- Details
- Category: ธปท.
- Published: Tuesday, 02 April 2019 20:01
- Hits: 3890
ผู้ว่าธปท.เชื่อจีดีพีปีนี้โต 3.8% เล็งสอบสินเชื่อรถยนต์ หลังพบผิดปกติ
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานสัมมนา ‘จับชีพจรเศรษฐกิจโลก เจาะแนวโน้มเศรษฐกิจไทย’ เชื่อจีดีพีปีนี้โต 3.8% เหตุพื้นฐานศก.ไทยยังแข็งแกร่ง แม้การเมืองยังไม่ชัดเจน เผยพบสัญญาณสินเชื่อรถผิดปกติ พร้อมเดินหน้าเข้าตรวจสอบ ส่วนนโยบายดอกเบี้ยไทยปรับขึ้น-คง ชี้ขึ้นกับสภาพศก. โดยมีสาระสำคัญดังนี้
ธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินภาวะเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณที่ชะลอตัวมาตั้งแต่ไตรมาส 4/61 ทั้งทางยุโรป และ จีน ส่วนสหรัฐยังขยายตัวได้ ซึ่งผลกระทบที่ส่งผ่านมายังไทยได้จะมาจีนเป็นหลัก เพราะไทยมีการนำเข้า และ ส่งออกสินค้าไปจีนมากกว่าประเทศอื่น โดยภาวะปัจจุบันมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น แล ไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาที่ยาวนาน เพราะฉะนั้นจำเป็นที่จะต้องบริหารความเสี่ยงให้ได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญ
ในขณะที่เศรษฐกิจไทยยังเชื่อว่าจะขยายตัวได้ 3.8% ในปีนี้ และ ปี 63 ที่ 3.9% โดยพื้นฐานทางเศรษฐกิจยังมีความแข็งแกร่ง ซึ่งเห็นได้จากตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังเกินดุลอยู่ 3.4-3.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จากปีก่อน 3.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
“เศรษฐกิจหลังการเลือกตั้งยังคงเติบโตได้ ด้วยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เพราะเรายังมีดุลการค้าที่สูง และ การลงทุนภาคเอกชนยังมีต่อเนื่อง โดยเห็นได้จาก BOI ปีนี้สูงกว่าปีที่แล้ว ในขณะที่นโยบายเศรษฐกิจของแต่ละพรรคไม่ได้สวนทางกับที่เป็นอยู่ ซึ่งเชื่อว่าไม่ว่าฝากไหนมาเป็นรัฐบาลก็ไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม เพราะโครงการต่างๆ ยังต้องเดินหน้าต่อ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ หรือ EEC ที่มีกฏหมายรองรับไว้แล้ว”นายวิรไท กล่าว
ประกอบกับ ค่าเงินบาทยังมีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ โดยผู้ประกอบการจะต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงมากกว่าการคาดการณ์กรอบค่าเงิน เพราะปัจจุบันความเสี่ยงมีมากขึ้น และ ยังคงผันผวนต่อเนื่อง
"ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา กนง.มีการปรับดอกเบี้ย 1 ครั้ง มีหลายฝ่ายบอกว่าทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะในช่วงที่ผ่านมามีกระแสเงินทุนไหลออกไป 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยการที่เงินบาทแข็งค่ามาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าเป็นแรงพยุงใต้ปีกของเศรษฐกิจไทย ทำให้เงินบาทยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่”นายวิรไท กล่าว
สำหรับ ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะให้ความสำคัญ 3 ประการ อย่างแรก คือ เงินเฟ้อ ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในกรอบล่างที่ 1% และ ยังไม่เห็นสัญญาณของเงินฝืดที่เป็นตัวทำให้เศรษฐกิจชะงัก
อย่างที่สอง คือ การขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันยังขยายตัวตามศักยภาพของไทย และ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของไทยสามารถขยายตัวได้ 4% ได้ติดต่อกัน
และสุดท้าย คือ เสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งจากอัตราดอกเบี้ยที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำทำให้เกิดการแสวงหาผลตอบแทน โดยไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยง ทำให้ธปท. ออกมาตรการคุมสินเชื่ออสังหาฯ หลังพบว่าเกิดสินเชื่อเงินทอนมากขึ้น และ พบ NPL ที่เพิ่มสูงขึ้น
ตลอดจนสินเชื่อรายใหญ่ก็มีการลงทุนในตลาดตราสารหนี้บางประเภทที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นจนนำไปสู่การผิดนัดชำระในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่รายย่อยก็ไปลงทุนในสหกรณ์ออมทรัพย์ แม้จะให้ผลตอบแทนสู.เฉลี่ย 4-4.5% มีความเสี่ยงทำให้ธปท. และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาเข้ามาดูแล และ ออกกฏระเบียบเพื่อควบคุมความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้
นอกจากนี้ สินเชื่อรถธปท.ได้เห็นถึงความผิดปกติ หรือ เรียกว่า สินเชื่อรถเงินทอนทั้งรถยนต์มือหนึ่ง และ รถยนต์มือสอง โดยมาในรูปแบบที่คล้ายกับสินเชื่อบ้าน ซึ่งในขณะนี้ทางธปท. ได้เข้าไปตรวจสอบสถาบันการเงิน และ ผู้ให้บริการสินเชื่อรถยนต์ ที่ทำธุรกรรมเกี่ยวข้องกับสินเชื่อรถแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม
“การประชุม กนง.ล่าสุดที่มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75% เราหยุดเพื่อรอประเมินสถานการณ์ ไม่ใช่ปิดประตูว่าเราจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้อีก เพราะทุกครั้งที่เราหารือจะประเมินถึงสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน ซึ่งอาจมีการปรับขึ้น หรือ คงดอกเบี้ยก็ได้ โดยขึ้นกับสถานการณ์ในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้า Brexit หรือ แม้แต่เลือกตั้ง”นายวิรไท กล่าว