- Details
- Category: ธปท.
- Published: Friday, 30 January 2015 22:28
- Hits: 2814
ธปท.เผยเศรษฐกิจ ธ.ค.ฟื้นตัวอย่างช้าๆ เกินดุลบัญชีฯสูงทุบสถิติกดบาทแข็ง
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินในเดือน ธ.ค.57 ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเป็นไปอย่างช้าๆ แรงขับเคลื่อนหลักมาจากการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐ ขณะที่การใช้จ่ายภาคเอกชนแผ่วลงบ้างแม้ราคาน้ำมันที่ต่ำลงช่วยลดค่าครองชีพและต้นทุนการผลิต ทั้งนี้เพราะครัวเรือนยังระมัดระวังการใช้จ่าย ส่วนภาคธุรกิจรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการเริ่มลงทุนอย่างชัดเจนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันโลกที่ต่ำลงทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3
"ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ธ.ค.เกินดุลสูงสดเป็นประวัติการณ์จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ แต่ทำให้เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบภูมิภาค...ประมาณการเศรษฐกิจปี 58 ยังไม่ได้ปรับจากโต 4% เพราะถือว่าอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันกับคาดการณ์ของกระทรวงการคลัง"นายดอน กล่าว
ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4/57 มีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แรงขับเคลื่อนหลักมาจากการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งการเร่งเบิกจ่ายของภาครัฐในช่วงต้นปีงบประมาณ ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการฟื้นตัว ขณะที่การใช้จ่ายภาคเอกชนชะลอลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากธุรกิจยังรอประเมินความชัดเจนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐประกอบกับการใช้จ่ายของครัวเรือนขยาย ตัวในอัตราต่ำเพราะมีข้อจำกัดด้านรายได้ในภาคเกษตรและหนี้ที่อยู่ในระดับสูง แม้ราคาน้ำมันที่ต่ำลงช่วยลดค่าครองชีพได้บ้าง
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงและดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลเป็นผลจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงมาก ส่วนดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลจากการออกไปลงทุนโดยตรงของนักลงทุนไทยและการขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติ
*เดือน ธ.ค.ส่งออกฟื้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ธปท.ชี้แจงองค์ประกอบของภาวะเศรษฐกิจในเดือน ธ.ค.57 ว่า การส่งออกสินค้าฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป มีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่องจากตลาดสหรัฐฯที่เศรษฐกิจขยายตัวดี แต่อุปสงค์จากจีนชะลอตัว และราคาสินค้าส่งออกหลายหมวดปรับลดลงตามทิศทางราคาน้ำมันดิบ อาทิ ปิโตรเลียม ยางพารา และเคมีภัณฑ์ ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกทั้งปี 57 ยังหดตัวเล็กน้อยจากปีก่อน ด้านการนำเข้าสินค้าลดลงจากเดือนก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลจากราคาน้ำมันโลกลดลงและการชะลอปริมาณนำเข้าน้ำมันของโรงกลั่น เพราะคาดว่าราคาน้ำมันอาจลดต่ำลงอีก รวมทั้งการนำเข้าทองคำที่ลดลงมากหลังจากได้นำเข้าไปแล้วในช่วงที่ราคาในตลาดโลกอยู่ในขาลง
ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง เพราะนักท่องเที่ยวตลาดเอเชีย โดยเฉพาะจีนและมาเลเซียมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การเมืองของไทย และเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมากในช่วงก่อนเทศกาลปีใหม่ ช่วยชดเชยการลดลงของนักท่องเที่ยวตลาดอื่น โดยเฉพาะรัสเซียและญี่ปุ่นที่เผชิญกับการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจและการอ่อนค่าของเงินรูเบิลและเงินเยน
แรงกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐเพิ่มขึ้นในเดือนนี้ ตามการลงทุนและการซื้อสินค้าและบริการที่เร่งขึ้นมาก โดยเฉพาะการลงทุนในด้านชลประทาน การคมนาคมและการขนส่ง ขณะที่รายได้รัฐบาลเพิ่มขึ้นจากค่าใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 3G และการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีที่สะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน
การบริโภคภาคเอกชนลดลงจากเดือนก่อน โดยผลดีจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงยังส่งผ่านไปยังการใช้จ่ายภาคเอกชนไม่มาก เนื่องจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ทำให้ครัวเรือนชะลอการใช้จ่าย รวมถึงสถาบันการเงินยังคงระมัดระวังการให้สินเชี่อแก่ครัวเรือน ส่งผลให้การใช้จ่าย
สินค้าคงทนโดยเฉพาะการซื้อรถยนต์ยังไม่ฟื้นตัว และการซื้อสินค้าไม่คงทนชะลอตัวเล็กน้อย ขณะที่การใช้จ่ายหมวดบริการที่ปรับดีขึ้นส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
การลงทุนภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อน เนื่องจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศยังไม่ชัดเจน ประกอบกับความคืบหน้าในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐยังอยู่ในระยะเริ่มต้นการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตและการก่อสร้างในระยะนี้จึงยังมีไม่มากนัก แม้ว่าภาวะการเงินจะเอื้อต่อการลงทุน
การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมทรงตัวจากเดือนก่อน สอดคล้องกับการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ การผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัว โดยเฉพาะในหมวดแผงวงจรรวม (IC) และเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่การผลิตเพื่อขายในประเทศลดลงตามการผลิตเบียร์เพราะผู้ผลิตได้เร่งผลิตสินค้าบางส่วนไปแล้วในช่วงก่อนหน้า และการผลิตน้ำตาลเพราะวัตถุดิบอ้อยลดลงจากผลกระทบของภัยแล้ง
รายได้เกษตรกรที่หดตัวค่อนข้างมากจากระยะเดียวกันปีก่อนเป็นปัจจัยลดทอนการบริโภคของครัวเรือน โดยรายได้เกษตรกรที่ลดลงเป็นผลจากพืชสำคัญ 2 ชนิด คือ ยางพาราที่ประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ได้แก่ จีน และมาเลเซีย ลดคำสั่งซื้อตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับราคายางพาราถูกกดดันเพิ่มเติม
จากราคาน้ำมันโลกที่ลดลงเพราะสามารถใช้เป็นสินค้าทดแทนกันได้ และข้าวที่ราคาลดลงหลังสิ้นสุดโครงการรับจำนำของรัฐบาล ขณะที่ราคาพืชพลังงานทดแทนต่างๆ ทั้งปาล์มน้ำมัน อ้อย และมันสำปะหลังได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันไม่มากนัก
เสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดีทั้งด้านในประเทศและด้านต่างประเทศ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ราคาน้ำมันโลกที่ปรับลดลงมากช่วยให้อัตราเงินเฟ้อลดลงและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สำหรับดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลตามการออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของ
นักลงทุนไทยและการขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติ โดยรวมดุลการชำระเงินสมดุล ขณะที่เงินสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ระยะสั้นอยู่ในเกณฑ์มั่นคง
อินโฟเควสท์