- Details
- Category: ธปท.
- Published: Tuesday, 18 November 2014 23:14
- Hits: 3420
ธปท.พร้อมใช้นโยบายการเงินแบบยืดหยุ่น หากต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ
แนวหน้า : ธปท.พร้อมใช้นโยบายการเงินแบบยืดหยุ่น หากต้องกระตุ้นเศรษฐกิจปี’58 หนี้ครัวเรือนยังเป็นปัจจัยเสี่ยง
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทย ในไตรมาส 3 มีแนวโน้มเติบโตมากกว่า 0.1 % หลังจากที่ไตรมาสที่ 1 ติดลบ 0.6% และ ไตรมาสที่ 2 เติบโต 0.1%ซึ่งในปัจจุบันธปท. ได้ใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายแล้ว แต่หากมีความจำเป็นและภาพรวมเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป ทั้งการใช้งบประมาณการลงทุนภาครัฐ และนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐรวมทั้งเศรษฐกิจโลก ธปท.สามารถนำนโยบายการเงินออกมาใช้ได้ทันที โดยแบงก์ชาติ ใช้เครื่องมือทางการเงิน ตั้งแต่ช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ด้วยการลดดอกเบี้ยครั้งละ 0.25%จนทำให้ดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ 2.0% ในปัจจจุบัน ซึ่งถือว่าเพียงพอแล้ว
ส่วนการดำเนินนโยบายการเงินปี 2558 คือ ต้องยืดหยุ่น สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน โดยอาจใช้สูตรทางการเงินผสมผสาน การสร้างความน่าเชื่อถือในนโยบายเศรษฐกิจมหภาค และทำให้เศรษฐไทยเข้มแข็ง ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยง2558 ยังคงต้องจับตาปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิด เพราะในช่วง ใน 4-5 ปีที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาหลายด้านของภาคประชาชนรายย่อย และมีปริมาณที่ใกล้เคียงกับตัวเลขการเติบโตของจีดีพี ทั้งนี้ ในภาพรวมยังไม่เป็นปัญหารุนแรง แต่เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม
อย่างไรก็ตาม แบงก์ชาติจะพยายามเข้าไปศึกษาระดับรายได้ต่อหัวประชาชาติ และดูแลการปล่อยสินเชื่อบางประเภทของธนาคารพาณิชย์ ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูง คือ 15-20 % ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการปล่อยสินเชื่อรถคันแรก
นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า ค่าเงินบาท ในขณะนี้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 2เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกลุ่มกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทผันผวนมาจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประโทศ โดยแข็งค่ามากสุดในวันที่ 6 มกราคม 2557 ที่อยู่ที่ 31.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นค่าเงินบาทจึงไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของประเทศ
ด้าน นางรุ่ง มัลลิกามาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. กล่าวว่า สาเหตุของการส่งออกไทยที่ชะลอตัวลงนั้นมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างการผลิตและคุณภาพของสินค้าที่ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลก โดยเห็นได้ชัดว่าแม้เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวดีขึ้นแต่ภาคการส่งออกของไทยกลับได้ประโยชน์เพียงเล็กน้อยและยังน้อยกว่าประเทศคู่แข่งอื่นๆ ซึ่งภาครัฐจะต้องเข้ามาให้การสนับสนุนในการยกระดับสินค้า รวมทั้งการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต