- Details
- Category: ธปท.
- Published: Tuesday, 02 December 2014 07:35
- Hits: 3539
ธปท.จับตา ศก.ไทยปีมะแม ชี้ดัชนีอุตฯ ต.ค.วูบ 2.9% เชื่อภาพรวมไม่กระทบ
บ้านเมือง : ผู้ว่าการ ธปท.ระบุต้องติดตามเศรษฐกิจปีหน้า แม้เศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสเติบโต ขณะที่ประเทศจะต้องดูแลสมดุลเศรษฐกิจ 4 ด้าน ขณะเดียวกัน สศอ.ระบุดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI ) ตุลาคมที่ผ่านมา หดตัวน้อยลง 2.9% ส่วนภาพรวม 10 เดือนแรกปี 57 พบว่า MPI หดตัว 5.1%
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในปี 2558 ธปท.ยังคงต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจโลก แม้มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเป็นโอกาสการเติบโต แต่เศรษฐกิจสหภาพยุโรปและจีนยังต้องติดตามต่อไป ขณะที่ในประเทศจะต้องดูแลสมดุลเศรษฐกิจ 4 ด้าน ได้แก่ นโยบายการเงินในรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ย, ระบบสถาบันการเงิน ต้องดูแลคุณภาพสินเชื่อ, ฐานะการคลังของประเทศที่ได้รับการยอมรับและมีความเชื่อมั่นจากต่างชาติในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งดูแลด้านดุลบัญชีเดินสะพัด
"จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังไม่ดีขึ้นนั้น ประเทศไทยต้องดูแลและสร้างสมดุลเศรษฐกิจ 4 ด้าน ได้แก่ นโยบายการเงินในรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ย, ระบบสถาบันการเงิน ต้องดูแลคุณภาพสินเชื่อ, ฐานะการคลังของประเทศที่ต้องมีเสถียรภาพ ส่วนแนวโน้มที่ไทยอาจจะต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเป็นปี 59 จากเดิมที่คาดว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งได้ในปี 58 นั้น ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า ภาพรวมยังไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ซึ่งที่ผ่านมาหลายฝ่ายอยู่ระหว่างการปรับปรุงโครงสร้างอย่างเป็นขั้นเป็นตอน" นายประสาร กล่าว
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนตุลาคม 57 หดตัวน้อยลง 2.9% ซึ่งอุตสาหกรรมที่ทำให้ลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ซึ่งมีฐานที่สูงในปีก่อนหน้า เครื่องประดับที่ชะลอตัวตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก การกลั่นน้ำมัน ลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ และเบียร์ ขณะที่ภาพรวม 10 เดือนแรกปี 57 พบว่า MPI หดตัว 5.1% แต่มีการฟื้นตัวที่ดีขึ้นในเดือนตุลาคม ทำให้โดยภาพรวมตลอดทั้งปี 57 คาดว่าจะหดตัว 4%
สำหรับ ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ปี 57 ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 1,950,000 คัน ลดลง 20.64% แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 850,000 คัน ลดลงร้อยละ 35.90 และการผลิตเพื่อส่งออกประมาณ 1,100,000 คัน เพิ่มขึ้น 2.50% ส่วนปี 58 คาดว่าการผลิตจะขยายตัวประมาณ 10% หรือคิดเป็นปริมาณยอดผลิตรถยนต์ราว 2,150,000 คัน เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศและตลาดส่งออกหลักมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตภาพรวมปี 57 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 1-2% โดยมาจากการขยายตัวในกลุ่มเครื่องปรับอากาศที่จะส่งออกไปตลาดหลักได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน ขณะที่กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์มาจากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น Semiconductor และ IC จะเพิ่มขึ้นจากความต้องการนำไปใช้ในอุปกรณ์สื่อสาร รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในอุตสาหกรรมยานยนต์มากขึ้น
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าปริมาณความต้องการบริโภคเหล็กของไทยปี 57 จะลดลงประมาณ 4.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปริมาณการใช้เหล็กอยู่ที่ 16.90 ล้านตัน การผลิต 6.19 ล้านตันลดลง 10.00% เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากปัญหาสถานการณ์ทางการเมืองตั้งแต่ช่วงต้นปี ส่งผลให้ตลาดในประเทศชะลอตัว อย่างไรก็ตามอาจมีความต้องการโดยเฉพาะในตลาดอาเซียน ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาสสุดท้าย ประกอบกับการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนแนวโน้มปี 58 คาดว่าการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในภาพรวมจะยังขยายตัวได้ทั้งภาคการผลิตและการส่งออก โดยในกลุ่มสิ่งทอจะเป็นการผลิตเพื่อป้อนสู่ตลาดอาเซียนเป็นส่วนใหญ่
ในส่วนอุตสาหกรรมอาหาร ในภาพรวมการผลิตปี 57 คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 1-3% จากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของ ผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปี 58 คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 0-5% จากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตามสำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมไทย ปี 58 คาดว่าจะมีการขยายตัวที่ดีขึ้น ซึ่งทำให้คาดการณ์ในปี 58 GDP อุตสาหกรรมจะขยายตัว 2-3% และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัว 3-4%