- Details
- Category: ธปท.
- Published: Monday, 25 May 2020 23:43
- Hits: 8459
ธปท.เดินหน้าพัฒนาระบบบาทดิจิทัล เชื่อมต่อลงภาคธุรกิจ เปิดตัว มิ.ย.นี้
ธปท.ขยายขอบเขตการออกแบบ-พัฒนาระบบการชำระเงิน โดยใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) เชื่อมต่อลงสู่ภาคธุรกิจ ดึงเอกชนรายใหญ่เข้าร่วมทดสอบ จากเดิมทดสอบแค่ในวงของแบงก์ เตรียมเปิดตัวโครงการภายเดือน มิ.ย.นี้ อนาคตหวังเชื่อมต่อลงสู่การใช้งานในระดับ ปชช.
นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์ในรายการ "Suthichai Live : ดิจิตอลหยวน ดิจิตอลบาท"ว่า หลังการทดสอบโครงการอินทนนน์ เสร็จสิ้นลงเมื่อปลายปี 62 ปัจจุบัน ธปท.เตรียมจะต่อยอดทดสอบอีก 2 โครงการ ซึ่งจะเป็นการออกแบบระบบการชำระเงินโดยใช้ สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) สำหรับภาคธุรกิจและประชาชน (Retail CBDC) จากเดิมที่โครงการอินทนนน์ ออกแบบระบบเพื่อใช้ในธุรกรรมมูลค่าสูงระหว่างสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC)
อย่างไรก็ตาม ในขั้นแรก ธปท.จะทดสอบลงลึกถึงแค่ระดับภาคธุรกิจเอกชนก่อน และในอนาคตก็มุ่งหวังที่จะพัฒนาจนถึงขั้นนำไปสู่การใช้งานในระดับประชาชนทั่วไป ซึ่งจะเห็นได้ว่า Retail CBDC เป็นกระแสความนิยมที่เกิดขึ้นกับธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะการที่เฟซบุ๊กประกาศเปิดตัวโครงการลิบรา (Libra) เมื่อกลางปีที่ผ่านมา
"โครงการอินทนนท์เราจบครบทั้ง 3 เฟสไปเมื่อปีที่แล้ว ถามว่าจะทำอะไรต่อ...หลังจากที่ขยายกว้างได้แล้ว และได้ Core function แล้ว เราคุยกันจากนี้เราลงลึกมั๊ย เราอยากมาถึงภาคประชาชนจริงๆ แล้ว จะทำอย่างไร เราจึงมองว่าจะเริ่มจากคนที่พร้อมก่อน คือลองกับภาคธุรกิจก่อน เป็นองค์กรขนาดใหญ่ก่อน ซึ่งเราก็จะมีอีก 2 โครงการ และจะประกาศโครงการแรกในเดือน มิ.ย.นี้" นางสาววชิรา กล่าว
"เราจะเปิดตัวโครงการแรกภายในเดือนมิถุนายนนี้...ซึ่งคาดว่าทั้ง 2 โครงการน่าจะทดสอบได้เสร็จภายในปีนี้ โดยโครงการที่สองที่ทำระหว่างประเทศอาจทดสอบเสร็จช่วงปลายปี" นางสาววชิรา กล่าว
โครงการทดสอบแรกทำในประเทศ ระบบการชำระเงินจะเชื่อมต่อจากธนาคารกลางไปยังธนาคารธนาคารพาณิชย์ จากนั้นธนาคารพาณิชย์เชื่อมต่อลงไปยังภาคธุรกิจ ซึ่งจะเริ่มจากธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ก่อน ภาคธุรกิจเองก็จะมีซัพพลายเชนแยกออกไปอีกในหลายบริษัทย่อย ทั้งหมดนี้จะต้องลงลึกในรายละเอียดอีกมาก พิจารณาจุดไหนที่ต้องปรับแก้ และการออกแบบหน้าตาของระบบจะเป็นอย่างไร
โครงการทดสอบที่สอง ทำระหว่างประเทศ ขั้นตอนการเชื่อมต่อจะเหมือนกับโครงการแรกเพียงแต่จะเป็นการเชื่อมต่อระบบการชำระเงินข้ามประเทศ ซึ่ง ธปท.จะต่อยอดความร่วมมือกับแบงก์ชาติฮ่องกง (HKMA) เนื่องจากเคยทดสอบร่วมกันมาแล้วในการใช้ CBDC จำลองโอนเงินข้ามประเทศแบบเรียลไทม์ระหว่างธนาคารสมาชิกบน DLT แพลตฟอร์มโดยที่ไม่ต้องอาศัยตัวกลาง
"ฮ่องกง เขาก็จะหาภาคธุรกิจเขามาต่อกับแบงก์ ส่วนเราก็จะหาภาคธุรกิจมาต่อท่อกับแบงก์แล้ว ลองดูว่าจะเป็นอย่างไร นี่ก็อาจจะเป็นภาพหนึ่งในการขยายเครือข่าย ซึ่งมันสำคัญ เพราะว่าเราก็สร้างแพลตฟอร์ม หนึ่งเขาก็สร้างแพลตฟอร์มหนึ่ง จะทำอย่างไรที่มันจะต่อท่อเชื่อมกันได้ หรือเรียกว่า interoperate กันได้" นางสาววชิรา กล่าว
"ที่เล่ามาก็น่าจะพอเห็นภาพได้ว่า ถ้าหากเราต่อท่อลงไปที่ภาคธุรกิจได้ ถ้ามันลงไปได้ การลงไปถึงระดับประชาชนก็อาจจะไม่ได้ยากจนเกินไป ก็ค่อยๆ ทำไป..." นางสาววชิรา กล่าว
ทั้งนี้ ธนาคารกลางหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น ฮ่องกง สิงคโปร์ แคนาดา หรืออังกฤษ ในระยะหลังมานี้ก็เริ่มให้ความสนใจพิจารณา Retail CBDC เนื่องจากเกิดคู่แข่งในภาคเอกชนมากขึ้น และที่โด่งดังมากในปีที่แล้วคือ ลิบรา (libra) ซึ่งได้กระตุ้นธนาคารหลายแห่งเริ่มหันมาศึกษา Retail CBDC
จากกรณีศึกษาในประเทศอื่น เช่น จีน และสวีเดน ที่เริ่มพัฒนาจาก Retail CBDC จะวางระบบการดำเนินงานเป็น 2 ขั้น (two-tier operation) กล่าวคือ ธนาคารกลางทำหน้าที่ออก CBDC เป็นเหรียญ/โทเคน (แทนการออกเป็นธนบัตร) จากนั้นจะกระจายการถือครอง CBDC ผ่านธนาคารพาณิชย์และธนาคารพาณิชย์กระจายการถือครอง CBDC ไปยังภาคธุรกิจและประชาชน
รูปแบบของ two-tier operation คล้ายกับระบบในปัจจุบันที่ธนาคารกลางผลิตธนบัตร และกระจายไปยังธนาคาร จากธนาคารกระจายไปยังประชาชน เพียงแต่เปลี่ยนจากเงินกระดาษเป็นเงินในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งการดำเนินงานแบบ 2 ขั้น มีข้อดีคือ ธนาคารพาณิชย์ยังคงมีบทบาทอยู่ในระบบไม่ใช่ถูกตัดขาดออกไป เพราะหากไม่มีธนาคารพาณิชย์ ประชาชนเข้าถึงธนาคารกลางโดยตรง จะไปกระทบต่อรูปแบบการทำธุรกิจของสถาบันการเงิน
ดังนั้น การออกแบบ Retail CBDC ของ ธปท. หรืออาจจะเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า ‘บาทดิจิทัล’ ธปท.จะต้องพิจารณาบริบทแวดล้อมต่างๆ ควรจะออกแบบไว้แค่ไหน (อย่างกรณี หยวนดิจิทัล ก็ไม่ได้ใช้ DLT ทั้งหมด) พิจารณาในเรื่องกฎหมาย ความเป็นส่วนตัวในการใช้งานจะต้องมีมากในระดับใด ความพร้อมของประชาชน และที่สำคัญคือผลกระทบที่จะเกิดต่อระบบสถาบันการเงินและเสถียรภาพระบบการเงิน
"ธนาคารกลางใดก็ตามที่เคยทดลอง Wholesale CBDC มาก่อน ท้ายสุดก็ต้องลงมาสู่ Retail CBDC จะทำทิ้งไว้แล้วตัดจบแค่ Wholesale คงไม่ได้แล้ว หลายๆ ธนาคารกลางเขาก็บอกมีความพร้อม ถ้าเกิดว่ามีคู่แข่งหรืออะไรมากจนเกินไป เพราะหน้าที่ของธนาคารกลางเป็นผู้ที่จัดหาเงินตราที่มีคุณลักษณะปลอดความเสี่ยงให้กับประชาชนได้ใช้" นางสาววชิรา ระบุ
นางสาววชิรา กล่าวสรุปว่า เป้าหมายสุดท้ายของการพัฒนาระบบการชำระเงินโดยใช้ CBDCคือการที่ประเทศไทยต้องมีระบบที่พร้อมใช้งานได้เท่าทันความต้องการ หากเมื่อถึงวันที่ทั้งโลกมีความพร้อมเต็มที่ในการเปลี่ยนสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ดังคำกล่าวที่ว่า ‘digital currency for digital economy’ หมายถึง การมีสกุลเงินดิจิทัลเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจในโลกใหม่ ขณะเดียวกันธนาคารกลางยังคงรักษาความสามารถในการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน และนโยบายการเงินของประเทศได้
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย