะลอตัวลงจากความเชื่อมั่นที่ถูกบั่นทอนลงจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ด้านมูลค่าการส่งออกลดลงจากคาดการณ์เดิม เพราะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าขยายตัวต่ำกว่าคาด และราคาสินค้าส่งออกปรับตัวลดลงจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก

    อย่างไรก็ตาม จากการที่คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปีนี้ปรับลดลงมาต่ำกว่าเป้าหมายนโยบายการเงินนั้น เชื่อว่ายังไม่ใช่สัญญาณบ่งชี้ถึงภาวะเงินฝืด เนื่องจากเป็นแค่สถานการณ์ชั่วคราว และจะกลับเข้าสู่เป้าหมายปกติในปีหน้า

    “ที่ปรับ GDP ลดลงเหลือ 3.8% เป็นเพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 4/57 ต่ำกว่าคาด จากผลของการใช้จ่ายในประเทศที่ลดลงทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทำให้โมเมนตัมที่จะไปสู่ปี 58 มีน้อย นอกจากนี้ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและประชาชนยังชะลอลงในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ และอีกปัจจัยมาจากการใช้จ่ายการลงทุนของภาครัฐทำได้ช้า ส่งผลให้เอกชนลงทุนล่าช้าตามไปด้วย” นายเมธี กล่าว

    ธปท.ระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ตามการใช้จ่ายในประเทศที่อ่อนแรงกว่าคาด ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อลดลงจากที่เคยประเมินไว้ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเป็นสำคัญ ทั้งนี้ พัฒนาการสำคัญที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ได้วิเคราะห์และนำมาประกอบการประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ได้แก่ (1) เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชีย (2) อุปสงค์ในประเทศในไตรมาสที่ 4/57 และเดือน ม.ค.58 อ่อนแรงกว่าที่คาด (3) การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มล่าช้ากว่าที่คาดโดยเฉพาะงบลงทุน และ (4) ราคาน้ำมันในตลาดโลกต่ำกว่าที่คาด

     เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้าบั่นทอนความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มรายได้ในอนาคตของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ส่งผลให้ครัวเรือนและธุรกิจยังไม่เร่งใช้จ่ายแม้ว่าค่าครองชีพและต้นทุนการขนส่งจะลดลงตามราคาน้ำมัน ขณะที่สถาบันการเงินยังคงระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ การใช้จ่ายภาคเอกชนจึงมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่เคยคาดไว้ ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐแม้จะมีแนวโน้มดีขึ้นจากช่วงก่อนหน้า แต่ยังมีข้อจำกัด ส่วนหนึ่งเป็นผลจากประสิทธิภาพของหน่วยงานราชการที่ไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้เร็วสอดคล้องกับการปรับงบประมาณที่เน้นเพิ่มสัดส่วนการลงทุน ประกอบกับ การปรับค่างานด้านก่อสร้างให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันที่ลดลงทำให้โครงการลงทุนบางส่วนล่าช้าออกไป

    ส่วนการลงทุนของภาคเอกชนในไตรมาส 4/57 หดตัวมากกว่าที่คาดและมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ซึ่งภาคเอกชนได้ชะลอการลงทุนออกไป เพื่อรอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวและรอความชัดเจนจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐก่อน ดังนั้น จึงคาดว่าจะเริ่มเห็นการลงทุนของภาคเอกชนที่ชัดเจนขึ้นตั้งแต่กลางปีนี้เป็นต้นไป

    นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าคาด และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงตามราคาน้ำมัน กดดันให้มูลค่าการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้เล็กน้อย การส่งออกบริการมีแนวโน้มขยายตัวดีและช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ราคาน้ำมันที่ลดลงส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อจากด้านต้นทุนลดลงค่อนข้างมาก ขณะที่แรงกดดันจากด้านอุปสงค์ต่ำลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับประมาณการครั้งก่อน ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ช้ากว่าคาด

     ดังนั้น คณะกรรมการฯ ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 58 ลง และประเมินว่าความเสี่ยงต่อประมาณการโน้มไปด้านต่ำ โดยโอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวต่ำกว่ากรณีฐาน จากเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวกว่าคาดตามเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรและจีน และการใช้จ่ายภาครัฐที่อาจน้อยกว่าคาดจากข้อจำกัด ด้านประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบลงทุน มีมากกว่าโอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวสูงกว่ากรณีฐาน จากการเร่งใช้จ่ายของภาครัฐผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 เช่น โครงการบริหารจัดการน้ำที่อาจสูงกว่าคาด และการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่อาจสูงกว่ากรณีฐานจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศต่ำกว่าคาด แผนภาพรูปพัด (Fan Chart)ของประมาณการเศรษฐกิจจึงเบ้ลงตลอดช่วงประมาณการ

    สำหรับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 58 ปรับลดจากประมาณการเดิมค่อนข้างมากจากราคาน้ามันที่ลดลง  ซึ่ง ธปท.ประเมินราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปีนี้ที่ระดับ 59.50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 58 และปี 59 ตามแนวโน้มประมาณการราคาน้ำมันเป็นสำคัญ นโยบายการเงินมีบทบาทเพิ่มเติมในการช่วยพยุงเศรษฐกิจในภาวะที่แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอ่อนแรงกว่าที่ประเมินไว้ และความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยสูงขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ปรับลดลงจนอาจออกนอกกรอบเป้าหมายนั้นคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ประเมินว่าเป็นผลจากราคาพลังงานที่ลดลงและไม่ใช่สัญญาณบ่งชี้ถึงภาวะเงินฝืดที่เกิดจากการหดตัวของอุปสงค์คณะกรรมการฯ ปรับลดประมาณการ

     ธปท.ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 58 จาก 1.2% มาอยู่ที่ 0.2% ซึ่งจะต่ากว่าเป้าหมายนโยบายการเงินใหม่ที่ 2.5 บวก/ลบ 1.5% โดยมีสาเหตุหลักจากราคาน้ามันใน

    ตลาดโลกที่ลดลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ ประเมินว่า ณ ปัจจุบัน การประมาณการเงินเฟ้อดังกล่าวไม่ใช่ภาวะเงินฝืดเนื่องจากราคาสินค้าอื่นๆ ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหรือทรงตัว ประกอบกับค่าเช่าบ้านที่เพิ่มขึ้นในช่วงต้นปี 58 ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.2% ขณะที่การคาดการณ์เงินเฟ้อระยะปานกลางของสาธารณชนยังใกล้เคียงกับค่ากลางของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับที่ชี้แจงในจดหมายเปิดผนึกที่ได้เผยแพร่ต่อสาธารณชนหลังจากที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม 58 ออกมาติดลบ

    “เงินเฟ้ออาจจะมีโอกาสติดลบในครึ่งปีแรก และคาดว่าจะเริ่มกลับมาเป็นบวกได้ในช่วงครึ่งปีหลัง จากนั้นจะกลับเข้าไปสู่ระดับใกล้กับ 2.5% ในปี 59”นายเมธี ระบุ

   นายเมธี กล่าวถึงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 59 ว่าจะขยายตัวได้ 3.9% โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากการลดลงของผลถ่วงของหนี้ภาคครัวเรือน การใช้จ่ายภาครัฐที่มีความชัดเจนมากขึ้น และการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นโดยเริ่มกลับมามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนเพิ่มการลงทุนในช่วงต่อไปด้วย ส่วนอ้ตราเงินเฟ้อคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.2% จากสมมติฐานราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตรกลุ่มอาหารสดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 58 โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปี 59 จะเพิ่มขึ้นเป็น 70 ดอลลาร์/บาร์เรล จากในปีนี้ที่คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 59.50 ดอลลาร์/บาร์เรล

    อินโฟเควสท์

ธปท. หั่น จีดีพี ปีนี้ลงเหลือโต 3.8% จากเดิมคาดโต 4% หลังมอง ศก.โลก อาจชะลอตัวกว่าคาด ฉุดส่งออกปีนี้หลุดเป้าคาดเหลือโต 0.8% จาก1%

     ธปท. หั่น จีดีพีปีนี้ลงเหลือโต 3.8% จากเดิมคาดโต 4% หลังมอง ศก.โลก อาจชะลอตัวกว่าคาด  ฉุดส่งออกปีนี้หลุดเป้าคาดเหลือโต 0.8% จาก1% นำเข้า 0% จาก 4% ส่วนเงินเฟ้อปี 58 แย้มยังมีแววติดลบ เบื้องต้นหั่นเป้าเหลือ 0.2% พร้อมย้ำยังไม่ใช่สัญญาณเงินฝืด ส่วนกรณีรัฐบาลคง VAT 7% ชี้ไม่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย ขณะที่ปี 59 คาดจีดีพีโต 3.9%ส่งออกโต 4% นำเข้าโตถึง 8.8%

  นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. และในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนมีนาคม 2558 ว่า ที่ประชุมได้ปรับประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ปี 58 ลงเหลือ 3.8% จากเดิมที่ 4% ส่วนจีดีพีปี 59 คาดว่าขยายตัว 3.9%

  สำหรับ สาเหตุที่มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจ เนื่องจาก เศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวกว่าคาดตามเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรและจีนและการใช้จ่ายภาครัฐที่อาจน้อยกว่าคาดจากข้อจำกัดด้านประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบลงทุน

  “เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวล่าช้าบั่นทอนความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มรายได้ในอนาคตของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ส่งผลให้ครัวเรือนและธุรกิจยังไม่เร่งใช้จ่ายแม้ว่าค่าครองชีพและต้นทุนการขนส่งจะลดลงตามราคาน้ำมัน ขณะที่สถาบันการเงินยังระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ”นายเมธี กล่าว

  ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐแม้ว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นจากช่วงก่อนหน้า แต่การเบิกจ่ายยังมีข้อจำกัดส่วนหนึ่งเป็นผลจากประสิทธิภาพของหน่วยงานราชการที่ไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้เร็ว สอดคล้องกับการปรับงบประมาณที่เน้นเพิ่มสัดส่วนการลงทุน โดยคณะกรรมการปรับลดอัตราเบิกจ่ายของรัฐบาลกลางในปี 2558 จาก 93% เหลือ 91.2%

   นายเมธี กล่าวว่าการลงทุนภาคเอกชนในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 3.1% ( จากเดิมคาดโต 7.2% )ส่วนปี 59 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8% ส่วนการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะอยู่ที่ 8% และปี 59 คาดว่าจะอยู่ที่ 6.1%

     ทั้งนี้ ธปท.ปรับลดประมาณการส่งออกปี 2558 ลงเหลือ 0.8% จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1% ส่วนปี 2559 คาดว่าโตได้ 4%

  สำหรับสาเหตุที่ส่งออกชะลอตัวลงจากการส่งออกสินค้ายังถูกกดดันในระยะข้างหน้า จากเศรษฐกิจคู่ค้าขยายตัวต่ำกว่าคาดโดยเฉพาะจากจีนและเอเชีย ราคาสินค้าส่งออกต่ำลง จากการลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันในตลาดโลก

  ขณะที่การส่งออกบริการขยายตัวดี ตามการที่นักท่องเที่ยวจากจีนยังมีความต้องการท่องเที่ยวต่างประเทศรวมทั้งไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยชดเชยการชะลอตัวของนักท่องเที่ยวจากกลุ่มอื่นๆ เช่น ยุโรป

    ส่วนการนำเข้าปี 2558 เหลือโต 0% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ 4% เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนปี 2559 คาดว่านำเข้าจะเติบโต 8.8%

    นายเมธี กล่าวว่า ธปท.ปรับลดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2558 ลงเหลือ 0.2% จากเดิมที่ 1.2% และถือว่าต่ำกว่ากรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่วางไว้ที่ 2.5% บวกลบ 1.5% โดยมีสาเหตุหลักจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา

 อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันแม้จะต่ำกว่าประมาณการแต่ยังไม่ใช่ภาวะเงินฝืด เนื่องจากราคาสินค้าอื่นๆ ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหรือทรงตัว ประกอบกับค่าเช่าบ้านที่เพิ่มขึ้นในช่วงต้นปี 2558 ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.2%

 สำหรับ ปี 2559 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 2.2% จากข้อสมมติฐานราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตรกลุ่มอาหารสดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2558 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.2%   ธปท. มองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2558 มีโอกาสติดลบได้  ทั้งนี้ โดยต้องจับตาเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมันในตลาดโลกว่าจะต่ำกว่าสมมติฐานที่         

     "ธปท. มองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2558 มีโอกาสติดลบได้  ทั้งนี้ ต้องจับตาเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมันในตลาดโลกว่าจะต่ำกว่าสมมติฐานที่ ธปท.ประมาณไว้ที่ 59.5% หรือไม่ รวมถึงต้องติดตามความสามารถในการเบิกจ่ายและการลงทุนของภาครัฐ " นายเมธี  กล่าว

     ด้านปรับเป้าหมายการลงทุนภาคเอกชนปี 58 เหลือ โต 3.1% จากเดิมที่คาดโต 7.2% ส่วนปี 2559 คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะสามารถกลับมาขยายตัวได้ 8%

     ทั้งนี้ การชะลอตัวการลงทุนของภาคเอกชน เป็นผลจากการรอความชัดเจนของการลงทุนภาครัฐ และนโยบายต่างๆของภาครัฐด้วย      

      นอกจากนี้ ธปท.ปรับลดข้อสมมติฐานค่าเฉลี่ยราคาน้ำมันในตลาดโลกลงเหลือ 59.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากเดิมที่ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และคาดว่าปี 2559 จะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สอดคล้องกับราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมาที่ลดลงค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาน้ำมันจะค่อยๆปรับเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2558

      ทั้งนี้ คณะกรรมการประเมินว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลงส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับลดลง และทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2558 ต่ำกว่าประมาณการเดิม การใช้จ่ายภาคเอกชนปรับดีขึ้นผ่านค่าครองชีพและต้นทุนการผลิตที่ลดลง

      นายเมธี เปิดเผยด้วยว่า ธปท.ประเมินถึงการที่รัฐบาลคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ไว้ที่ระดับ 7% นั้น คงไม่ได้ช่วยการกระตุ้นการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน หรือภาคครัวเรือนมากนัก เนื่องจากเป็นการเก็บที่อัตราเท่าเดิม

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!