- Details
- Category: ธปท.
- Published: Friday, 29 May 2020 21:46
- Hits: 9199
เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้น COVID-19 ส่งผลท่องเที่ยว ส่งออก การบริโภคภาคเอกชนหดตัวสูง
แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนเมษายน ปี 2563
เศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2563 หดตัวสูงขึ้น จากผลของมาตรการควบคุมการระบาดของโรค COVID-19 ที่เข้มงวดทั้งในและต่างประเทศที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วนต้องหยุดลงชั่วคราว โดยภาคการท่องเที่ยวหดตัวสูงจากการห้ามเดินทางเข้าประเทศไทย การส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำหดตัวสูงขึ้นมากตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้า เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนหดตัวสูงตามกำลังซื้อที่อ่อนแอลงมากและมาตรการควบคุมโรคระบาด ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวสูงต่อเนื่องตามภาวะอุปสงค์และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวได้ต่อเนื่องทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ขณะที่ในเดือนนี้ภาครัฐเริ่มมีการทยอยจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ซึ่งจะช่วยพยุงเศรษฐกิจในระยะต่อไป
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้น จากอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานตามราคาน้ำมันในตลาดโลกและมาตรการลดค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนของภาครัฐ ขณะที่ตลาดแรงงานเปราะบางขึ้นมาก ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิจากด้านสินทรัพย์เป็นสำคัญ
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวร้อยละ 100 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นผลจากการห้ามเดินทางเข้าประเทศของไทยเพื่อควบคุมการระบาดของโรค COVID-19 ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเดือนนี้ ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่หายไปส่งผลกระทบมากต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร และธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร
มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวร้อยละ 3.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการส่งออกทองคำ ที่มีมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์ในเดือนนี้ มูลค่าการส่งออกหดตัวสูงที่ร้อยละ 15.9 โดยเป็นการหดตัวสูงในหมวดยานยนต์และชิ้นส่วน สินค้ากลุ่มที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องจักรและอุปกรณ์ จากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าและราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงมาก อย่างไรก็ดี การส่งออกบางหมวดสินค้ายังขยายตัวได้ อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตรแปรรูป และสินค้าเกษตร เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลดีจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนหดตัวสูงจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายในทุกหมวด จากปัจจัยสนับสนุนด้านกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่อ่อนแอลงมาก ทั้งด้านการจ้างงาน รายได้ และความเชื่อมั่น ประกอบกับเป็นผลจากการเลื่อนวันหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์และมาตรการปิดเมืองของไทยเพื่อควบคุมการระบาดของโรค COVID-19 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรครุนแรงและขยายวงกว้างไปเกือบทั่วประเทศ แม้ในเดือนนี้ภาครัฐมีการทยอยจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวสูงขึ้น สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแอลง
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวสูงต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่หดตัวสูงในทุกองค์ประกอบ โดยอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแอลงส่งผลให้ผลประกอบการและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจลดลงมาก ประกอบกับภาคธุรกิจมีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่มากจึงชะลอการลงทุนออกไป
มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวสูงที่ร้อยละ 17.0 จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการนำเข้าทองคำ มูลค่าการนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ 13.8 โดยเป็นการหดตัวในทุกหมวดสินค้าสำคัญ ทั้งหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการระบาดของโรค COVID-19 ขณะที่รายจ่ายลงทุนขยายตัวจากการเบิกจ่ายทั้งในส่วนของรัฐบาลกลางและรัฐวิสาหกิจ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้จะมีความเปราะบางมากขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้น จากอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง และมาตรการลดค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนของภาครัฐ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงเป็นบวกแต่ปรับลดลงต่อเนื่องสอดคล้องกับทิศทางของอุปสงค์ในประเทศ ด้านตลาดแรงงานเปราะบางขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสิทธิ์ว่างงานในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นมาก สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลตามดุลรายได้จากการจ่ายเงินปันผลของภาคธุรกิจเป็นสำคัญ ประกอบกับรายรับจากการท่องเที่ยวลดลงมาก ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิจากด้านสินทรัพย์เป็นสำคัญ
เศรษฐกิจเม.ย.หดแรง! ธปท.ห่วงตกงานพุ่ง-ทุนไทยขนเงินกลับปท.เดือนเดียว 2.2 แสนล้าน
ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยเดือนเม.ย.หดตัวสูงขึ้น จากปัจจัยส่งออกไม่รวมทองคำติดลบ 15.9% นักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นศูนย์ รัฐล็อคดาวน์ ห่วงตลาดแรงงานเปราะบาง หลังคนตกงานพุ่ง พร้อมระบุดุลบัญชีเคลื่อนย้ายยังบวก 8 พันล้านดอลลาร์ แม้ดุลบัญชีติดลบและเงินโอนฯ ติดลบ 3.2 พันล้านดอลลาร์ฯ เหตุนักลงทุน-สถาบันไทย ขนเงินกลับประเทศกว่า 2.2 แสนล้านบาท
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงรายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนเม.ย.2563 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนเม.ย.2563 หดตัวสูงขึ้น จากผลของมาตรการควบคุมการระบาดของโรค COVID-19 ที่เข้มงวดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วนต้องหยุดลงชั่วคราว
ขณะเดียวกัน ภาคการท่องเที่ยวหดตัวสูงจากการห้ามเดินทางเข้าประเทศไทย ส่วนการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำหดตัวสูงขึ้นมากตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้า เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนหดตัวสูงตามกำลังซื้อที่อ่อนแอลงมากและมาตรการควบคุมโรคระบาด ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวสูงต่อเนื่องตามภาวะอุปสงค์และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวได้ต่อเนื่องทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ขณะที่ในเดือนเม.ย.ภาครัฐเริ่มมีการทยอยจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ซึ่งจะช่วยพยุงเศรษฐกิจในระยะต่อไป
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้น จากอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และมาตรการลดค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนของภาครัฐ ขณะที่ตลาดแรงงานเปราะบางขึ้นมาก ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล และดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิจากด้านสินทรัพย์เป็นสำคัญ
“เดือนเม.ย.เป็นเดือนที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบชัดเจนจากโควิด ซึ่งเราจะเห็นได้เครื่องยนต์เศรษฐกิจเกือบทุกเครื่องยนต์หดตัว ส่วนที่ขยายตัวได้มีเพียงการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวหดตัว 100% เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเลย หลังจากปลายมี.ค.ที่ผ่านมา เราประเทศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และห้ามนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ เสถียรภาพเศรษฐกิจมีความเปราะบางมากขึ้น และจุดที่เรากังวลเป็นพิเศษ คือ ตลาดแรงงาน” นายดอนกล่าว
นายดอน ขยายความว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัว 100% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นผลจากการห้ามเดินทางเข้าประเทศของไทยเพื่อควบคุมการระบาดของโรค COVID-19 ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเดือนนี้ ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่หายไปส่งผลกระทบมากต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร และธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร
ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัว 3.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการส่งออกทองคำ ที่มีมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์ในเดือนนี้ มูลค่าการส่งออกหดตัวสูงที่ 15.9% โดยเป็นการหดตัวสูงในหมวดยานยนต์และชิ้นส่วน สินค้ากลุ่มที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องจักรและอุปกรณ์ จากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าและราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงมาก
อย่างไรก็ดี การส่งออกบางหมวดสินค้ายังขยายตัวได้ อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตรแปรรูป และสินค้าเกษตร เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลดีจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19
“การส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำหดตัวสูงขึ้น 15.9% แต่ถ้ารวมทองคำการส่งออกยังติดลบ 3.3% โดยสินค้าที่ลบหนัก คือ รถยนต์ สินค้าที่ผูกกับราคาน้ำมันดิบ ส่วนสาเหตุหลักส่งออกหดตัวรุนแรง มาจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่หายไป และประเทศคู่ค้าหลายประเทศมีการปิดเมือง โดยเฉพาะในเดือน เม.ย.ที่หลายประเทศมีการล็อคดาวน์เข้มข้นที่สุด ทำให้การส่งออกสินค้าของไทยได้รับผลกระทบไปด้วย”นายดอนกล่าว
นายดอน ยังระบุด้วยว่า สำหรับตัวเลขส่งออกในเดือนเม.ย.ของธปท.ที่ติดลบ แต่ตัวเลขส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ที่เป็นบวกนั้น เป็นผลมาจากการที่สายการบินต่างๆมีการส่งคืนเครื่องบิน เพราะไม่สามารถทำการบินได้ และหากจอดทิ้งไว้ก็จะเสียค่าจอด อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปข้างหน้า การส่งคืนเครื่องบินน่าจะน้อยลงแล้ว และคาดว่าในเดือนมิ.ย.ตัวเลขส่งออกของธปท.กับกระทรวงพาณิชย์น่าจะกลับมาใกล้เคียงกัน
สำหรับ เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนหดตัวสูงจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายในทุกหมวด จากปัจจัยสนับสนุนด้านกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่อ่อนแอลงมาก ทั้งด้านการจ้างงาน รายได้ และความเชื่อมั่น ประกอบกับเป็นผลจากการเลื่อนวันหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์และมาตรการปิดเมืองของไทยเพื่อควบคุมการระบาดของโรค COVID-19 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรครุนแรงและขยายวงกว้างไปเกือบทั่วประเทศ
ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวสูงขึ้น สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแอลง ส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวสูงต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่หดตัวสูงในทุกองค์ประกอบ โดยอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแอลงส่งผลให้ผลประกอบการและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจลดลงมาก ประกอบกับภาคธุรกิจมีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่มากจึงชะลอการลงทุนออกไป
ด้านมูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวสูงที่ 17% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการนำเข้าทองคำ มูลค่าการนำเข้าหดตัวที่ 13.8% โดยเป็นการหดตัวในทุกหมวดสินค้าสำคัญ ทั้งหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง
ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการระบาดของโรค COVID-19 ขณะที่รายจ่ายลงทุนขยายตัวจากการเบิกจ่ายทั้งในส่วนของรัฐบาลกลางและรัฐวิสาหกิจ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้จะมีความเปราะบางมากขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้น จากอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง และมาตรการลดค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนของภาครัฐ
ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงเป็นบวกแต่ปรับลดลงต่อเนื่องสอดคล้องกับทิศทางของอุปสงค์ในประเทศ ด้านตลาดแรงงานเปราะบางขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสิทธิ์ว่างงานในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นมาก
“จุดที่ธปท.ค่อนข้างเป็นกังวล คือ ตลาดแรงงาน โดยข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคมพบว่า ในเดือนเม.ย. มีผู้ประกันตนยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ชดเชยกรณีว่างงานเพิ่มขึ้นค่อนข้างแรง และมีสถานประกอบการที่ยื่นใช้สิทธิตามม.75 แห่งพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 คือ ให้ลูกจ้างหยุดงานแต่ยังได้รับค่าจ้าง 75% ของเงินเดือน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 5 เท่า คือ เพิ่มจาก 9 หมื่นแห่งในเดือนมี.ค. เป็น 4.6 แสนแห่งในเดือนเม.ย.” นายดอนกล่าว
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลตามดุลรายได้จากการจ่ายเงินปันผลของภาคธุรกิจเป็นสำคัญ ประกอบกับรายรับจากการท่องเที่ยวลดลงมาก ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิจากด้านสินทรัพย์เป็นสำคัญ
“ดุลบัญชีการค้าเดือนเม.ย.บวก 2,500 ล้านดอลาร์สหรัฐ โดยมีสาเหตุหลักจากการส่งออกทองคำ ส่วนดุลบัญชีบริการฯติดลบ 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะนักท่องเที่ยวเป็นศูนย์ และเป็นฤดูส่งกลับกำไร เงินปันผล ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายยังบวกได้ที่ 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะบุคคลในประเทศ นักลงทุน และสถาบันการเงิน นำเงินจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ 6,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าค่อนข้างมาก”นายดอนระบุ
นายดอน ยังกล่าวว่า เมื่อมองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยในเดือนพ.ค.ยังคงหดตัวในระดับสูง แต่น่าจะปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้านี้ เนื่องจากมีการคลายล็อคในประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนพ.ค.จะยังเป็นศูนย์เหมือนเดิม และการส่งออกน่าจะลบมากขึ้น แต่สถานการณ์ในประเทศจะปรับดีขึ้นบ้าง เพราะในเดือนพ.ค.จะมีการใช้จ่ายเงินโอน 'เราไม่ทิ้งกัน' ซึ่งมีผู้ได้สิทธิ์เพิ่มขึ้นจากเดือนเม.ย. ทำให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
“เศรษฐกิจเดือนพ.ค.น่าจะดีขึ้นบ้าง แต่ยังหดตัวสูง และเศรษฐกิจจะยังหดตัวต่อเนื่องไปถึงมิ.ย. ซึ่งก่อนหน้านี้ ธปท.ได้คาดการณ์ว่าไตรมาส 2 จะเป็นไตรมาสที่เศรษฐกิจหดตัวลึกที่สุด”นายดอนกล่าว
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ