- Details
- Category: ธปท.
- Published: Sunday, 18 May 2014 23:21
- Hits: 3967
ธปท.คาดสินเชื่อทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ปีนี้โตราว 6-8% ส่วน Q1/57 โต 9.8%
ธปท.คาดสินเชื่อทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ปีนี้โตราว 6-8% ส่วน Q1/57โตในอัตราที่ชะลอลงมาอยู่ที่ 9.8%จาก Q1/56 ที๋โต 13.2% หลังเอกชนชะลอลงทุน ด้านคุณภาพสินเชื่อด้อยลง -NPLอยู่ที่ 2.3% อัตราส่วนสำรองฯ เพิ่มขึ้นมาที่ 169.8% ส่วนกำไรทั้งกลุ่มอยู่ที่ 50.5 พันลบ. NIM ชะลอเล็กน้อย ยอมรับกังวลเอ็นพีแอลกลุ่มเอสเอ็มอี เหตุมีเงินทุนน้อย แต่ธนาคารพาณิชย์เข้าดูแลใกล้ชิด
นายอานุภาพ คูวินิชกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ในไตรมาส 1 ปี 2557 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรจากการดำเนินงานลดลงเล็กน้อยจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลงตามภาวะดอกเบี้ยขาลงและสินเชื่อที่ชะลอตัว โดยอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin : NIM) ลดลงเหลือร้อยละ 2.52
อย่างไรก็ดี การกันสำรองที่ลดลงหลังจากที่กันไว้มากแล้วในไตรมาสก่อน ส่งผลให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 50.5 พันล้านบาท และอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Asset : ROA) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.26
นายอานุภาพ เปิดเผยว่า จากการที่ทางธนาคารพาณิชย์ปรับลดเป้าสินเชื่อมาหลายครั้งตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่จะปรับลดลงมาเหลือโต8-10% และในช่วงที่ผ่านมาหลังจากภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์การเมืองยังคงยืดเยื้อจึงเริ่มปรับลดลงมาเหลือ 6-8% หรือในบางธนาคารพาณิชย์ปรับให้ต่ำกว่านั้น ซึ่งทางธปท.ประมาณการใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์
ซึ่งทิศทางเศรษฐกิจที่ชะลอซึ่งส่งผลกระทบทำให้คุณภาพของสินเชื่อด้อยลง แต่การด้อยลงจะมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เพราะสภาวะเศรษฐกิจในช่วงต่อไปทางธนาคารพาณิชย์เองรวมทั้งภาคธุรกิจต้องปรับตัว ส่วนรายย่อยก็ต้องปรับตัว แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาทางธนาคารพาณิชย์ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างใกล้ชิดโดยดูแลลูกหนี้ที่ขาดสภาพคล่องในการจ่ายหนี้ ซึ่งเข้าไปช่วยเหลือโดยการยืดหนี้เพื่อลดภาระของแต่ละงวด หรือมีการช่วยผ่อนปรนให้ชำระแค่ดอกเบี้ยไปก่อน " นายอานุภาพ กล่าว
ส่วนในไตรมาส 1 ปี 2557 ภาวะเศรษฐกิจไทยหดตัวจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ครัวเรือนและธุรกิจระมัดระวังในการบริโภคและการลงทุน ส่งผลให้การขยายตัวของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 9.8 จากระยะเดียวกันปีก่อนที่ขยายตัว 13.2%
โดยสินเชื่อธุรกิจ (สัดส่วนร้อยละ 69.6 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวร้อยละ 9.4 ชะลอลงจากสินเชื่อภาคธุรกิจการเงิน ภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคธนาคารพาณิชย์ เป็นสำคัญ ทั้งนี้สินเชื่อ SME (สัดส่วนร้อยละ 37.3 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวร้อยละ 11.7ชะลอตัวลงเป็นไตรมาสแรกหลังจากที่ขยายตัวสูงมาตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สำหรับสินเชื่ออุปโภคบริโภค (สัดส่วนร้อยละ 30.4 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวร้อยละ 10.7 ชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 12.9 ซึ่งเป็นการชะลอตัวในทุกประเภทสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ที่ขยายตัวร้อยละ 2.5 จากฐานที่ไม่สูงงในปีก่อนตามมาตรการรถคันแรก
นายอานุภาพ กล่าวว่า ในไตรมาส 1 ปี 2557 ระบบธนาคารพาณิชย์มีเสถียรภาพ สินเชื่อขยายตัวชะลอลงต่อเนื่อง คุณภาพสินเชื่อมีแนวโน้มด้อยลง แต่ ธนาคารพาณิชย์มีเงินสำรองเพียงพอรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ ความสามารถในการดำเนินงานดี เงินกองทุนอยู่ในระดับสูง คุณภาพสินเชื่อมีแนวโน้มด้อยลง สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPL) มียอดคงค้างเพิ่มขึ้นเป็น 279.8 พันล้านบาท จากสินเชื่ออุปโภคบริโภคและสินเชื่อ SME ส่งผลให้สัดส่วน Gross NPL และ Net NPL ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 2.3 และร้อยละ 1.1 ตามลำดับ
สำหรับ สินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ (Special Mention Loan : SM)มียอดคงค้าง 288.6 พันล้านบาท ลดลงจากทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค สัดส่วน SM ต่อสินเชื่อรวมลดลงเหลือร้อยละ 2.3 อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์ได้กันเงินสำรองเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเพื่อเตรียมรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจสัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันจึงเพิ่มขึ้นเป็นลำดับมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 169.8
นายอานุภาพ กล่าวต่อว่า ทางธปท.ยอมรับว่ากังวล NPL ในกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี เนื่องจากเป็นกลุ่มที่อ่อนไหวต่อสภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์การเมืองมากกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากสายป่านสั้นและมีเงินทุนน้อย ซึ่งหากมีอะไรมากระทบจะส่งผลให้สภาพคล่องมีปัญหา
ขณะที่กลุ่มครัวเรือนยอมรับว่า ยังได้รับผลกระทบพอสมควร ซึ่งมองจากตัวเลข NPL ที่เพิ่มขึ้นมาก แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มครัวเรือนเองก็มีความระมัดระวังรายจ่ายที่เพิ่มมากขึ้นโดยดูจากคำขอสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่มีน้อยลง และทางธนาคารพาณิชย์มีความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ โดยปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 50 โดยมีการทยอยลดลงมาตั้งแต่ช่วง 6 ไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าทางธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มครัวเรือนมาตั้งแต่ต้น และแนวโน้มของกลุ่ม SM ในไตรมาสนี้ที่ปรับตัวลดลงมาส่วนหนึ่งได้กลายเป็น NPL ไปแล้ว และธนาคารพาณิชย์ดูแลอย่างใกล้ชิด โดยจะเข้าไปยืดหนี้และผ่อนปรนในการชำระดอกเบี้ยก่อน
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย