- Details
- Category: ธปท.
- Published: Monday, 17 November 2014 22:46
- Hits: 2978
ผู้ว่า ธปท.เผยปีหน้ายังคงใช้นโยบายการเงินยืดหยุ่นต่อเนื่อง ชี้รัฐออกพันธบัตรล้างหนี้จำนำข้าว ไม่กระทบสภาพคล่อง
ผู้ว่า ธปท.เผยปีหน้า ยังคงใช้นโยบายการเงินที่ยืดหยุ่นต่อเนื่อง มองตั้งงบขาดดุลไม่เกิน 2%ต่อจีดีพีอยู่ในระดับที่รับได้ -มั่นใจออกพันธบัตรล้างหนี้จำนำข้าว ไม่กระทบสภาพคล่อง ยันดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเหมาะสมสอดคล้องภูมิภาค มองส่งออกของไทยมีปัญหาโครงสร้างภายในส่วนประเด็นคุมแบงก์รัฐ จะคำนึงถึงพันธกิจของแต่ละแบงก์เป็นหลัก
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ปีหน้า ธปท.ยังคงจะเดินหน้าใช้นโยบายทางการเงินที่ยืดหยุ่น ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้นตัว และเศรษฐกิจโลกที่ยังผันผวน โดยอาจใช้สูตรทางการเงินที่ผสมผสานกัน และเน้นการสร้างความน่าเชื่อถือในนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง
สำหรับ ในปีนี้ ธปท.มีการใข้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมาตลอด ด้วยการลดดอกเบี้ยครั้งละ 0.25%ลงมาจนอยู่ที่ 2% เนื่องจากรัฐบาลใช้นโยบายการคลังไม่ได้ จากปัญหาทางการเมืองช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่ตั้งแต่เดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ทุกอย่างก็เริ่มดีขึ้น นโยบายการคลังเริ่มเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้บ้าง ถือว่าเครื่องมือทางการเงินได้ทำหน้าที่อย่างเพียงพอแล้ว
“ที่ผ่านมาเราใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายมาตลอด ดังนั้นในเวลานี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงจะรักษาพื้นที่ของการใช้นโยบายการเงินเอาไว้ หากจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกครั้งซึ่งขณะนี้ยังยืนยันว่าทิศทางเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ระหว่างนี้ ยอมรับว่า จะการคาดเดาสถานการณ์ที่แม่นยำคงทำได้ยาก”นายประสาร กล่าว
สำหรับ ปัจจัยเสี่ยงปีหน้า ยังต้องจับตาปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิด เพราะช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาหลายด้านของภาคประชาชนรายย่อย และมีปริมาณใกล้เคียงกับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) แม้ว่าขณะนี้โดยภาพรวมแล้ว ยังไม่เป็นปัญหารุนแรง แต่ต้องติดตามในระยะยาว ซึ่งในส่วนของ ธปท.จะพยายามเข้าไปดูแลการปล่อยสินเชื่อบางประเภทของธนาคารพาณิชย์ให้ลงสู่รายย่อยมากขึ้น
สำหรับ เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ที่ผ่านมา คาดว่า มีแนวโน้มเติบโตมากกว่า 0.1% หลังไตรมาสแรกติดลบ 0.6% ไตรมาส 2 เติบโต 0.1% และไตรมาส 4 มีทิศทางที่ฟื้นตัวขึ้น แต่ยอมรับว่าการส่งออกของไทยยังมีข้อจำกัด และหากมีอะไรเกิดขึ้นที่ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป ทั้งการใช้งบประมาณการลงทุนภาครัฐ นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เศรษฐกิจโลก ธปท.ก็สามารถนำนโยบายการเงินออกมาใช้ได้ทันที
ส่วนนโยบายการคลังที่รัฐบาลดำเนินการในขณะนี้ ถือว่าเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น แต่ระยะยาวแล้ว รัฐต้องจัดการภาคการผลิต อุตสาหกรรม นโยบายด้านแรงงาน บนแนวทางการปฏิรูปทางการเมือง
นายประสาร เปิดเผยถึงแผนการออกพันธบัตรล้างหนี้ในโครงการรับจำนำข้าวของกระทรวงการคลังในปีหน้าว่า การออกพันธบัตรดังกล่าวเห็นว่าควรจะให้มีการกระจายอายุของพันธบัตรเพื่อไม่ให้กระทบตลาดการเงิน และระดับหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น ส่วนวงเงินการออกพันธบัตรที่จะนำมาใช้ล้างหนี้ในโครงการดังกล่าวนั้น ไม่ว่ากระทรวงการคลังจะออกพันธบัตรในวงเงินเท่าใด ธปท.ยังมั่นใจว่าจะบริหารจัดการไม่ให้กระทบกับระดับอัตราดอกเบี้ยและสภาพคล่องในตลาดการเงิน รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อได้
“หากจะทำสามารถทำได้ แต่จะต้องไม่กระทบกับตลาดเงิน และระดับหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ส่วนวงเงินจะออกเท่าไหร่นั้นเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาต่อสภาพคล่องแน่นอน”นายประสาร กล่าว
นอกจากนี้ นายประสาร ยังกล่าวถึงกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระบุว่าจำเป็นต้องตั้งงบประมาณขาดดุลในปีต่อไปเพราะมีภาระต้องคืนหนี้ในโครงการรับจำนำข้าวนั้น เห็นว่าหากตั้งงบขาดดุลไม่เกิน 2% ต่อจีดีพีถือว่ายังอยู่ในระดับที่รับได้ แต่ในอนาคตต้องคำนึงถึงการจัดเก็บรายได้ เพราะปัจจุบันฐานยอดจัดเก็บเทียบจีดีพียังต่ำ เนื่องจากฐานการจัดเก็บแคบและประเภทภาษีมีน้อย ขณะที่ด้านรายจ่ายมีภาระด้านงบประจำสูงมากส่วนงบลงทุนมีน้อย
ด้านนางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท.เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทในขณะนี้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และเป็นไปตามกลไกตลาด รวมทั้งยังอยู่ในระดับที่ภาคเอกชนยังสามารถรองรับได้ ทั้งนี้ ค่าเงินบาทในระดับปัจจุบันพบว่าแข็งค่าขึ้นเพียง 2% เท่านั้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และเมื่อเทียบกับสกุลอื่นๆในภูมิภาคเดียวกันนั้นถือว่าแข็งค่าในระดับปานกลางเท่านั้น
สำหรับ ปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทผันผวนมาจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ โดยแข็งค่ามากสุดในวันที่ 6 มกราคม 2557 ที่อยู่ที่ 31.75 บาทต่อดอลลาร์
ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายมองว่าค่าเงินบาทที่ผันผวนอาจส่งผลกระทบต่อสถานการณ์การส่งออกนั้น มองว่าค่าเงินบาทไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการส่งออกของไทย แต่มองว่าการส่งออกของไทยมีปัญหาทางเชิงโครงสร้างภายในมากกกว่า โดยเฉพาะด้านประสิทธิภาพการผลิตที่จะต้องเร่งพัฒนา
นางรุ่ง มัลลิกามาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. ระบุว่า สาเหตุของการส่งออกไทยที่ชะลอตัวลงนั้นมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างการผลิตและคุณภาพของสินค้าที่ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลก โดยเห็นได้ชัดว่าแม้เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวดีขึ้นแต่ภาคการส่งออกของไทยกลับได้ประโยชน์เพียงเล็กน้อยและยังน้อยกว่าประเทศคู่แข่งอื่นๆ ซึ่งภาครัฐจะต้องเข้ามาให้การสนับสนุนในการยกระดับสินค้ารวมทั้งการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
“ไทยจะต้องเร่งพัฒนาศักยภาพการส่งออกให้มากกว่านี้ สังเกตได้จากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว การส่งออกโดยภาพรวมทั่วโลกเริ่มกลับมา แต่ขณะที่การส่งออกไทยกลับได้อานิสงส์น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ”นางรุ่ง กล่าว
ด้านนายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท.เปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวงการคลังมีแนวคิดให้ ธปท.เข้ามากำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 8 แห่ง ว่า ที่ผ่านมาธปท.ทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอยู่แล้ว แต่หลังจากนี้ไปจะต้องดูขอบเขตอำนาจว่ามีมากขึ้นเพียงใด โดยอาจจะต้องมีการแก้ไขข้อกฎหมาย เพื่อให้การดูแลการดำเนินธุรกิจมีความเหมาะสมและสอดกับนโยบายการจัดตั้งของธนาคาร
ส่วนการดำเนินงานตามโครงการของรัฐบาล มองว่าควรมีการแยกบัญชีออกจากการดำเนินธุรกิจเหมือนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.ที่มีการแยกบัญชีโครงการรับจำนำข้าวออกจากการดำเนินธุรกิจของธนาคาร เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากการดำเนินงานโครงการของรัฐบาลบางโครงการอาจมีผลติดลบจึงควรแยกบัญชีให้ชัดเจน
“ที่ผ่านมาเรามีการเข้าไปตรวจสอบอยู่แล้ว ผลเป็นอย่างไรก็แจ้งให้กระทรวงการคลังรับทราบ แต่จะให้เราเข้าไปดูแลมอบหมายอำนาจให้เราก็จะต้องเข้าไปดูในหลักการ รวมไปถึงคำนึงถึงพันธกิจของแต่ละแบงก์ด้วย”นายรณดล กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย