- Details
- Category: ธปท.
- Published: Monday, 02 March 2015 07:42
- Hits: 2190
ธปท. เล็งทบทวนตัวเลข ศก.ปี58 แถลง20 มี.ค.นี้ หลังมอง ศก.ม.ค.58 ฟื้นตัวช้า ลั่นจะใช้ทุกข้อมูล ตัดสินใจนโยบายการเงินดูแล ศก.
ธปท. เล็งทบทวนตัวเลข ศก.ปี58 แถลง20 มี.ค.นี้ หลังมอง ศก.ม.ค.58 ฟื้นตัวช้า เหตุภาคครัวเรือนชะลอการใช้จ่าย ภาคธุรกิจรอความชัดเจนลงทุนรัฐ แถมส่งออก ม.ค.58 ติดลบ 2.6% นำเข้าติดลบ 14.8% เงินเฟ้อ ม.ค. 58 ติดลบ 0.41% ลั่นจะใช้ทุกข้อมูล ตัดสินใจนโยบายการเงินดูแล ศก. พร้อมเผยเดือน ม.ค.58 มีเงินไหลออก ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ที่ 1.89 พันล้านดอลล์ ระบุไหลออกไปลงทุนต่างประเทศ
นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.จะนำข้อมูลทางเศรษฐกิจล่าสุดเพื่อพิจารณาปรับประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี โดยปัจจุบันคาดการณ์อยู่ที่ 4.1% รวมทั้งพิจารณาตัวเลขการส่งออกทั้งปี 2558 แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเป็นตัวเลขใด ซึ่งคงต้องรอติดตามการประกาศตัวเลขอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มี.ค.นี้
สำหรับ ภาวะเศรษฐกิจในเดือนมกราคม 2558 เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยภาคการท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ ขณะที่การใช้จ่ายภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อน เพราะครัวเรือนยังระมัดระวังการใช้จ่าย และธุรกิจยังรอความชัดเจนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐ
โดยแรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายภาครัฐมีน้อยลงหลังจากที่เร่งเบิกจ่ายในเดือนก่อนๆ และการส่งออกสินค้าลดลงตามอุปสงค์จากจีนและอาเซียนที่ชะลอตัว รวมทั้งราคาสินค้าส่งออกหลายหมวดปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบ ทั้งนี้ ราคาน้ำมันโลกที่ต่ำลงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4
“การบริโภคภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อน เนื่องจากครัวเรือนยังระมัดระวังในการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง เพราะกำลังซื้อของครัวเรือนเกษตรกรถูกบั่นทอนจากราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ โดยเฉพาะราคายางพารา และรายได้ของครัวเรือนนอกภาคเกษตรยังทรงตัว ประกอบกับภาระหนี้อยู่ในระดับสูง โดยรวมแล้วราคาน้ำมันที่ลดลงยังไม่ส่งผลดีอย่างชดเจนต่อการบริโภค”นางรุ่งกล่าว
ขณะที่การส่งออกสินค้า เดือน ม.ค.2558 มีมูลค่า 17,163 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 2.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลมาจากราคาสินค้าส่งออกที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบอุปสงค์จากกลุ่มประเทศเอเชีย โดยเฉพาะจีนและกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงกลุ่มประเทศยุโรปที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ตามสิทธิประโยชน์จากภาษี หรือ GSP ในทุกสินค้าที่ส่งออกไปทุกกลุ่มประเทศยุโรปที่เริ่มมีผลในเดือนนี้ ทั้งนี้มีเพียงการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ และ CLMV ที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง
ด้านการนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 15,771 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 14.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบที่หดตัวตามราคาในตลาดโลกที่ลดลง ขณะที่สินค้าในหมวดอื่นๆที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวช้า ส่งผลดุลการค้า ม.ค.58 เกินดุล 1,392 ล้านดอลลาร์ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2,506 ล้านดอลลาร์
และในเดือน ม.ค.อัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัว 0.41% ตามราคาพลังงานเป็นสำคัญ โดยราคาพลังงานหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนจากราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่ปรับลดลงตามราคาในตลาดโลกและค่าไฟฟ้าผันแปร หรือเอฟที ในรอบเดือน ม.ค.-เม.ย.2558 ที่ปรับลดลง 10 สตางค์ต่อหน่วย ตามต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ลดลง
สำหรับ ราคาอาหารสดชะลอลงตามราคาเนื้อสัตว์ เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเลี้ยงทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมากธปท. เผย ดุลบัญชีเดินสะพัด ม.ค. 58 เกินดุล 2.50 พันล้านดอลล์
ส่วนดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในเดือน ม.ค.อยู่ที่ 108.4 เพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค.2557 ที่อยู่ 108.2 อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนยังคงทรงตัวตามปัจจัยพื้นฐาน ทั้งรายได้นอกภาคเกษตรที่ทรงตัวและรายได้เกษตรกรที่อยู่ในระดับต่ำ ผู้บริโภคบางส่วนจึงไม่มั่นใจที่จะใช้จ่ายประกอบกับสถาบันการเงินยังระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อให้กับครัวเรือน ทำให้ราคาน้ำมันที่ลดลงยังไม่ส่งผลดีต่อการบริโภคของครัวเรือนมากนัก
อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมเศรษฐกิจในเดือน ม.ค.จะฟื้นตัวล่าช้า ธปท.จะใช้นโยบายการเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่นั้น มองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือกนง. จะใช้ข้อมูลทุกข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายการเงินในครั้งต่อไป ซึ่งจะมีการแถลงตัวเลขในวันที่ 11 มี.ค.นี้
นางรุ่ง เปิดเผยด้วยว่า ในเดือน ม.ค.2558 มีเงินไหลออกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ที่ 1,894 ล้านดอลลาร์ โดยมีสาเหตุจากการเพิ่มเงินฝากในต่างประเทศและชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นของสถาบันการเงินเพื่อปรับฐานะเงินตราต่างประเทศ สอดคล้องกับความต้องการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของผู้ส่งออกไทยที่ลดลง
นอกจากนี้ ยังมีผลจากการออกไปลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องของนักลงทุนไทย ทั้งในรูปแบบการลงทุนในหลักทรัพย์ โดยเฉพาะตราสารหนี้ระยะสั้นในฮ่องกง สหรัฐฯ และบราซิล และการลงทุนโดยตรงในประเทศเวียดนาม สหรัฐฯ และอินโดนีเซีย ของธุรกิจการขุดเจาะปิโตรเลียม การผลิตเคมีภัณฑ์ และธุรกิจขายปลีกและขายส่ง
รวมทั้งการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในหลักทรัพย์ไทย ทั้งตราสารทุนและตราสารหนี้ สอดคล้องกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคตามการคาดการณ์ทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ และความผันผวนในตลาดการเงินโลก จากการประกาศจะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ QE เพิ่มเติมของธนาคารกลางยุโรป รวมทั้งการยกเลิกเพดานอัตราแลกเปลี่ยน และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารสวิสเซอร์แลนด์
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย