- Details
- Category: ธปท.
- Published: Friday, 13 March 2015 23:38
- Hits: 2444
ผู้ว่า ธปท.ชี้ลด’ดอกเบี้ย’แค่ยาบรรเทาอาการป่วยของ ศก.แต่รักษาต้นเหตุต้องอาศัยบทบาทภาครัฐ -มองปัญหาเชิงโครงสร้างการผลิตเป็น 'วาระแห่งชาติ'
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2558 ที่สำนักงานภาคเหนือ ธปท.หัวข้อ 'ความท้าทายของนโยบายการเงิน กับการก้าวข้ามพัฒนาการเศรษฐกิจไทย'สรุปใจความว่า ปีที่ผ่านมาจีดีพีของไทยโตเพียง 0.7% หรือเรียกได้ว่าแทบไม่เติบโต เพราะหลากหลายปัจจัยรุมเร้าทั้งภายในและภายนอก สภาพเศรษฐกิจไทยจึงเหมือน "คนป่วย"ที่มีอาการซ้ำซ้อนหลายด้าน เศรษฐกิจไทยป่วยจากการเผชิญกับโรค 3ชนิด ดังนี้
1.โรคไข้หวัดใหญ่ จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและทิศทางนโยบายการเงินของแต่ละประเทศที่แตกต่างกันและมีความไม่แน่นอนสูงนี้ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าไทยมีไม่มากและตลาดเงินโลกผันผวน ซึ่งไทยย่อมได้รับผลกระทบอย่างปฏิเสธไม่ได้ โดยเฉพาะกระทบด้านการส่งออกของไทย ดังนั้น ความหวังที่จะดันให้การส่งออกของไทยก้าวขึ้นมาเป็นตัวขับเคลื่อนหลักให้เศรษฐกิจอาจมีไม่มากนัก
2. โรคข้อเข่าเสื่อม จากปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย เพราะยังขาดแคลนการลงทุนหรือพัฒนาเทคโนโลยีให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ ไม่มีแรงงานทักษะเพียงพอสำหรับการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงได้ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกต่างประเทศ ซึ่งเป็นข้อเข่าที่พยุงเศรษฐกิจได้มานาน ได้เสื่อมสมรรถภาพลงจนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง และทำให้ไทยติด'กับดักรายได้ปานกลาง' (Middle Income Trap)
3.โรคขาดความมั่นใจ ที่ซ้ำเติมทำให้โรคข้อเข่าเสื่อมไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจัง เพราะผู้ประกอบการไม่มั่นใจว่า ภาครัฐจะจัดการปัญหาเชิงโครงสร้างได้หรือไม่
ภายใต้โรคที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยทั้ง 3 ชนิดนี้ บทบาทที่ ธปท. สามารถเข้ามาช่วยรักษาได้ คือการใช้เครื่องมือนโยบายการเงิน ซึ่งเปรียบเสมือนการจ่าย 'ยารักษาโรค' สู่ระบบเศรษฐกิจ เช่น การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ดูแลความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และควบคุมเงินทุนไหลเข้าไหลออกซึ่งช่วยดูแเสถียรภาพด้านราคาและเสถียรภาพทางการเงินให้เกิดบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมและเอื้อต่อการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน
"แต่เป็นการให้ยาเพื่อบรรเทาอาการของโรคทั้ง 3 นี้และสามารถช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับเศรษฐกิจและเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้บางส่วนเท่านั้น การจะรักษาที่ต้นเหตุของโรคนั้น จำเป็นต้องอาศัยบทบาทภาครัฐในการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจังเพื่อเรียกความเชื่อมั่นในส่วนที่เหลือกลับมา"
ด้านโอกาสการก้าวข้ามพัฒนาการเศรษฐกิจไทยนั้น ดร.ประสาร กล่าวว่า จากปัญหาเชิงโครงสร้างการผลิตไทยนั้นไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น และไม่ใช่เป็นความรับผิดชอบของเฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ถือเป็น “วาระแห่งชาติ” ที่ต้องได้รับความสนใจและร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน และทุกฝ่ายที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจจะต้องรับบทบาทที่แตกต่างกันเพื่อให้เราก้าวเดินต่อไปได้
ภาครัฐมีบทบาทในการเข้าไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และพัฒนาแรงงานรวมถึงการศึกษาที่จะเป็นทุนติดตัวให้ภาคเอกชนทำงานได้ง่ายขึ้น อีกทั้งใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเหมาะสม
ธปท.มีบทบาทผ่านการใช้นโยบายการเงินในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น ในขณะที่ภาคเอกชนเป็นผู้ตัดสินใจว่า จะต้องลงทุนและปรับปรุงจุดไหนจึงจะทำให้กิจการของตนเองรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนต่อไป
นอกจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนแล้ว ไทยยังได้รับโอกาสใหม่ๆ ที่สามารถเข้ามาช่วยยกระดับเศรษฐกิจไทยในการพัฒนาผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขันทั้ง 3 ด้าน ได้แก่
1.การเชื่อมโยงการค้าและการลงทุนในภูมิภาคเนื่องจากไทยมีทำเลทางภูมิศาสตร์ที่สำคัญ ทำให้ไทยสามารถเชื่อมโยงกับฐานตลาด ทรัพยากรและการลงทุนที่ใหญ่ขึ้นในระดับภูมิภาค
2.โอกาสจากการปฏิรูปเศรษฐกิจ เปรียบเสมือนการผ่าตัดที่จะรักษาโรคของไทยโดยตรง ทั้งนี้ การผ่าตัดคือกระบวนการที่ต้องเจ็บปวดบ้าง และอาจต้องใช้เวลาในการพักฟื้นระยะหนึ่งก่อนจะกลับมาเดินได้เต็มที่ แต่ก็เพื่อสุขภาพที่ดีของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน,แผนการปฏิรูปการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ,การปรับเกณฑ์สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุน (BOI)
3.โอกาสในการพัฒนาภาคการเงิน เป็นแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวของ ธปท. ซึ่งเน้นการพัฒนาการให้บริการทางการเงินและระบบชำระเงินให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการ ทำธุรกรรมในปริมาณมากขึ้น
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย