- Details
- Category: ธปท.
- Published: Friday, 31 October 2014 21:34
- Hits: 3534
ธปท.เผยภาพรวมศก.เดือนก.ย.ดีขึ้น คาดช่วงที่เหลือฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป
ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยเดือน ก.ย.57 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน แต่ในภาพรวมการฟื้นตัวยังช้า โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวและการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนปรับดีขึ้นจากการเร่งเบิกจ่ายในช่วงสิ้นปีงบประมาณ
ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังทรงตัวในระดับต่ำและการส่งออกสินค้ายังอ่อนแอ สอดคล้องกับการผลิตอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ส่วนภาคการท่องเที่ยวปรับดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ด้านเสถียรภาพในประเทศ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อลดลงตามราคาพลังงาน หลังจากมีการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ประกอบกับไม่มีแรงกดดันเงินเฟ้อจากด้านอุปสงค์ สำหรับเสถียรภาพต่างประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล แต่สัดส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ระยะสั้นอยู่ในเกณฑ์มั่นคง
นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. กล่าวว่า การบริโภคภาคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐปรับดีขึ้นหลังจากอ่อนแรงลงในเดือนที่แล้ว โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากการกลับมาเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทน อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากครัวเรือนนอกภาคเกษตรมีรายได้และความเชื่อมั่นอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนยังไม่ฟื้นตัว เพราะหนี้ครัวเรือนเป็นปัจจัยถ่วงการใช้จ่ายและกำลังซื้อของครัวเรือนในภูมิภาคได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ
ส่วนแรงกระตุ้นเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายภาครัฐปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนและการซื้อสินค้าและบริการจากการเร่งเบิกจ่ายในช่วงสิ้นปีงบประมาณสำหรับรายได้นำส่งเพิ่มขึ้นตามการเหลื่อมนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเดือนก่อน
มูลค่าการส่งออกและการนำเข้าในเดือนนี้ปรับดีขึ้นในเกือบทุกสินค้าหลังจากที่หดตัวมากในช่วงก่อนหน้า โดยการส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 3.9 จากเดือนก่อน แต่โดยรวมการส่งออกยังอ่อนแอ เนื่องจากอุปสงค์จากต่างประเทศฟื้นตัวช้าและไทยมีข้อจำกัดด้านการผลิตสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูง ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าสะสม 9 เดือนแรกของปีหดตัวร้อยละ 0.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน
ส่วนการนำเข้าสินค้าปรับสูงขึ้นในทุกหมวดตามการนำเข้าสินค้าทุน วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง และสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งมีการเร่งนำเข้าทองคำในเดือนนี้เนื่องจากเป็นจังหวะที่ราคาทองคำโลกอยู่ในระดับต่ำ
อุปสงค์ต่างประเทศที่ยังอ่อนแอทำให้ผู้ประกอบการที่ผลิตเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ปรับลดระดับการผลิตลงชั่วคราวเพื่อระบายสินค้าคงคลังส่วนเกิน การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมจึงลดลงจากเดือนก่อน อย่างไรก็ดี หากไม่รวมการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ การผลิตในภาคอื่นส่วนใหญ่ขยายตัวได้ อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องปรับอากาศ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม สอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศ
ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อน ทั้งการลงทุนในภาคก่อสร้างและเครื่องจักรและอุปกรณ์ เนื่องจากอุปสงค์โดยรวมยังต่ำกว่าระดับปกติ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าที่ทิศทางการฟื้นตัวมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมจากภาวะเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้หลายอุตสาหกรรมยังมีกำลังการผลิตส่วนเกิน การลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตจึงอยู่ในระดับต่ำและส่วนใหญ่เป็นการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ
ทางด้านรายได้เกษตรกรลดลงต่อเนื่องและเป็นปัจจัยลดทอนการบริโภคของครัวเรือน โดยราคาสินค้าเกษตรปรับลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนตามราคายางพาราเนื่องจากสต็อกของจีนยังอยู่ในระดับสูง และอุปสงค์จากผู้นำเข้ารายใหญ่ชะลอลงทั้งมาเลเซียและญี่ปุ่น รวมทั้งราคาข้าวที่ทางการเริ่มระบายข้าวในสต็อก สำหรับผลผลิตสินค้าเกษตรลดลงตามผลผลิตยางและข้าวโพดเป็นสำคัญ เนื่องจากปริมาณน้ำฝนน้อยจากฤดูฝนที่มาช้ากว่าปกติ
ภาคการท่องเที่ยวปรับดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามการกลับมาของนักท่องเที่ยวเอเชียโดยเฉพาะจีนที่มีความเชื่อมั่นมากขึ้นต่อสถานการณ์การเมืองของไทย อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังคงต่ำกว่าระดับปกติ เนื่องจากหลายประเทศคงระดับคำเตือนประชาชนในการเดินทางมาไทย ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของหลายประเทศชะลอตัวลงโดยเฉพาะกลุ่มประเทศแถบยุโรป
ด้านเสถียรภาพในประเทศ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อลดลงตามราคาพลังงานหลังจากมีการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศและราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงต่อเนื่อง ประกอบกับไม่มีแรงกดดันด้านอุปสงค์ สำหรับเสถียรภาพต่างประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นมาก และการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของผู้ประกอบการต่างชาติ ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุล เนื่องจากสถาบันรับฝากเงินชำระคืนเงินกู้ต่างประเทศระยะสั้น และนักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรระยะสั้นเพื่อทำกำไร โดยรวมดุลการชำระเงินขาดดุล สัดส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ระยะสั้นอยู่ในเกณฑ์มั่นคง
ขณะที่เศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 ปี 2557 มีแนวโน้มฟื้นตัวแต่ค่อนข้างช้าและไม่ชัดเจนในทุกภาคส่วน โดยอุปสงค์ภาคเอกชนมีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่บางส่วนถูกรั้งไว้ด้วยราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และกำลังการผลิตส่วนเกินที่เหลืออยู่ในหลายอุตสาหกรรม ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะการลงทุนทำได้ค่อนข้างน้อยแม้จะเร่งขึ้นในช่วงปลายไตรมาส ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวเป็นลำดับ
อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวจากไตรมาสก่อน เนื่องจากอุปสงค์ต่างประเทศชะลอลงโดยเฉพาะกลุ่มประเทศยุโรป ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง ประกอบกับไทยมีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี รวมทั้งมีปัจจัยชั่วคราวจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นปิโตรเลียมนานกว่าปกติ สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมทรงตัวเนื่องจากแนวโน้มการฟื้นตัวของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศยังไม่ชัดเจน ประกอบกับมีการระบายสินค้าคงคลังในบางอุตสาหกรรม
"ทิศทางเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน ก.ย.ปรับดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการชดเชยเดือน ส.ค.ที่แผ่วตัวลงไปพอสมควร ดังนั้นควรเฉลี่ยๆ กันทั้งไตรมาส เมื่อพิจารณาทั้งไตรมาส เศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางฟื้นตัว แต่ต้องยอมรับว่า ฟื้นตัวช้า และยังไม่ชัดเจนทุภาคส่วน" นางรุ่ง กล่าว
สำหรับ ทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือนับจากนี้ คาดว่า จะมีทิศทางฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งทางธปท.อาจมีการปรับตัวเลขประมาณการอีกครั้ง แต่ยังไม่ระบุว่า จะปรับต่ำกว่า 1.5% ตามที่กระทรวงการคลังประเมินหรือไม่
อินโฟเควสท์