- Details
- Category: ธปท.
- Published: Wednesday, 04 February 2015 23:14
- Hits: 2488
สรุปผลการประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยประจำปี 2558 โดยคณะเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(2015 Article IV Consultation)
ในโอกาสที่คณะเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศเดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยประจำปี 2558 ตามนัยแห่งข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (2015 Article IV Consultation) ระหว่างวันที่ 15-29 กุมภาพันธ์ 2558 นาย Luis Breuer หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินฯ ได้กล่าวสรุปผลการประเมินโดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
คณะเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ขยายตัวประมาณร้อยละ 0.5 และมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.5 ในปี 2558 จากการทยอยฟื้นตัวของการบริโภคที่ได้รับผลดีจากราคาเชื้อเพลิงที่ปรับลดลง และการลงทุนของภาคเอกชนที่จะเพิ่มขึ้นหลังจากที่ทางการได้เร่งอนุมัติโครงการลงทุนต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ นโยบายการเงินที่ยังผ่อนปรนจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี การขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนจะได้รับอุปสรรคจากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ อุปสงค์ต่างประเทศที่ยังชะลอตัว และความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมือง ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังมีข้อจำกัดจาก หนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงและสถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น นอกจากนี้ ความต้องการสินค้าไทยในตลาดโลกยังอ่อนแอ อีกทั้งการลงทุนของภาครัฐทำได้ล่าช้ากว่าที่คาด รวมถึงในส่วนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับอนุมัติในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงมากในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยัง มีเสถียรภาพ ในระยะต่อไป คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำ โดยจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นได้บ้างในช่วงปลายปี 2558
ดุลบัญชีเดินสะพัดปรับดีขึ้นจากราคาน้ำมันที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมาเป็นสำคัญ และคาดว่าการเกินดุลจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปในปี 2558 ทั้งนี้ คาดว่าในระยะต่อไป การนำเข้าจะทยอยฟื้นตัว ขณะที่การส่งออกจะยังขยายตัวได้ในอัตราที่ต่ำ ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงในระยะปานกลาง
มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวได้ต่ำกว่าคาด โดยปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศ ได้แก่ ความล่าช้าของนโยบายภาครัฐ อุปสงค์ภาคเอกชนที่อ่อนแอกว่าคาด และความไม่แน่นอนทางการเมือง ในขณะที่ความเสี่ยงจากภายนอกประเทศ ได้แก่ ความผันผวนของตลาดการเงินโลก และการชะลอลงของเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วและเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ อย่างไรก็ดี ปัจจัยด้านบวกจะมาจาก การบริโภคภายในประเทศและการส่งออกที่อาจได้รับผลดีมากกว่าที่คาดไว้จากราคาน้ำมันที่ลดลงมาก
คณะเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินฯ เห็นด้วยกับมาตรการการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และสนับสนุนให้จัดทำกรอบการดำเนินนโยบายในระยะปานกลาง ในการเพิ่มรายได้ เพิ่มการลงทุน และสร้างความเข้มแข็งของหน่วยงานด้านการคลัง ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่กองทุนการเงินฯ ให้ความสำคัญอย่างมากใน การเร่งปฏิรูปการอุดหนุนราคาพลังงาน ซึ่งรวมถึงการกลับไปจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในอัตราที่เหมาะสม นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่กองทุนการเงินฯ เห็นว่าทางการควรพิจารณาทยอยปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 10 โดยดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปเมื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเข้มแข็งขึ้น รวมทั้งควรมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการปรับขึ้นภาษีดังกล่าว นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่กองทุนการเงินฯ เห็นว่าการเพิ่มฐานรายได้ของทางการจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของฐานะการคลัง และสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงช่วยรองรับภาระของภาครัฐในการดูแล การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของไทยในอนาคตได้ นอกจากนี้ การปฏิรูปต่างๆ ของภาครัฐ อาทิ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ นโยบายข้าว การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการจัดเก็บภาษีและการใช้จ่ายภาครัฐ จะช่วยเสริมสร้าง ความโปร่งใส ความเชื่อมั่น และความยั่งยืนทางการคลังของไทย
คณะเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินฯ เห็นด้วยกับการเปลี่ยนเป้าหมายเงินเฟ้อ จากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (core inflation) เป็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (headline inflation) เนื่องจากเห็นว่าจะช่วยให้สื่อสารกับสาธารณชนได้ง่ายขึ้น และเห็นว่านโยบายการเงินในปัจจุบันยังผ่อนปรนในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่อาจสามารถพิจารณาผ่อนคลายเพิ่มเติมหากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาด
นอกจากนี้ คณะเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินฯ สนับสนุนความตั้งใจของทางการในการกำกับดูแล ภาคการเงิน ผ่านการติดตามความเปราะบางที่อาจเกิดจากการขยายตัวของสินเชื่อ หนี้ครัวเรือน และ การดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) โดยสนับสนุนให้ทางการไทยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกรอบการดูแลเสถียรภาพการเงินอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังเห็นด้วยกับการให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยในการกำกับดูแล SFIs รวมทั้งการชักชวนให้สหกรณ์ออมทรัพย์เข้าเป็นสมาชิกของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ด้วย
ทั้งนี้ คณะเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินฯ เห็นด้วยกับนโยบายของทางการไทยในการเพิ่มผลิตภาพ การผลิต (productivity) โดยเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและสนับสนุนให้ย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษ(Special Economic Zone: SEZ)บริเวณชายแดน ที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ การเพิ่มอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงาน (labor participation rates) และการอำนวยความสะดวกให้กับแรงงานย้ายถิ่นเข้าประเทศ จะช่วยชดเชยผลกระทบด้านแรงงานจาก การปรับเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทยได้
หมายเหตุ: คำแปลอย่างไม่เป็นทางการจากแถลงการณ์ของคณะเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินฯ ในการนำเสนอ
ผลการประเมินภาวะเศรษฐกิจเบื้องต้นหลังการมาเยือนประเทศไทย ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในแถลงการณ์ทั้งหมดนี้เป็นของคณะเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินฯ ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการบริหารกองทุนการเงินฯ (Executive Board) แต่อย่างใด ทั้งนี้ คณะเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินฯ จะจัดทำรายงานผลการประเมินภาวะเศรษฐกิจ (staff report) ซึ่งเมื่อผ่านความเห็นชอบจากผู้บริหารของกองทุนการเงินฯ แล้ว จะนำเสนอต่อที่ประชุม Executive Board เพื่อหารืออย่างเป็นทางการต่อไป
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมการเงินระหว่างประเทศ โทร. 0 2356 7245 e-mail: [email protected]
ธนาคารแห่งประเทศไทย ข้อมูลเพิ่มเติม : ฝ่ายกำกับสถาบันการเงิน
โทรศัพท์ : 02-283-5828 , 02-283-6837 E-mail : [email protected]ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย