- Details
- Category: ธปท.
- Published: Thursday, 29 January 2015 00:07
- Hits: 3172
มติ กนง. 5 : 2 คงดอกเบี้ยนโยบาย ที่ 2% หลังมองระดับดังกล่าวยังผ่อนปรนต่อการขยายตัวทาง ศก. -ไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน
มติ กนง. 5 : 2 คงดอกเบี้ยนโยบาย ที่ 2% หลังมองระดับดังกล่าวยังผ่อนปรนต่อการขยายตัวทาง ศก. -ไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน พร้อมระบุ ใช้มาตรการ ดบ. เป็นเครื่องมือสุดท้ายในการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย ลั่นยังไม่พบสัญญาณฟองสบู่ภาคอสังหาฯ ส่วนหนี้ครัวเรีอนเห็นสัญญาณชะลอตัวลง จากศก.ฟื้น
นายเมธี สุภาพงษ์ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมกนง. ในวันที่ 28 มกราคม 2558 ดังนี้ คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงคงให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.00 ต่อปี โดย 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ต่อปี
ประเด็นที่คณะกรรมการฯ ให้ความสำคัญในการตัดสินใจนโยบาย มีดังนี้
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 ฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยเป็นผลจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น ช่วยชดเชยอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดเล็กน้อยในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะยังมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมากจะช่วยให้การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศเข้มแข็งขึ้น อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกยังมีอยู่ ทั้งจากการฟื้นตัวช้าของคู่ค้าสำคัญหลายประเทศ ปัญหาการเมือง และการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศหลักที่มีทิศทางแตกต่างกันซึ่งอาจทำให้ตลาดการเงินโลกมีความผันผวน
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงตามราคาพลังงาน และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะหลุดขอบล่างของกรอบเป้าหมายในปีนี้ แต่ไม่ถือเป็นภาวะเงินฝืด เพราะอุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวและราคาสินค้าส่วนใหญ่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำมันไม่ได้ปรับลดลง ซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัว อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มจะปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ตามแนวโน้มราคาน้ำมันโลกเมื่ออุปทานและอุปสงค์ทยอยปรับตัวเข้าสู่สมดุล เสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามคุณภาพของสินเชื่อครัวเรือนและการปรับตัวของราคาสินทรัพย์
ทั้งนี้ ในการตัดสินของคณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.00 ต่อปี นโยบาย นั้น กรรมการส่วนใหญ่ประเมินว่านโยบายการเงินปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ผ่อนปรนเพียงพอต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อีกทั้งการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงิน ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องมานานและตลาดการเงินโลกมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น อย่างไรก็ดี กรรมการ 2 ท่านเห็นว่านโยบายการเงินควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเพิ่มเติม ในช่วงที่ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกมีมากขึ้น แรงกระตุ้นจากภาคการคลังยังต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผลชัดเจน และอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำมากไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับสูงขึ้น
ในระยะต่อไป กรรมการเห็นพ้องถึงความจำเป็นที่นโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างชัดเจน ทั้งนี้ กรรมการจะติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเงินของไทยอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมต่อไป
สำหรับ การดูแลความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย หลังจากหลายฝ่ายมีความกังวลจากกรณีที่ธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ QE นั้น นายเมธี กล่าวว่า กนง.ยืนยันจะใช้มาตรการเรื่องนโยบายด้านดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือสุดท้ายในการเนื่องจาก กนง.มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธปท. มีมาตรการในการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายหลายมาตรการอยู่แล้ว ซึ่งคาดว่าจะเลือกนำมาใช้ตามความเหมาะสม
"ในที่ประชุมกนง.มีการพูดถึงการใช้มาตรการดอกเบี้ย แต่มองว่าน่าจะเป็นมาตรการสุดท้ายมากกว่า ส่วนมาตรการอื่นๆในการดูแลคงไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่อย่างไรก็ตามกนง.จะติดตามสถานการณ์ต่างๆอย่างใกล้ชิด" นายเมธี กล่าว
ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายห่วงเรื่องการเข้ามาเก็งกำไรค่าเงิน มองว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญเนื่องจากการไหลเข้าออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายขณะนี้ยังปกติ ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบันยังเคลื่อนไหวไปตามปัจจัยพื้นฐาน ส่วนค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงน้อยกว่าสกุลอื่นๆในภูมิภาคและอาจส่งให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันนั้น ขณะนี้ได้มีการติดตามดูในเรื่องของดัชนีค่าเงินและมีการเทียบกับสกุลอื่นๆในภูมิภาค ซึ่งยืนยันว่าค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวตามปัจจัยพื้นฐาน และมองว่าอัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้มีผลมากนักในเรื่องของการส่งออก
ขณะที่สถานการณ์ภาคอสังหาริมทรัพย์ นั้น ขณะนี้ยังไม่พบสัญญาณฟองสบู่ในภาคอสังหาฯตามที่หลายฝ่ายกังวล แม้จากการลงพื้นที่จะพบว่าเริ่มเห็นบางโครงการตามหัวเมืองจะไม่สามารถจบโครงการได้ แต่ในโครงการในกทม.และปริมณฑลยังเดินหน้าได้ปกติ แต่อย่างไรก็ตามธปท.จะติดตามสถานการณ์ต่างๆอย่างใกล้ชิดต่อไป
ส่วนปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนในปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวลง เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวการบริโภคเริ่มปรับตัวดีขึ้น