- Details
- Category: ธปท.
- Published: Tuesday, 30 September 2014 23:25
- Hits: 3420
ธปท.ระบุการเบิกจ่ายภาครัฐเป็นปัจจัยเสี่ยงทำ GDP ปีนี้อาจโตไม่ถึง 1.5%
ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้เติบโตได้ไม่ถึง 1.5% คือการเบิกจ่ายภาครัฐที่อาจทำได้ต่ำกว่าเป้าหมาย
นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือน ส.ค.57 ยังคงฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจากอุปสงค์ในประเทศและภาคการท่องเที่ยว แต่การใช้จ่ายในประเทศทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนอ่อนแรงลงเล็กน้อย เมื่อเทียบในช่วง 2-3 เดือนก่อนหน้านี้ที่สถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายใหม่ๆ โดยยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงที่จะขยายตัวในอัตราต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ในปี 57 ที่ 1.5% หากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐไม่สามารถเบิกได้ถึง 91.4% ตามที่คาดการณ์ไว้
ทั้งนี้ ในเดือน ส.ค.มีสัญญาณการบริโภคภาคเอกชนอ่อนแรง โดยการชะลอตัวมาจากการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทน เช่น อาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงแรงกระตุ้นเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายภาครัฐแผ่วลง หลังจากภาครัฐใช้จ่ายมากขึ้นในช่วงก่อนหน้า โดยการใช้จ่ายภาครัฐลดลงทั้งการซื้อสินค้าและบริการ และการลงทุนที่ยังทำได้ค่อนข้างช้า ส่วนรายได้นำส่งลดลงสะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมที่ชะลอตัวในช่วงก่อนหน้านี้และปัจจุบันยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการฟื้นตัว
"ปัจจัยบวกเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังคงอยู่ที่การบริโภค รายได้ภาคการเกษตร และการจ้างงานที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่อาจจะไม่ใช่แรงส่งในลักษณะวีเชพอย่างที่คาดการณ์ไว้ คงฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่เหมือนช่วงที่ผ่านมาที่การบริโภคมีปัจจัยเสริมชั่วคราว เช่น เทศกาลบอลโลก ส่วนการส่งออกที่ขยายตัวเป็น 0% นั้นรวมอยู่ในสมมติฐานจีดีพีที่ 1.5% ไว้แล้ว" นางรุ่ง กล่าว
นางรุ่ง กล่าวว่า การส่งออกสินค้าโดยรวมในเดือน ส.ค.ยังคงอ่อนแอ โดยมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 18,655 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 6.6% อ่อนแอลงในเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ทั้งยานยนต์เครื่องใช้ไฟฟ้า ปิโตรเคมี ขณะที่การนำเข้าโดยรวมอยู่ที่ 16,456 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 8.3% เช่นกัน ด้านการลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวแบบไม่ต่อเนื่องและยังไม่กระจายตัวไปในทุกภาค เพราะอุปสงค์โดยรวมยังต่ำกว่าระดับปกติ และหลายอุตสาหกรรมยังมีกำลังการผลิตเพียงพอ โดยกำลังการผลิตยังอยู่ที่ 60.3% ส่วนความเชื่อมั่นภาคธุรกิจอยู่ที่ 49.1
สำหรับ เสถียรภาพในประเทศ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อลดลงเล็กน้อยตามราคาอาหารสดและพลังงาน สำหรับเสถียรภาพต่างประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากการนำเข้าที่ยังมีค่อนข้างน้อย ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุล เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรระยะสั้นเพื่อทำกำไร ประกอบกับสถาบันการเงินมีการชำระคืนเงินกู้ต่างประเทศระยะสั้น โดยรวมดุลการชำระเงินขาดดุล สัดส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ระยะสั้นอยู่ในเกณฑ์มั่นคง
อินโฟเควสท์