- Details
- Category: ธปท.
- Published: Tuesday, 20 November 2018 20:28
- Hits: 7121
ผู้ว่าธปท.รับจีดีพี Q3 ต่ำคาด - ลุยแก้เกณฑ์คุมแบงก์ลดต้นทุนกว่าพันลบ.
ผู้ว่า ธปท. รับเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/2561 โตต่ำกว่าคาดการณ์ หลังลงทุนภาครัฐเบิกจ่ายล่าช้า ด้านสงครามการค้าสหรัฐ-จีน กระทบส่งออกแรง ขณะที่ท่องเที่ยวชะลอ เตรียมแก้เกณฑ์กำกับสถาบันการเงิน 4 ด้าน คาดลดต้นทุนถึง 1,100 ลบ. เล็งให้แบงก์ ทดสอบผลิตภัณฑ์การเงินใหม่เอง ไม่ต้องผ่าน Regulatory Sandbox หนุนใช้เทคโนโลยี biometrics ทำ KYC
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ประกาศตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยไตรมาส 3/2561 ที่ขยายตัว 3.3% นั้น ยอมรับว่า ต่ำกว่าที่ธปท.คาดการณ์ไว้ โดยเป็นผลจากการส่งออกที่อ่อนแรงลงมาก เนื่องจากผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าสหรัฐและจีน ซึ่งยอมรับว่า ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวนั้นยังต้องติดตามผลกระทบในระยะต่อไป
นอกจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกแล้วนั้น ในช่วงไตรมาส 3 ยังมีปัจจัยชั่วคราว คือ ภัยธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นกับตลาดคู่ค้า ทั้งญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ แต่มองว่า ปัจจัยดังกล่าวนั้น เป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น ขณะเดียวกันยังมีผลกระทบจากการลงทุนภาครัฐที่ชะลอลง จากการเบิกจ่ายไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ รวมถึงการท่องเที่ยวที่ชะลอตัว
นายวิรไท กล่าวถึงการปฏิรูปเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินว่า ปัจจุบันพัฒนาการทางเทคโนโลยี ได้เปลี่ยนระบบการเงินของไทยในหลายมิติ ทั้งด้านผู้เล่น รูปแบบการให้บริการทางการเงินและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ส่งผลให้ล่าสุด ธปท.จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์กับสถาบันการเงิน 4 ด้าน ประกอบด้วย
1.ปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้าน IT และแนวปฏิบัติ Regulatory Sandbox โดยมีเป้าหมายสนับสนุนให้สถาบันการเงิน ปรับใช้เทคโนโลยีได้อย่างคล่องตัว โดยบริหารจัดการความเสี่ยงและรักษาความปลอดภัยที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ซึ่งจะทำให้หลังจากนี้ไป สถาบันการเงินจะเข้าทดสอบใน Regulatory Sandbox ของธปท. เฉพาะที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานหรือสร้างมาตรฐานกลางหรือกฎหมาย และสนับสนุนให้สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการ ทดสอบนวัตกรรมทางการเงินเฉพาะรายใน Sandbox ของตนเอง โดยจะสามารถจะเริ่มดำเนินการได้มกราคม 2562 ทั้งนี้ ให้สถาบันการเงิน รายงานแผนประจำปีในการนำเทคโนโลยีมาใช้ดำเนินธุรกิจที่มีนัยสำคัญ รวมถึงอัพเดตเป็นรายไตรมาสและแจ้งให้ธปท.ทราบก่อนเริ่มใช้งานจริง 15 วัน
2.ผ่อนคลายข้อจำกัด ในการทำธุรกิจ Digital banking โดยส่งเสริมให้สถาบันการเงินใมช้ทรัพยากรด้าน IT เพื่อให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดพัฒนาการทางการเงินได้อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเรื่องดังกล่าวนั้นครอบคลุม ถึง การให้สถาบันการเงินให้บริการ Platform เพื่อเป็นตัวกลางในการซื้อขายสินค้าออนไลน์ การพัฒนา application ที่เกี่ยวข้องกับการบริการทางการเงินให้กับ strategic partner และให้บริการส่งข้อมูลพื้นฐาน เช่น strategic partner ตามที่ได้รับการยินยอมจากลูกค้า ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่มีนาคม 2562
ขณะเดียวกัน ยังสนับสนุนให้สถาบันการเงินใช้เทคโนโลยี biometrics อย่างเต็มรูปแบบในการยืนยันตัวตน ( Know Your Customer หรือ KYC) เพื่อให้ลูกค้าใช้บริการแบบ Non Face-to-Face ได้ ซึ่งให้ดำเนินการได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากธปท. นอกจากนี้ ยังให้สถาบันการเงินสามารถพิสูจน์ตัวตนลูกค้าผ่านทางดิจิทัลตามโครงการ National digital ID ของภาครัฐ
3.ส่งเสริมบริการทางการเงินสำหรับเอสเอ็มอี เพื่อสนับสนุนผู้ให้บริการทางการเงิน สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มทางเลือกและลดต้นทุนให้แก่เอสเอ็มอี ในการเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ผ่อนคลาย การจำกัดวงเงินตามจำนวนเท่าของรายได้ สำหรับสินเชื่อเอสเอ็มอี บุคคลธรรมดาที่กู้ไปทำธุรกิจ เนื่องจากการจำกัดวงเงินมีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลการก่อหนี้ภาคครัวเรือนที่เกิดจากการอุปโภค บริโภค แต่สถาบันการเงินจะต้องติดตามให้การให้สินเชื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์ โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้มกราคม 2562 นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้เอสเอ็มอีใช้ NCB Scorce ของตัวเองในการขอสินเชื่อจากผู้ให้บริการทางการเงินอื่นๆที่ไม่ได้เป็นสมาชิก บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) ด้วย สำหรับในเบื้องต้น NCB จะให้บริษัท เอสเอ็มอี สามารถเชคสกอร์ของตัวเองได้ฟรีในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2562
4.ปรับปรุงกระบวนการทำงานของสถาบันการเงินให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เพื่อให้สถาบันการเงินนำเทคโนโลยีมาเพิ่มความสะดวก รวมถึงช่วยลดต้นทุน และลดการใช้กระดาษด้วย โดยคาดว่า ธปท. จะเริ่มใช้ประกาศในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-documents ได้ภายในมกราคม 2562 นอกจากนี้ ยังปรับปรุงกระบวนการขออนุญาตในรูปแบบ one-stop service โดยสามารถยื่นคำขออนุญาตผ่านระบบ e-application เพียงครั้งเดียว แต่ระบบจะจัดส่งคำขอไปยังฝ่ายงานที่ต้องขออนุญาตให้อัตโนมัติ
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย