WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ธปท.ห่วงหนี้ครัวเรืองพุ่งเตือนแบงก์พาณิชย์เพิ่มสำรองติดตามอย่างใกล้ชิด

     บ้านเมือง : แบงก์ชาติ ห่วงหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ครัวเรือนเพิ่มหลังเศรษฐกิจชะลอตัว หลังพบสัญญาณชัดสินเชื่ออุปโภคบริโภคพุ่ง สั่งแบงก์พาณิชย์เพิ่มการกันสำรองหนี้สูญและเน้นดูแลติดตามหนี้อย่างใกล้ชิด ขณะที่กสิกรไทยคาด ธปท.จะคงดอกเบี้ยนโนยบายที่ระดับเดิมอีกระยะ ระบุจากนี้ทิศทางดอกเบี้ยจึงจะเป็นขาขึ้น

      นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า ธนาคารพาณิชย์ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ทำให้สินเชื่อชะลอลงโดยโตเพียงร้อยละ 5 ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2557 และคุณภาพสินเชื่อด้อยลงบ้าง โดยระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ขยับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.15 ในปี 2556 เป็นร้อยละ 2.34 ในไตรมาส 3 ปี 2557 โดยเฉพาะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.20 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.65 ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอลง แต่ ธปท.ได้ให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มการกันสำรองให้มากขึ้นโดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 1.35 เท่าต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ดังนั้นจึงมีเพียงพอสำหรับการดูแลคุณภาพหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ อย่างไรก็ตามไตรมาส 1/58 ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ยังเพิ่มขึ้น แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นตัว และคาดทรงตัวในปีนี้

   "ธปท.ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงเรื่องคุณภาพสินเชื่อรายย่อยและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคในประเทศที่อาจด้อยลงจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเต็มที่ รวมทั้งความกังวลต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีความผันผวนเพราะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวเปาะบาง และนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศหลักมีแนวโน้มแตกต่างกัน" นางทองอุไร กล่าว

     ส่วนในปี 2558 ที่คาดการณ์ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ร้อยละ 4 ทำให้ธนาคารพาณิชย์จะสามารถสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายการให้สินเชื่อโตร้อยละ 7 โดยสินเชื่อธุรกิจที่จะขยายตัวได้ดี คือ ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และสาธารณูปโภค ซึ่งธนาคารพาณิชย์จะมุ่งสู่การเป็นดิจิตอลแบงกิ้ง ลดต้นทุนของธนาคาร ขยายฐานลูกค้า รายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นจากปริมาณธุรกรรมที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ต้องเพิ่มการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและป้องกันการทุจริต

    นอกจากนี้ ธปท.ได้ทำการทดสอบภาวะวิกฤติ เพื่อประเมินฐานะและความมั่นคงของธนาคารพาณิชย์ พบว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยมีเงินกองทุนเพียงพอที่จะรองรับภาวะวิกฤติได้ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่ขยายตัว 2 ปีติดต่อกัน แต่ธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงสูงถึงร้อยละ 14.8 และหากเศรษฐกิจได้รับผลกระทบในเชิงลบจนประเทศถูกลดอันดับลง เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงก็ยังสูงถึงร้อยละ 13.9 เมื่อเทียบกับปี 2556 ที่อยู่ที่ร้อยละ 15.6

    นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวในงานสัมมนา "จับตาภาวะเศรษฐกิจปีมะแม 2558" ว่า คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอดปีไว้ที่ร้อยละ 2 ต่อปี ซึ่งเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่จะขยายตัวได้ จากนั้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย น่าจะอยู่ในช่วงขาขึ้น และจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุน การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.เอาไว้จะสอดคล้องกับการที่ธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB และธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ ที่ยังคงอยู่ในช่วงของการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งญี่ปุ่นยังคงพิมพ์แบงก์ออกมา ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปมีแนวโน้มที่จะออกมาตรการ QE ชุดใหม่ แต่ต้องจับตาธนาคารกลางสหรัฐหรือ FED อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาสที่ 3 ปีนี้

     ขณะที่ค่าเงินบาทคาดว่าสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 34.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเกาะกลุ่มกับเงินหยวนของจีน ส่วนราคาน้ำมันที่ปรับลดลง จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นเท่านั้น

     ส่วนทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 58 ประเมินว่า ตลอดปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 3.5 ขณะที่การส่งออกตลอดปีจะขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 3 เป็นผลจากราคาน้ำมันลดลง ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อลดลงโดยจะอยู่ที่ ร้อยละ 1-1.5

      อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน รองผู้ว่าการด้านบริหาร ธปท. และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ การลดดอกเบี้ยเพื่อลดต้นทุนการเงิน ไม่ได้ช่วยให้ภาคเอกชนอยากลงทุนเพิ่ม เนื่องจากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยไม่ได้เป็นอุปสรรคในการลงทุน ระดับดอกเบี้ยในปัจจุบันที่ 2% สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอยู่แล้ว เพียงแต่คนออมเงินคงเหนื่อยหน่อย ซึ่งประเด็นนี้ กนง.ก็กังวลอยู่บ้างว่าดอกเบี้ยต่ำจะไปสร้างการเก็งกำไรในตลาดหุ้นหรือตลาดอสังหาริมทรัพย์ หรือภาคส่วนอื่นหรือไม่ ยังต้องติดตามดู แต่ที่ผ่านมาปัญหาที่ว่ายังไม่อยู่ในระดับที่น่าห่วง

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!