- Details
- Category: ธปท.
- Published: Saturday, 25 October 2014 12:37
- Hits: 3965
แบงก์ชาติหนุนคลัง ผุดนาโนไฟแนนซ์
แนวหน้า : แบงก์ชาติหนุนคลัง ผุดนาโนไฟแนนซ์ ช่วยดูแล‘รากหญ้า’ เชื่อไม่สร้างหนี้เน่า
นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธปท. เปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวงการคลังมีแนวคิดปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ว่า ไม่มีผลกระทบทำให้สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ของระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เนื่องจากผู้ปล่อยกู้นาโนไฟแนนซ์ไม่ได้เป็นธนาคารพาณิชย์ แต่เป็นบุคคลที่ปล่อยกู้ที่อยู่ในจังหวัดนั้นๆ อยู่แล้ว และถึงแม้ว่าผู้ปล่อยกู้ดังกล่าวจะมาขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์เพื่อนำไปปล่อยกู้ต่อก็จะต้องมีหลักประกันและต้องมีการพิจารณาถึงความสามารถในการชำระหนี้ ดังนั้นจึงไม่มีผลกระทบต่อ NPL ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบัน NPL ของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ร้อยละ 2.3 และเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงก็สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้มาก
ทั้งนี้ สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์จะช่วยให้รายย่อยหรือรากหญ้าเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น โดยจะเป็นการกู้ในวงเงินไม่เกิน 1 แสนบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 36 ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อส่วนบุคคลที่อยู่ที่ร้อยละ 28 เนื่องจากมีความเสี่ยงสำหรับผู้ปล่อยกู้มากกว่า เพราะผู้กู้รายย่อยอาจจะไม่มีหลักประกัน ขณะเดียวกันนาโนไฟแนนซ์ยังเป็นการช่วยให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองมากขึ้น เพราะเป็นการดึงผู้ปล่อยกู้ที่เคยอยู่นอกระบบเข้ามาสู่ในระบบ ทำให้สามารถบริหารจัดการได้ รวมทั้งเป็นช่องทางให้รัฐบาลเข้าไปให้ความรู้ทางการเงินง่ายขึ้น แต่การเกิดนาโนไฟแนนซ์ไม่ได้ช่วยในการลดการก่อหนี้เพราะการกู้ยืมเป็นไปตามความต้องการของผู้กู้
ส่วนเรื่องของหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงนั้น ยอมรับว่าต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไข ซึ่งไม่อยากให้ตื่นตระหนกจนเกินไป โดยเห็นว่าหากมีการกู้ยืมเพื่อมาสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้เป็นการก่อหนี้ที่เป็นประโยชน์ แต่ต้องไม่ใช่กระตุ้นการสร้างหนี้โดยไม่นึกถึงความสามารถในการชำระหนี้
นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง กล่าวว่า ได้ยื่นหนังสือแนวทางการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้กับหม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาตามแผนการแก้หนี้นอกระบบ เป็นการปล่อยสินเชื่อ'นาโนไฟแนนซ์'หลังจากนี้คงต้องรอการพิจารณาว่าจะเห็นชอบตามแผนหรือไม่ สำหรับแนวทางเบื้องต้น การปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์จะให้เอกชนที่เข้าร่วมโครงการขึ้นทะเบียนกับรัฐ เพื่อให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง และปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนในวงเงินไม่เกิน 1 แสน -1 แสน 2 หมื่นบาท ส่วนอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ระหว่างการหารือ
นาโนไฟแนนซ์ ไม่เพิ่มหนี้เสีย สมหมายยื่น'ปรีดิยาธร'แล้วบตท.รุกซื้อพอร์ตสินเชื่อบ้าน
ไทยโพสต์ * ธปท.ประเมินคลังตั้งนาโนไฟแนนซ์ไม่ดันหนี้เพิ่ม ชี้เป็นแนวทางแก้ปัญหาหนี้นอกระบบระยะยาว ย้ำแบงก์ชาติไม่มีอำนาจไปดูแล ระบุบอนด์ 8 แสนล้านบาท ไม่แย่งสภาพคล่อง "สมหมาย" ยื่นถึงมือ "อุ๋ย" แล้ว บตท.รุกซื้อพอร์ตสินเชื่อบ้าน จ่อเซ็น MOU อีก 5 แบงก์ คาดปีหน้าซื้อ 2-3 หมื่นล้านบาท
นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประ เทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การจัดตั้งนาโนไฟแนนซ์ของกระ ทรวงการคลัง โดยการดึงหนี้รายย่อยขนาดเล็กไม่เกิน 1 แสนบาทที่อยู่นอกระบบ เข้ามาในระบบ จะไม่ส่งผลกระทบต่อหนี้เสียที่มีอยู่ในระบบสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น เนื่องจากนาโนไฟแนนซ์ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือกรณีที่ผู้ประกอบการปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ต้องการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์เพื่อนำไปปล่อยกู้ต่อ จะมีการตรวจสอบหลักทรัพย์ ความเสี่ยงจาก การปล่อยกู้ตามแนวทางที่ธนา คารปล่อยกู้โดยปกติ
"การจัดตั้งนาโนไฟแนนซ์ เป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว ในลักษณะที่เป็นการจัดการปัญหาหนี้สินนอกระบบ เพื่อให้กระทรวงการคลังมีฐานข้อมูลว่าจำนวนลูกหนี้มีเท่าใด และเป็นใครบ้าง ในแต่ละจังหวัด ขณะเดียวกัน ยังสามารถควบ คุมอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคมากเกินไปได้ ซึ่งเบื้องต้นกระทรวงการ คลังต้องไปกำหนดอัตราดอก เบี้ยที่เหมาะสมว่าจะใช้อัตรา 36% หรือไม่ แต่ถือว่าเป็นอัตราที่รับได้ เพราะเป็นการปล่อยกู้รายย่อยที่มีความเสี่ยงสูงกว่าสินเชื่อส่วนบุคคล และการจัดตั้งนาโนไฟแนนซ์ไม่ใช่อำนาจของ ธปท.ที่จะต้องเข้าไปกำกับดูแล" นายจิรเทพกล่าว
สำหรับ กรณีที่รัฐบาลเตรียมออกพันธบัตรเพื่อบริหารจัดการหนี้สินค้าเกษตรกว่า 8 แสนล้านบาทนั้น แนวทางดังกล่าวจะไม่กระทบต่อสภาพคล่องที่มีอยู่ในระบบ หรือกรณีที่มีการถอนเงินจากสถาบันการเงินเพื่อไปลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ ซึ่งสถาบันการเงินมีแนวทางในการบริหารจัดการสภาพคล่องได้ไม่มีปัญหา
ด้าน นายสมหมาย ภาษี รมว.การคลัง กล่าวว่า ได้ยื่นหนังสือเสนอแนวทางการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้กับ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาตามแผน การแก้หนี้นอกระบบ ผ่านมาตร การปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ โดยคงต้องรอการพิจารณาจากรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าจะทราบผลภายในสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ มั่นใจว่าการปล่อยสิน เชื่อนาโนไฟแนนซ์จะประสบความ สำเร็จมากกว่าไมโครไฟแนนซ์ที่ปล่อยสินเชื่อให้พ่อค้าแม่ค้า แต่สถาบันการเงินส่วนใหญ่ไม่กล้าเข้าร่วมโครงการ เพราะเห็นว่ามีความเสี่ยงสูง และคิดอัตราดอก เบี้ยระดับ 28% ต่อปี ต่ำกว่านา โนไฟแนนซ์ที่คิดอัตราดอกเบี้ย 36% ต่อปี
นางพรนิภา หาชัยภูมิ กรรม การและผู้จัดการ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) กล่าว ว่า ในปี 2557 บตท.ซื้อพอร์ตสินเชื่อบ้านจากสถาบันการเงินกว่า 6.4 พันล้านบาท และจนถึงสิ้นปีคาดว่าจะมีการซื้อเพิ่มอีกกว่า 3-4 พันล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 1 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมายที่ 5 พันล้านบาท โดยก่อนหน้านี้มีการรับมอบสินเชื่อล็อตแรกจากธนาคารไทยพาณิชย์ครบแล้ว 5 พันล้านบาท และได้เซ็นสัญญาล็อตที่ 2 อีก 5 พันล้านบาท
นอกจากนี้ บตท.ร่วมกับธนาคารทิสโก้ ออกผลิตภัณฑ์สิน เชื่อบ้านดอกเบี้ยคงที่ระยะยาว 10 ปี ซึ่งกำหนดระยะเวลายาวที่สุดในประเทศขณะนี้ กำลังทยอยเสนอลูกค้า ซึ่งทิสโก้จะเป็น ผู้วิเคราะห์และอนุมัติสินเชื่อใน ฐานะตลาดแรก และนำมาขายตามคุณภาพและหลักเกณฑ์ที่ บตท.กำหนด ซึ่งที่ผ่านมานับว่าลูกค้าที่ทิสโก้นำมาขายให้กับ บตท.เป็นลูกค้าที่มีคุณภาพ และไม่กลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เลย
ขณะนี้ มีธนาคารสนใจขาย พอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้กับ บตท. อย่างต่อเนื่อง ซึ่งอยู่ระหว่างการ เจรจา 7-8 แห่ง และเตรียมลง นาม MOU เพิ่มอีก 5 แห่ง เนื่อง จากโมเดลตลาดรองฯ สามารถตอบสนองธนาคารได้หลายด้าน โดยปีนี้น่าจะมีกำไรสุทธิประมาณ 80 ล้านบาท ส่วนปี 2558 บตท.จะรับซื้อพอร์ตสินเชื่อบ้านราว 2-3 หมื่นล้านบาท.
"การจัดตั้ง นาโนไฟแนนซ์ไม่ใช่อำนาจของ ธปท.ที่จะต้องเข้าไปกำกับ ดูแล"