- Details
- Category: ธปท.
- Published: Monday, 22 September 2014 22:02
- Hits: 2749
ธปท.เตรียมปรับประมาณการจีดีพี 30 ก.ย.นี้ คาดปีนี้โตราว 1.5% แต่ส่งออกต่ำเป้า ถก รมว.คลังกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อปีหน้า
ธปท. เผยจะแถลงประมาณการจีดีพีปีนี้ 30 กันยายน คาดโตใกล้เคียง 1.5% ด้านส่งออกโตไม่ถึง 3% พร้อมเตรียมถกกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปีหน้ากับ ก.คลัง ปลายสัปดาห์นี้ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2% ยังเอื้อต่อการขยายตัวทาง ศก. ด้านขึ้น vat ต้องดูตามความเหมาะสม อย่าให้กระทบผู้บริโภค
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ช่วงปลายสัปดาห์นี้ ธปท.จะหารือร่วมกับ รมว.คลังเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่เหลือของปีนี้ รวมถึงทิศทางในปีนี้หน้าด้วยว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ ยังจะมีการหารือถึงกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปีหน้าด้วยว่าจะอยู่ที่ระดับใด โดยปัจจุบันกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อพื้นฐานของ ธปท. อยู่ที่ 0.5-3%
ส่วนกรณีที่จะมีการเปลี่ยนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นเงินเฟ้อทั่วไป หรือไม่ ยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวมีการพิจารณามาระยะหนึ่งแล้ว แต่คงไม่สามารถตอบคำถามในเรื่องดังกล่าวได้ เนื่องจากเป็นมารยาทที่ยังไม่ควรพูด ก่อนที่จะมีการหารือกับทาง รมว.คลังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“กรอบเป้าหมายจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน เราเคยคุยมาแล้ว แต่คงต้องหารือกับ รมว.คัลงก่อน คงไม่สามารถพูดอะไรได้ เพราะมันเป็นมารยาท”นายประสาร กล่าว
สำหรับ ในวันที่ 30 ก.ย. นี้ ธปท.จะแถลงตัวเลขการประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี รวมถึงตัวเลขในการส่งออกของปีนี้ใหม่ โดยเบื้องต้นยืนยันว่าจีดีพีในปีนี้คงใกล้เคียงกับที่ประมาณการไว้ที่ระดับ 1.5% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่เริ่มฟื้นตัว การบริโภคต่างๆ เริ่มกลับมา ขณะที่ภาคการส่งออกยอมรับว่าต่ำกว่าประมาณการที่วางไว้ที่ระดับ 3% เนื่องจากการส่งออกมีการฟื้นตัวช้ากว่าที่วางไว้ จากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความอ่อนไหวในการฟื้นตัว
“โดยรวมแล้วจีดีพีคงใกล้เคียงกับที่ประมาณการไว้ แต่ด้านการส่งออกฟื้นตัวล่าช้า ส่งผลให้ในปีนี้การส่งออกคงต่ำกว่าที่ประมาณการ ขณะที่การท่องเที่ยวก็เช่นเดียวกันพบว่ามีการฟื้นตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ สำหรับในปีนี้เราคงได้แรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ภายในประเทศเป็นหลัก”นายประสาร กล่าว
นายประสาร กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2% ในปัจจุบัน ยังเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับปัจจุบัน เนื่องจากเศรษฐกิจอยู่ในช่วงที่กำลังฟื้นตัว รัฐบาลมีนโยบายต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากกว่านโยบายการเงิน ประกอบกับขณะนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็ติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด หากพบว่าต้องการแรงกระตุ้นเพิ่มเติมก็พร้อมพิจารณา
“ในเวลานี้มองว่านโยบายการคลังน่าจะมีประสิทธิภาพที่ดีกว่านโยบายการเงิน แต่ กนง.ก็ติดตามอย่างใกล้ชิด และมองว่าที่ระดับ 2% ยังเหมาะสมในการประคับประคองเศรษฐกิจในระดับปัจจุบันให้ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องอยู่” นายประสาร กล่าว
ส่วนแนวทางในการปฎิรูปภาษี ในขณะนี้คงยังไม่สามารถตอบได้ว่าไทยมีความพร้อมที่จะปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ vat จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 7% หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม vat ถือเป็นอัตราภาษีที่มีเรื่องของราคาสินค้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นจะกระทบต่อการบริโภคอย่างแน่นอน ดังนั้นหากจะปรับต้องดูระยะเวลา และความสัมพันธ์ทางด้านอื่นๆให้เหมาะสม ไม่เช่นนั้นอาจเป็นแบบกรณีของญี่ปุ่น ที่มีการปรับขึ้นแล้วกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศได้
ส่วนการปฏิรูปภาษีด้านอื่นๆ นั้น ขณะนี้คงไม่สามารถตอบคำถามที่ชัดเจนได้ เนื่องจากยังไม่ทราบรายละเอียดว่าจะมีการปฏิรูปภาษีอะไรบ้าง คงต้องรอดูความชัดเจนในการดำเนินนโยบายก่อน
“ถ้ารู้ว่าจะปรับภาษีอะไรส่วนไหนบ้าง คงตอบได้ดีกว่า ตอนนี้คงพูดอะไรไม่ได้ ส่วน vat นั้นมองว่าต้องทำในเวลาที่เหมาะสม เพราะเรามีประสบการณ์จากญี่ปุ่นแล้ว ที่มีการปรับขึ้นแล้วกระทบต่อการบริโภคภายใน”นายประสาร กล่าว
ส่วนแนวทางการปฏิรูปราคาพลังงานที่จะเกิดขึ้นนั้น ธปท.อยู่ระหว่างติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเบื้องต้น ธปท.มองว่าไม่มีแรงกดดันให้เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนัก และเชื่อว่าหากราคาพลังงานปรับขึ้น อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายที่วางไว้อย่างแน่นอน และไม่เป็นอุปสรรคทำให้ต้องเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินอย่างมีนัยสำคัญด้วย
“นโยบายพลังงานเป็นแรงกดดันต่อเงินเฟ้อก็จริง หากเกี่ยวข้องกับภาคขนส่ง และสินค้าที่จะปรับเพิ่มขึ้นตามมา แต่เท่าที่ดูจากประมาณการ และการสร้างสมมติฐานต่างๆ ก็ยังถือว่าเอาอยู่ ไม่ได้มีประเด็นอะไร ยังเป็นกรอบที่เรายังสามารถดูแลได้ และไม่เป็นอุปสรรคทำให้เราต้องเปลี่ยนทิศทางในการดำเนินนโยบายทางการเงินด้วย”นายประสาร กล่าว
นายประสาร ระบุว่า ธปท.ยอมรับว่าปัจจุบันเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมีการปรับลดลงเล็กน้อย แต่ไม่ใช่ประเด็นที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากการปรับลดลงของทุนสำรองนั้นเกิดจากนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นและพันธบัตรในช่วงก่อนหน้า มีการเทขายออกไปบ้าง เพื่อปรับพอร์ตให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสม ประกอบกับเมื่อตีราคาทุนสำรองเป็นเงินบาทแล้วทุนสำรองค่อนข้างเสมอตัว ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนักอย่างมีนัยสำคัญ
“ทุนสำรองที่ลดมันมาจากการปรับพอร์ตของนักลงทุนให้เหมาะสม จากก่อนหน้านี้ที่เข้ามาค่อนข้างมาก จากการมีข่าวเรื่องการปรับลด และยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ คิวอี ของสหรัฐ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย พอถึงระยะเวลาหนึ่งเขาก็มีการปรับพอร์ตก็เป็นเรื่องปกติ อีกส่วนหนึ่งก็มาจากการตีราคาเป็นเงินบาทที่ปีนี้ดูแลค่อนข้างเสมอตัว จึงไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง”นายประสาร กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
ผู้ว่า ธปท.คาด GDP ไทยปีนี้โตใกล้เคียง 1.5% หลังส่งออกพลาดเป้า
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 57 มีโอกาสเติบโตใกล้เคียงกับที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ที่ 1.5% ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มจะเติบโตได้น้อยกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ 3% โดยจะมีการแถลงตัวเลขคาดการณ์ใหม่อย่างเป็นทางการในการแถลงรายงานนโยบายการเงินที่จะมีขึ้นวันที่ 26 ก.ย. นี้
อย่างไรก็ตาม จากมุมมองเศรษฐกิจที่คาดว่าจะมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น จึงเชื่อว่าการใช้นโยบายการเงินในปีนี้อาจมีความจำเป็นน้อยลงกว่าปีก่อน เนื่องจากขณะนี้มีรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ประกอบกับ มีงบประมาณเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้มีนโยบายด้านการคลังเข้ามาทำหน้าที่แทน ซึ่งนโยบายการคลังมีผลทางตรงมากกว่านโยบายการเงิน ขณะที่ปัจจุบันนโยบายการเงินถือว่ามีความผ่อนคลายและเพียงพอในการเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแล้ว
ผู้ว่าฯ ปท. กล่าวว่า ในช่วงปลายสัปดาห์นี้จะมีการนัดหารือร่วมกับนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ถึงกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินในปี 58 รวมถึงการหารือในเรื่องอื่นๆ ในด้านเศรษฐกิจด้วย
สำหรับ นโยบายการปรับโครงสร้างราคาพลังงานนั้น ธปท.ก็ได้ติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง แต่เชื่อว่าภาพรวมราคาพลังงานในตลาดโลกไม่มีแรงกดดันไปในทางที่สูงมาก ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจอยู่ในช่วง Low Growth
"เชื่อว่ายังเอาอยู่ เรามองว่าไม่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนกรอบและทิศทางในการดำเนินนโยบายการเงินอย่างมีนัยสำคัญ" ผู้ว่าธปท. ระบุ
ส่วนผลจากการปรับโครงสร้างภาษีนั้น ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่ากระทรวงการคลังจะปรับอัตราภาษีในตัวใดบ้าง ซึ่งท้ายสุดจะต้องรอความชัดเจนทั้งแพ็คเกจก่อน รวมถึงทิศทางในการปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้
นายประสาร กล่าวถึงมาตรการที่ญี่ปุ่นปรับขึ้นภาษี VAT ว่า มีผลต่อการบริโภคอุปโภค ดังนั้นเรื่องของจังหวะเวลาเป็นเรื่องสำคัญ ขณะเดียวกันต้องพิจารณาความสัมพันธ์กับมาตรการอื่นๆ ว่ามีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร
ด้านการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะหมดวาระในเดือนก.ย.นี้ คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะมีการเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 8 คน และจากนั้นจะคัดเหลือเพียง 4 คน
อินโฟเควสท์