- Details
- Category: ธปท.
- Published: Tuesday, 27 December 2022 20:45
- Hits: 3297
8 ทศวรรษธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมรับมือความท้าทายภายใต้บริบทใหม่
ในฐานะธนาคารกลางที่กำกับดูแลเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงิน และสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ก้าวข้ามผ่านความท้าทายมาหลายครั้ง ซึ่งถือเป็นหมุดหมายที่สำคัญและตอกย้ำความเป็นสถาบันของแบงก์ชาติที่ยังยืนหยัดต่อไปได้อย่างมั่นคง ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กลับมานั่งคุยในคอลัมน์ Governor's Talk อีกครั้ง เพื่อเล่าถึงคุณค่าและหลักการสำคัญที่แบงก์ชาติยึดถือ รวมถึงกระบวนการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขของตลาดที่ไม่เคยหยุดนิ่ง และดูท่าจะผันผวนมากขึ้นอีกนับจากนี้
Q : ธปท.เป็นองค์กรที่ก่อตั้งมานานถึง 80 ปีแล้ว ในมุมมองของ ดร.เศรษฐพุฒิ มีอะไรที่ต้องปรับเปลี่ยน อะไรที่ยังคงเดิม และต้องรักษาเอาไว้บ้าง
"สิ่งที่ ธปท. ยังไม่เปลี่ยนคือหน้าที่หลักในการดูแลเสถียรภาพ ทั้งเสถียรภาพด้านราคา สถาบันการเงิน และระบบการชำระเงิน ซึ่งถือเป็นแก่นของเราที่ไม่เคยเปลี่ยน แต่รูปแบบการทำงานเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ต้องเปลี่ยนเพื่อให้ทำภารกิจได้ตามเป้าหมาย อย่างเรื่องเสถียรภาพราคา จากเดิมที่เราใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเป้าหมาย หลังวิกฤตปี 2540 เราก็หาตัวยึดเหนี่ยว (nominal anchor) ตัวใหม่ จึงปรับไปใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (inflation targeting framework) ซึ่งก็ยังถูกปรับเปลี่ยนแนวทางการนำมาใช้ ให้เหมาะกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจการเงินมาอย่างต่อเนื่อง
"อย่างเรื่องเสถียรภาพสถาบันการเงิน เดิมเราจะเน้น microprudential regulation ดูรายละเอียดเป็นรายสถาบัน อันนี้ก็ยังทำอยู่ แต่ตอนนี้ทั้งโลกเห็นความสำคัญของ macroprudential regulation ด้วย คือดูเป็นภาพรวมทั้งระบบ ตอนนี้สถาบันการเงินแต่ละที่มีความเข้มแข็งกันหมด แต่อาจจะมีปัจจัยความเสี่ยงที่แฝงอยู่ เช่น สมมติเกิดมีปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ตอนสถานการณ์ปกติ หลักประกันของแบงก์ก็ยังดูดี แต่จริงๆ อาจมีปัญหาที่ฝังลึกอยู่และอาจส่งผลกระทบในวงกว้าง หรือการดูความเชื่อมโยงจากอุตสาหกรรมอื่นกับกลุ่มธนาคาร
อย่างเช่นบริษัทหลักทรัพย์หรือบริษัทประกันภัยที่อาจส่งผลกระทบกับสถาบันการเงินได้ ซึ่งทำให้เราต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ อย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) อย่างใกล้ชิดขึ้น นี่เป็นการทำงานที่เปลี่ยนไป แต่แก่นเรื่องการดูแลสถาบันการเงินเราไม่ได้เปลี่ยน
"ส่วนเรื่องระบบการชำระเงิน ผมว่าเห็นความเปลี่ยนแปลงชัดที่สุด จากเดิมถ้าพูดถึงระบบการชำระเงิน เราจะคิดถึงแต่เงินสด ตู้เอทีเอ็ม หรือการใช้บัตรเครดิต แต่ตอนนี้คนหันมาใช้พร้อมเพย์ และ mobile banking กันมากขึ้นชัดเจน การดูแลก็ต้องปรับให้เหมาะสม ให้ครอบคลุมผู้ให้บริการและผู้ใช้งานทุกกลุ่ม
"เรื่องความเปลี่ยนแปลงเราต้องแยกกันให้ได้ว่าเป็น 'แก่น' หรือ 'กระแส' อย่างช่วงหลังๆ มีเรื่องนวัตกรรมทางการเงินเข้ามาเยอะ แต่เราก็ต้องดูว่านวัตกรรมเหล่านั้นมันตอบโจทย์และมีประโยชน์ที่ชัดเจน และต้องชั่งน้ำหนักประโยชน์ของนวัตกรรมกับความเสี่ยงต่อเสถียรภาพ ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของเราด้วย"
Q : ดังนั้นถ้ามีคนถามว่าแบงก์ชาติของเราก้าวทันโลก ก้าวทันตลาดหรือไม่ ก็น่าจะตอบว่าทันแน่นอน ?
"ผมคิดว่า เราไม่ได้ล้าหลังในหลายเรื่อง เราติดตามบางอย่างที่ต่างประเทศทำกัน แต่บางเรื่องเราก็ไม่ได้ตามเขา ตัวอย่างที่ชัดเจนคือเรื่องดิจิทัลที่เราทำได้ดี อย่างเรื่องพร้อมเพย์ที่โตเร็วมากถ้าเทียบกับต่างประเทศ หรือนวัตกรรมอื่น ๆ เช่น การชำระเงินระหว่างประเทศ (cross-border payment) เราก็มีการเชื่อมโยงที่เยอะที่สุดในอาเซียน เราเป็นประเทศแรกในโลกคู่กับสิงคโปร์ที่ทำระบบ fast payment ผ่านโครงการ PromptPay-PlayNow ซึ่งเป็นการเชื่อมพร้อมเพย์ของเรากับ PayNow ของสิงคโปร์
"ส่วน นวัตกรรมสกุลเงินดิจิทัลโดยธนาคารกลาง (CBDC) เราก็ได้ศึกษาทดสอบไปพอสมควรทั้ง wholesale CBDC (สำหรับสถาบันการเงิน) และ retail CBDC (สำหรับประชาชนทั่วไป) ตอนนี้เรามองว่าที่จะเป็นประโยชน์คือการใช้ wholesale CBDC เพื่อช่วยแก้ปัญหาต้นทุนการชำระเงินข้ามประเทศ ตอนนี้เรามีโครงการ mBridge ที่ร่วมกับฮ่องกง จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
รวมทั้งธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ด้วย[1] mBridge เป็น 1 ใน 3 โครงการในโลกที่ดำเนินการเรื่องนี้ในปัจจุบัน เราจึงเป็น 1 ใน 10 ของธนาคารกลางที่เข้ามาทำ และมีธนาคารกลางประเทศอื่นขอเข้ามาสังเกตการณ์ด้วย ดังนั้น ผมตอบได้เลยว่าเราไม่ล้าหลัง แต่เราไม่ได้เน้นแค่เรื่องทันการณ์ทันสมัยจนไม่ตอบโจทย์ประเทศ ซึ่งต้องดูความต้องการและความเสี่ยงต่างๆ ให้รอบคอบด้วย"
Q : ในช่วงที่ผ่านมา วิกฤตที่ใหญ่มากของโลก คือ โควิด 19 ระหว่างนั้นก็มีวิกฤตซ้อนอยู่ในวิกฤตอีก แบงก์ชาติจัดการอย่างไร และปรับตัวเพื่อรับมือกับวิกฤตที่ผ่านมาอย่างไร
"ไม่ใช่เฉพาะ ธปท. แต่ทุกภาคส่วนช่วยกันแก้ปัญหาและคิดว่าทำได้ดีในระดับหนึ่ง แต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเราช้าเพราะได้รับผลกระทบหนักกว่าหลายประเทศ ที่เห็นชัดคือภาคการท่องเที่ยวที่ก่อนโควิด 19 มีนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนต่อปี ลดเหลือไม่กี่แสนคน นักท่องเที่ยว 40 ล้านคนมีการใช้จ่ายอยู่ที่ 12% ของจีดีพี มีผลประโยชน์ทางอ้อมจากการจ้างงานคนจำนวนมากถึง 1 ใน 5 ของแรงงานทั้งประเทศ เมื่อตรงนี้หายไป ผลกระทบต่อการจ้างงานและจีดีพีจึงสูงมาก แต่นโยบายต่างๆ ที่ออกไปก็ช่วยลดผลกระทบได้มาก จากที่คาดว่าปีแรกจีดีพีจะติดลบไปเกือบ 10% สุดท้ายก็ติดลบ 6% ซึ่งสะท้อนว่าการดำเนินนโยบายในภาพรวมมาถูกทางแล้ว
"บทบาทระหว่างภาคการเงินและภาคการคลัง เราประสานงานและแบ่งหน้าที่กันได้ดี ในช่วงวิกฤตของทุกประเทศ พระเอกจะเป็นนโยบายการคลังที่เข้ามาช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เราเห็นการขาดดุลการคลังและหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นเป็นเรื่องปกติ แรงกระตุ้นที่ได้จากนโยบายการคลังนี่เองที่พยุงภาพเศรษฐกิจให้ไม่หนักไปกว่านี้
"ส่วนภาคการเงิน ธปท. ก็เล่นบทบาทของเรา สิ่งที่ทำให้นโยบายของประเทศออกมาโดยรวมแล้วค่อนข้างมีประสิทธิภาพคือ 'การจัดลำดับความสำคัญ' ซึ่งสำหรับภาคการเงิน สิ่งสำคัญที่สุดก็คือต้องทำให้แน่ใจว่าระบบการเงินยังทำงานได้ใกล้เคียงปกติที่สุด
"โดยปกติเมื่อเศรษฐกิจเจอวิกฤต กลไกการปล่อยสินเชื่อก็จะเริ่มไม่ทำงาน เศรษฐกิจหดตัว สินเชื่อก็จะหดตัว ถ้าเราปล่อยให้เป็นแบบนั้นผลกระทบก็จะหนักมาก คนเดือดร้อนจะไม่มีสภาพคล่อง สิ่งแรกที่เราต้องทำคือทำให้กลไกนี้ยังทำงานต่อไปได้ปกติหรือใกล้เคียงปกติที่สุด ซึ่งถ้าดูตัวเลขของสินเชื่อโดยรวมในระบบสถาบันการเงินของเราในช่วงวิกฤต ก็โตในอันดับต้น ๆ ของภูมิภาคและเป็นระดับที่น่าพอใจ กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ก็ต้องทำให้เหมาะสม เพื่อให้สถาบันการเงินเล่นบทบาทหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจต่อไปได้
"เราเข้าไปจัดการกับช่องว่างที่ยังมีอยู่ อย่างเช่นการกระจายตัวของสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าถึงสินเชื่อไม่ได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมานานแล้ว สินเชื่อกลุ่มนี้หดตัวมาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด 19 ด้วยซ้ำ พอมีมาตรการทั้ง soft loan และสินเชื่อฟื้นฟูก็สามารถใส่เงินเข้าไปในระบบได้ประมาณ 350,000 ล้านบาท ทำให้สินเชื่อ SMEs จากที่หดตัว กลับมาเติบโตได้อีกครั้ง
"นอกจากการจัดลำดับความสำคัญแล้ว เรายังเน้นไปที่การจัดการและการทำให้เกิดผลสำเร็จ (implementation) ผมย้ำกับทีมเรื่องการออกมาตรการที่ได้ผลจริง มีเป้าหมายที่ชี้วัดได้ การทำงานต้องยืดหยุ่นและทำให้เกิดขึ้นได้จริง อะไรที่ต้องแก้เพื่อให้ทำงานดีขึ้นก็ต้องทำ อย่าไปยึดติด อย่างสินเชื่อฟื้นฟูก็เกิดจากการปรับปรุงมาตรการเดิมเพื่อให้ธุรกิจรายเล็กเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยมีอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินยอมรับความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อนั้นได้ด้วย นโยบายการเงินต้องปรับและผ่อนปรนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ อย่างตอนนี้เงินเฟ้อสูงขึ้น เราก็ไม่ได้เหยียบคันเร่งแบบตอนเกิดโควิด 19 ใหม่ ๆ แล้ว ก็พยายามปรับเข้าสู่สมดุลมากขึ้น การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เราก็ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เหมาะสมกับโจทย์ของประเทศ"
Q : การขึ้นดอกเบี้ยของเราที่ผ่านมา ไม่ได้ behind the curve?
"ก่อนหน้านี้มีกระแสว่าเราขึ้นดอกเบี้ยน้อยไป ช้าไปหรือเปล่า ก็ต้องกลับมาดูว่าการจะดำเนินนโยบายอะไร ก็ต้องให้เหมาะสมกับบริบทของเรา บางประเทศขึ้นทีละ 0.75% แต่บริบทเขาต่างจากเรามาก อย่างแรกเลยคือ เศรษฐกิจของเขาฟื้นแล้ว อุปสงค์ของเขาฟื้นและร้อนแรง ค่าจ้างแรงงานและเงินเฟ้อสูง ส่วนเศรษฐกิจเราฟื้นช้า ทุกวันนี้ยังกลับมาไม่ถึงช่วงก่อนโควิด 19 รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง จะไปขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงเหมือนเขาก็ไม่ได้ โอกาสในการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเราอาจจะสะดุด
"ลักษณะรูปแบบเงินเฟ้อก็ต่างกัน เงินเฟ้อของเรามาจากฝั่งอุปทาน เป็นเรื่องของราคาพลังงานและอาหารสดเป็นหลัก แต่ของประเทศที่ขึ้นดอกเบี้ยแรง ๆ สาเหตุมาจากความร้อนแรงฝั่งอุปสงค์ เขาเลยต้องเหยียบเบรกแรง เราไม่ได้อยู่ในบริบทนั้น ซึ่งก็เห็นว่าเงินเฟ้อทั่วไปของเราเริ่มลดลงจาก 7.9% มาเป็น 5.9%[2] ซึ่งยังสูงกว่าที่เราอยากเห็น แต่แนวโน้มคือลดลงแล้ว เงินเฟ้อเราไม่หนืดเหมือนอีกหลายประเทศ"
Q : ในช่วงต่อจากนี้จะมีทั้งเรื่องเลือกตั้ง ภูมิรัฐศาสตร์ โครงสร้างเศรษฐกิจ แบงก์ชาติประเมินความท้าทายของเศรษฐกิจไทยจากนี้อย่างไร
"ความท้าทายระยะสั้นมีมากกว่าที่เคยประเมินไว้ ที่ผมอยากจะเน้นคือภาพรวมของเศรษฐกิจโลกปี 2566 จะมีความท้าทายจากความผันผวนไม่น้อย จะเกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือจีน ที่คนก็รอดูว่าจะเป็นอย่างไรกันต่อ เงินเฟ้อก็ยังเป็นตัวกดดันการทำงานของธนาคารกลางทั้งโลก ตัวเลขเงินเฟ้อโลกไม่ได้ลงมาง่าย ๆ ค่อนข้างหนืดทีเดียว เลยทำให้หลายประเทศต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับที่เร็ว แรง และนานกว่าที่ตลาดคาดไว้
"สำหรับ ผมเรื่องที่ท้าทายมากกว่าคือ เสถียรภาพทางการเงิน (financial stability) ซึ่งน่ากังวลกว่าเดิมจากสัญญาณต่าง ๆ ที่เริ่มเห็นกันบ้างแล้ว ว่าเกิดปัญหาลักษณะน้ำลดตอผุด จากเดิมที่สภาพคล่องเยอะ ดอกเบี้ยต่ำ ครั้งนี้ประเทศหลัก ๆ ขึ้นดอกเบี้ย (น้ำลด) เร็วกว่าที่คิด และก็เห็นตอหรือปัญหามากกว่าที่เคยประเมินไว้ แต่ก็ไม่คิดว่าจะเกิดวิกฤตการเงินโลกขนาดปี 2551 เพราะฝั่งสถาบันการเงินยังดูแข็งแรงดี แต่คราวนี้ปัญหาไปเกิดตรงจุดที่เราไม่ได้คาดไว้ อย่างเช่นตลาดพันธบัตรของสหราชอาณาจักร หรือในตลาดพันธบัตรของสหรัฐอเมริกา ซึ่งถูกมองว่าเป็นตลาดที่ใหญ่และปลอดภัยที่สุด สัญญาณเหล่านี้สะท้อนโอกาสที่เราจะเห็นการสะดุดในตลาด ถ้ามองในภาพรวมของโลก การฟื้นตัวจึงไม่ได้ราบรื่น
"แต่ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจของไทยจะยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง คิดว่าปี 2566 จะโตมากกว่า 3% และสูงกว่าปีนี้ด้วย เพราะแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจยังมี ปกติเมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง การส่งออกก็จะชะลอลงด้วย ปีหน้าการส่งออกของบ้านเราอาจได้รับผลกระทบเยอะจนน่าจะโตเพียง 1% แต่ตัวขับเคลื่อนคือการบริโภคภายในประเทศและการท่องเที่ยวที่แนวโน้มยังเติบโตได้ดี อย่างรายได้ของคนไทยก็อยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น และนักท่องเที่ยวก็กลับมามากกว่าที่คาดไว้ เดิมมองว่าปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวมา 6 ล้านคน ตอนนี้ก็ปรับเพิ่มอีกอาจเป็น 10 ล้านคน คนยังอยากเดินทางมาเที่ยวไทย เพราะประเทศเราน่าเที่ยว ค่าใช้จ่ายไม่แพง แม้เขาอาจจะใช้จ่ายไม่มากเท่าเดิม แต่ก็ยังจะช่วยพยุงเศรษฐกิจเราให้ไปต่อได้
"อีกเรื่องที่สำคัญคือการดำเนินนโยบายที่เหมาะสมทั้งการเงินและการคลัง ซึ่งต้องคำนึงเรื่องผลกระทบต่อเสถียรภาพ ตอนนี้ตลาดการเงินของโลกค่อนข้างอ่อนไหว ประเทศไหนที่ดำเนินนโยบายไม่เหมาะสมก็สุ่มเสี่ยงที่จะเจอผลกระทบรุนแรงตามคำกล่าวที่ว่า 'market will punish bad policies' ตอนนี้นักลงทุนเขาให้น้ำหนักเรื่องเสถียรภาพการเงินการคลังของประเทศมากกว่าความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยซ้ำ ตอนนี้มีบทเรียนที่ค่อนข้างชัดเจนจากต่างประเทศอยู่แล้ว เราจึงไม่ควรทำนโยบายแปลก ๆ ที่หวังผลระยะสั้น หรือนโยบายประชานิยม และควรมองผลกระทบในระยะยาวเป็นสำคัญ นโยบายเหล่านี้ไม่ได้แก้ไขปัญหา มีผลข้างเคียง และยังอาจทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเราสะดุดได้"
Q : แล้วความท้าทายในระยะยาวจะเป็นอย่างไร
"ความท้าทายระยะยาวที่ใหญ่มากๆ สำหรับ โลกคงหนีไม่พ้นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ในปีที่ผ่านมา เราเห็นความเสียหายมหาศาลจากน้ำท่วมในหลายประเทศ นี่ไม่ใช่แค่ตัวเลขจีดีพี แต่เรื่องนี้เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของมนุษย์ ส่วนความท้าทายที่ใหญ่ในลำดับถัดมาคือ ภูมิรัฐศาสตร์ โลกมีสัญญาณการแบ่งขั้ว แต่มองหาผลลัพธ์หรือบทสรุปยากมาก ไทย และอีกหลายประเทศในโลกเติบโตมาจากกระแสโลกาภิวัตน์ พอเริ่มมีการแบ่งฝ่ายแล้วเราจะปรับตัวอย่างไรในฐานะที่เป็น supply chain ที่ทำการค้ากับหลายประเทศ
"ความท้าทายระยะยาวที่เราน่าจะรับมือได้ คือ การสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ดูจากภาพรวมเศรษฐกิจของเราแล้วเราโตมาจากอุตสาหกรรมเดิมๆ ซึ่งเริ่มถึงจุดอิ่มตัว ถ้าคิดแบบเดิม ความสามารถในการสร้างรายได้แบบเดิมนั้นไม่พอ เลยต้องสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่คิดอะไรใหม่ๆ หน้าที่ของรัฐคือ สร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้เกิดสิ่งใหม่ ความท้าทายของ ธปท. เป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนา เดิมเราคิดว่าโครงสร้างพื้นฐานคือถนนหนทาง แต่โครงสร้างพื้นฐานสมัยใหม่ยังหมายรวมถึงระบบดิจิทัล จุดประสงค์ไม่ต่างกัน คือ ทำไว้เพื่อให้คนเข้าถึงง่ายขึ้น สร้างโอกาสให้เกิดของใหม่ๆ"
Q : ถ้าอย่างนั้นแบงก์ชาติจะปรับการทำงานอย่างไรในโลกที่มีบริบทใหม่
"เราต้องมีสิ่งที่เรียกกันภายใน ว่า 'หางเสือ' เพื่อเตือนว่า นี่คือ ทิศทางที่เราต้องไป มี 4 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรกจะตอบโจทย์ความท้าทายระยะสั้นคือ ทำอย่างไรให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศราบรื่น เราต้องใช้นโยบายที่เหมาะสม จะเห็นได้จากการปรับมาตรการทางการเงินให้เข้าสู่ระดับปกติ ไม่ได้ทำมาตรการที่เป็นยาแรงและปูพรมแล้ว ปรับเป็นมาตรการที่เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น
"เรื่องที่สอง คือต้องทำให้การฟื้นตัวเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง ตอนนี้ปัญหาที่สำคัญคือหนี้ครัวเรือนซึ่งเราก็พยายามแก้ไขมาโดยตลอด เดิมมีมาตรการพักหนี้ในวงกว้างเพราะล็อกดาวน์กระทบทั้งประเทศ แต่ก็ทำได้แค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เราต้องแก้ปัญหาอย่างตรงจุดและยั่งยืน เราต้องมองไปข้างหน้าและแก้ปัญหาแบบครบวงจรด้วย กระบวนการทำงานจึงคิดตั้งแต่ก่อนการก่อหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ ไปจนถึงหนี้ที่มีปัญหา
"อย่างระยะก่อนเป็นหนี้ เราส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ทางการเงินเพียงพอที่จะบริหารจัดการได้ มีคนไม่น้อยที่เข้าไม่ถึงความรู้ทางการเงินพื้นฐาน อย่างการเปรียบเทียบภาระดอกเบี้ยและความเร่งด่วนในการชำระหนี้แต่ละก้อน เพื่อแก้ปัญหาให้ได้อย่างยั่งยืน เราก็ไปจับมือกับหน่วยงานอื่นๆ อย่างกระทรวงศึกษาธิการ ทำโครงการให้ความรู้ทางการเงินที่เจาะกลุ่มนักศึกษาอาชีวะชื่อ Fin. ดี We Can Do!!! หรือจับมือกับบริษัทเอกชนทำโครงการ Fin. ดี Happy Life!!! สำหรับกลุ่มคนทำงาน เพราะถ้าการเงินดี ชีวิตก็จะดีด้วย
"เรื่องที่สามคือความยั่งยืน โดยเฉพาะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยเราติด 1 ใน 10 ของประเทศที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากภาวะโลกร้อน แล้วแรงงาน 1 ใน 3 ของเราอยู่ในภาคการเกษตร ถ้าเจอทั้งน้ำท่วม ฝนแล้งตลอดก็มีปัญหา ยังมีประเด็นเรื่องสังคมเมือง พื้นที่อุตสาหกรรม หรือโครงสร้างเศรษฐกิจที่เราพึ่งพาการท่องเที่ยวเยอะ ก็จะได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ด้วย ภาคการเงินก็ต้องมีบทบาทคือไม่เป็นอุปสรรคและต้องส่งเสริมเรื่องความยั่งยืนในประเทศไทย องค์กรใหญ่ๆ เขาตระหนักเรื่องนี้ค่อนข้างดีอยู่แล้ว แต่ SMEs ยังเหนื่อยจากโควิด 19 อยู่ อาจจะยังรับมือและเตรียมพร้อมเรื่องนี้ไม่ไหว ธปท. ก็ต้องมีส่วนช่วยเรื่องการเปลี่ยนผ่านของพวกเขาอย่างเป็นระบบ ควรมีมาตรฐานกลางเพื่อชี้วัดได้อย่างชัดเจน ซึ่งเราก็ผลักดันเรื่องมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมหรือ taxonomy มาได้สักระยะแล้ว
"ส่วนเรื่องที่สี่ คือการพัฒนาระบบดิจิทัล โจทย์สำคัญคือการวางโครงสร้างพื้นฐานที่ตอบโจทย์และช่วยสร้างโอกาสใหม่ เราได้ปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคออกไปพอสมควร ภูมิทัศน์ทางการเงินที่เราอยากเห็นคือ open infrastructure หรือระบบการชำระเงินที่เปิดให้ผู้เล่นรายใหม่ เช่น non-bank เข้ามาสร้างนวัตกรรม และความเท่าเทียม open data คือการเข้าถึงข้อมูลเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากข้อมูลของตนเองรวมทั้งลดทอนขั้นตอนต่างๆ ลงได้ และ open competition เปิดให้ผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแข่งขันได้มากขึ้น อย่างเรื่อง virtual banking
"นอกจากนี้ ในปี 2566 เราก็จะทดลองใช้ retail CBDC สำหรับประชาชนเพื่อให้ได้เรียนรู้และเข้าใจทั้งในแง่เทคนิคและการใช้งาน เมื่อพร้อมก็จะนำไปใช้จริง ข้อดีของ CBDC ที่ต่างจากพร้อมเพย์คือสามารถใส่เงื่อนไขสำหรับการชำระเงิน หรือโอนเงินให้ประชาชนในกรณีเป็นโครงการของภาครัฐ เพื่อให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของผู้ออกนโยบายได้ และเราอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการ PromptBiz ที่จะเข้ามาลดต้นทุนการทำธุรกิจและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อให้ SMEs"
Q : แบงก์ชาติจะมีรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปอย่างไร มีกลุ่มใหม่กลุ่มใดบ้างที่ต้องเข้าไปทำงานด้วย
"แน่นอนว่า รูปแบบการทำงานของเราต้องเปลี่ยน เราทำเองคนเดียวไม่ได้ ทั้งเรื่องหนี้ครัวเรือน เรื่องความยั่งยืน คนที่เราร่วมมือด้วยขยายวงมากกว่าแต่ก่อน เราอาจจะเคยชินกับสมาคมธนาคารไทย กระทรวงการคลัง หรือ ก.ล.ต. แต่ตอนนี้ ธปท. ต้องทำงานร่วมกับกระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และบริษัทห้างร้านอื่น ๆ ด้วย
"อีกเรื่องที่สำคัญ คือภัยทางการเงิน ข้อดีของระบบดิจิทัลคือสร้างโอกาส โดยเป็นสิ่งที่ดีแต่ก็มีผลข้างเคียงคือ อาจเกิดภัยทางการเงิน ซึ่งการจะดูแลเรื่องพวกนี้ เราก็ไปทำงานกับกลุ่มคนในวงที่กว้างขึ้น อย่างเช่น บริษัทโทรคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หรือตำรวจด้านอาชญากรรมไซเบอร์ ซึ่งก็เห็นผลค่อนข้างดี
"ยกตัวอย่างการส่งข้อความหลอกลวงหรือคอลเซนเตอร์ เราคุยกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อลดปัญหาเรื่องนี้ ก็เห็นผลจากตัวเลขการร้องเรียนที่ลดลง นอกจากนี้ เราทำงานกับอินฟลูเอนเซอร์หลายคน เพื่อช่วยเตือนให้ประชาชนระวังตัว นี่เป็นก้าวใหม่ของ ธปท. ที่ร่วมงานกับคนอื่นๆ มากขึ้นเพื่อประโยชน์ของประเทศ ซึ่งไม่ได้จำกัดเพียงคนในวงการการเงิน แต่จะข้ามไปอุตสาหกรรมหรือภาคส่วนอื่น
[1] ธปท. ร่วมกับธนาคารกลางฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority: HKMA) ธนาคารกลางแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (Central Bank of the United Arab Emirates: CBUAE) และสถาบันศึกษาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Digital Currency Institute of the People's Bank of China: PBC DCI) โดยการสนับสนุนจากศูนย์พัฒนานวัตกรรมของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements Innovation Hub: BISIH) ณ ฮ่องกง ทดสอบการนำ wholesale CBDC ใน 4 สกุล มาใช้โอนและแลกเปลี่ยนเงินระหว่างประเทศในธุรกรรมจริงเป็นครั้งแรกของโลก ภายใต้โครงการ multiple Central Bank Digital Currency Bridge (mBridge) ที่พัฒนาต่อยอดจากโครงการ Inthanon-LionRock ระยะที่ 2 ในปี 2564
[2] ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565
เรื่อง : มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล /เรียบเรียง : กองบรรณาธิการ
https://www.bot.or.th/Thai/AboutBOT/Activities/Pages/JointPress_26122022.aspx