- Details
- Category: ธปท.
- Published: Wednesday, 09 October 2019 20:07
- Hits: 5305
FSAP ระบบการเงินของไทยมีเสถียรภาพ มีความมั่นคงสามารถรองรับความผันผวนได้ดี
ผลการประเมินภาคการเงินของประเทศไทยตามโครงการ
Financial Sector Assessment Program (FSAP)
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการประเมินภาคการเงิน (Financial Sector Assessment Program - FSAP) ของประเทศไทย โดยคณะผู้ประเมินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund - IMF) และธนาคารโลก (World Bank) เมื่อ พ.ศ. 2561 - 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเข้ารับการประเมินโดยสมัครใจของไทย หลังจากการประเมินครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2550
ในภาพรวมพบว่า ระบบการเงินของไทยมีเสถียรภาพ มีความมั่นคงสามารถรองรับความผันผวนได้ดี และการกำกับดูแลภาคการเงินของไทยมีประสิทธิภาพสูง เป็นไปตามมาตรฐานสากลเทียบเคียงได้กับประเทศชั้นนำ โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ยังคงมีบทบาทหลักในภาคการเงิน ขณะที่ภาคตลาดทุนและภาคประกันเติบโตขึ้นมาก แม้ว่าระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงบางจุดที่ยังไม่ปรับตัวดีขึ้น เช่น ความเปราะบางในภาคครัวเรือนที่มีภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งผู้ประเมินได้สนับสนุนการออกมาตรการเชิงป้องกัน (macroprudential policy) เพื่อดูแลไม่ให้ความเปราะบางของหนี้ภาคครัวเรือนขยายจนส่งผลกระทบในวงกว้าง
ประโยชน์ของการเข้ารับการประเมินครั้งนี้ จะช่วยให้ทราบถึงจุดแข็งและจุดที่ควรปรับปรุงในภาคการเงิน และผลักดันให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินให้เข้มแข็งและก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้ง เป็นการส่งเสริมให้หน่วยงานกำกับดูแลพัฒนากรอบการกำกับดูแลให้สอดรับกับแนวโน้มความเสี่ยงในระบบ รวมถึงพัฒนาการกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลมากขึ้น นอกจากนี้ เป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรในประเทศและระหว่างประเทศเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ ทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจในระบบเศรษฐกิจการเงินไทย
ผลการประเมิน FSAP ภาคการเงินในส่วนที่ ธปท. กำกับดูแล
- การกำกับดูแลภาคการธนาคาร (banking supervision)
ธปท. ได้เข้ารับการประเมินตามมาตรฐาน Basel Core Principles for Effective Banking Supervision (BCP) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลด้านการกำกับดูแลด้านการธนาคารฉบับล่าสุด จำนวน 29 ข้อ โดยได้รับผลการประเมินอยู่ในระดับดีมากจำนวน 24 ข้อ และระดับดี 5 ข้อ ซึ่งแสดงถึงพัฒนาการของภาคการธนาคารไทยที่ดีขึ้นมาก จากการประเมินครั้งก่อน โดยผู้ประเมินมีความเห็นว่า
(1) ธนาคารพาณิชย์ไทยมีฐานะมั่นคง มีเงินกองทุนและสภาพคล่องสูง
(2) มีหลักเกณฑ์การดูแลความมั่นคงและการตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ที่มีประสิทธิภาพเท่าทันความเสี่ยง
(3) ธปท. มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับธนาคารพาณิชย์และหน่วยงานกำกับดูแลทั้งในและต่างประเทศ
- การกำกับดูแลโครงสร้างพื้นฐานของระบบการเงินที่สำคัญ (financial market infrastructures) ในส่วนของระบบบาทเนต
ธปท. ได้เข้ารับการประเมินการกำกับดูแลระบบบาทเนต ซึ่งเป็นระบบการชำระเงินที่มีมูลค่าสูงของประเทศไทย ตามมาตรฐาน Principles for Financial Market Infrastructure (PFMI) ที่เป็นมาตรฐานสากลด้านการกำกับโครงสร้างพื้นฐานของระบบการเงินที่สำคัญฉบับล่าสุดจำนวน 17 ข้อ โดยได้รับผลการประเมินอยู่ในระดับดีมากจำนวน 16 ข้อ และระดับดี 1 ข้อ และด้านหน้าที่ความรับผิดชอบในการกำกับดูแล (responsibilities for authority) ได้รับผลการประเมินอยู่ในระดับดีมากทั้งหมด โดยผู้ประเมินมีความเห็นว่า
(1) ระบบบาทเนตมีความมั่นคงปลอดภัย มีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องตามมาตรฐานสากลในทุกด้าน เช่น มีกฎหมายรองรับรายการที่ชำระดุลแล้วมีผลสมบูรณ์ไม่สามารถเพิกถอนได้ (payment finality)
(2) ระบบบาทเนตมีการจัดการด้านธรรมาภิบาลและการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนโปร่งใส
(3) ธปท. กำกับดูแลระบบการชำระเงิน รวมถึงระบบบาทเนตเป็นไปตามมาตรฐานสากลระดับสูง และมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (Thailand Securities Depository Co., Ltd.- TSD) เพื่อให้ระบบสามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องตามมาตรฐานสากล
ทั้งนี้ ผู้ประเมินมีข้อเสนอแนะให้มีการพัฒนากรอบกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจให้เทียบเคียงกับธนาคารพาณิชย์ และพิจารณานำกรอบกฎเกณฑ์และแนวทางตรวจสอบธนาคารพาณิชย์มาปรับใช้กับสหกรณ์การเงินตามความเหมาะสม อีกทั้ง พิจารณาขยายการใช้มาตรการเชิงป้องกัน (macroprudential policy) ไปยังสถาบันการเงินอื่น เช่น สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และสหกรณ์การเงิน รวมถึง พิจารณารูปแบบที่เหมาะสมในการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อกำกับดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน
ในระยะต่อไป ธปท. จะติดตามและประเมินความเสี่ยงของเสถียรภาพระบบการเงินในลักษณะมองไปข้างหน้ามากขึ้น เพื่อให้สามารถประเมินสถานการณ์ต่าง ๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคต และเพื่อให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของความเสี่ยงใหม่ ๆ และกำหนดนโยบายรองรับได้อย่างเท่าทัน โดย ธปท. จะประสานงานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับผู้กำกับดูแลที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับปรุงและบังคับใช้กฎเกณฑ์การกำกับดูแลต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศอย่างยั่นยืนต่อไป
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web