- Details
- Category: ธปท.
- Published: Thursday, 14 April 2022 12:37
- Hits: 34543
เศรษฐกิจไทยไม่เข้าข่ายภาวะ stagflation โดยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 2565 และ 2566
รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 2/2565
วันที่ 25 และ 30 มีนาคม 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแพร่ ณ วันที่ 12 เมษายน 2565
สรุปประเด็นสำคัญ✨ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 2/2565 วันที่ 25 และ 30 มีนาคม 2565 ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยไม่เข้าข่ายภาวะ stagflation โดยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 2565 และ 2566 จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก
ขณะที่การระบาดของ Omicron และผลจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจะไม่กระทบแนวโน้มการฟื้นตัว ของเศรษฐกิจโดยรวม โดยถึงแม้ Omicron จะมีอัตราการระบาดค่อนข้างสูง แต่อาการที่ไม่รุนแรงส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สำหรับมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียส่งผล
กระทบโดยตรงต่อไทยจำกัด
ด้านอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นเกิดจากปัจจัยด้านอุปทานที่คาดว่า จะทยอยคลี่คลาย และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะโน้มลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงต้นปี 2566 ดังนั้นเศรษฐกิจไทยจึงไม่เข้าข่ายภาวะ stagflation ซึ่งหมายถึงภาวะที่เศรษฐกิจขยายตัวต่ำมากหรือหดตัว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (ประธาน) นายเมธี สุภาพงษ์ (รองประธาน) นางสาววชิรา อารมย์ดี นายคณิศ แสงสุพรรณ นายรพี สุจริตกุล นายสมชัย จิตสุชน นายสุภัค ศิวะรักษ์
ภาวะเศรษฐกิจโลกและภาวะตลาดการเงิน
เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวลดลงจากร้อยละ 4.0 เป็นร้อยละ 3.6 จากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์รวมถึงซ้ำเติมปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลก (globalsupply disruption) ทำให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศส่วนใหญ่ปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ดีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวมมีจำกัด เนื่องจากเศรษฐกิจรัสเซียมีขนาดเพียงร้อยละ 2 ของเศรษฐกิจโลก ยกเว้นเศรษฐกิจยุโรปที่อาจได้รับผลกระทบโดยตรงจากความเชื่อมโยงที่สูงกับประเทศรัสเซียและยูเครน
ด้านเศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มฟื้นตัวชะลอลงผ่านราคาพลังงานและต้นทุนที่ปรับสูงขึ้น แต่คาดว่าผลกระทบจะจำกัด สำหรับสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในหลายประเทศปรับดีขึ้น และส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจน้อยลงเมื่อเทียบกับการระบาดระลอกก่อนหน้า
ตลาดการเงินโลกเคลื่อนไหวผันผวนสูงจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน สำหรับตลาดการเงินไทยเคลื่อนไหวสอดคล้องกับตลาดการเงินโลก โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาวปรับสูงขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้นและระยะปานกลางทรงตัวตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์
สรอ.เคลื่อนไหวผันผวน
โดยแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นไตรมาสตามแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ก่อนปรับอ่อนค่าลงจากความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน และการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลัก อย่างไรก็ดี ตลาดการเงินไทยได้รับผลกระทบไม่มากเนื่องจากเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่เข้มแข็ง โดยเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงและหนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ ในระยะต่อไปตลาดการเงินอาจผันผวนสูงขึ้น
โดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่อาจยืดเยื้อทำให้ราคาพลังงานและต้นทุนปรับสูงขึ้นในระยะยาว และการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลักโดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่อาจเร็วกว่าคาดจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น
อ่านต่อที่ ? รายงานการประชุม กนง. ฉบับย่อ ครั้งที่ 2/2565 ? https://bit.ly/3rl6zRf
?ช่องทางในการติดตามข่าวสารจาก #แบงก์ชาติ
Website : https://www.bot.or.th/
Twitter : https://twitter.com/bankofthailand
Instagram : https://www.instagram.com/bankofthailand.official/
Blockdit : https://www.blockdit.com/bankofthailand
LINE : https://lin.ee/P5xJWV2
LINE TODAY : https://today.line.me/th/v2/publisher/102833
Spotify : https://spoti.fi/3wi223e
YouTube : https://www.youtube.com/c/BankofThailandofficial