- Details
- Category: ธปท.
- Published: Saturday, 03 November 2018 21:48
- Hits: 9552
ธปท. เผยเศรษฐกิจก.ย.61 ขยายตัวแผ่วลงจากเดือนก่อนตามการส่งออกหดตัว-ลงทุนเอกชนทรงตัว-ท่องเที่ยวโตเล็กน้อย
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินในเดือน ก.ย. และไตรมาส 3 ปี 2561 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยเดือน ก.ย.61 ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อน โดยอุปสงค์ในประเทศขยายตัวตามการบริโภคภาคเอกชนในเกือบทุกหมวดสินค้า และการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับการลงทุนภาคเอกชนทรงตัว ด้านอุปสงค์ต่างประเทศขยายตัวชะลอลงตามการส่งออกสินค้าที่หดตัว สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวเล็กน้อยจากนักท่องเที่ยวอาเซียนเป็นสำคัญ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงตามราคาอาหารสดเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลทรงตัวจากเดือนก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นตามการลดลงของการนำเข้าทองคำเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิ
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน แม้จะชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวสูง โดยเป็นการขยายตัวในทุกหมวดการใช้จ่าย ยกเว้นหมวดสินค้าไม่คงทนที่หดตัว จากผลของฐานสูงในปีก่อนที่มีการเร่งซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบก่อนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต สำหรับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อโดยรวมปรับดีขึ้นเล็กน้อย ตามรายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตรกรรมที่ขยายตัวและกระจายตัวมากขึ้น ขณะที่รายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมหดตัวจากด้านราคา
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน จากรายจ่ายประจำที่ขยายตัวตามรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และรายจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร ขณะที่รายจ่ายลงทุนหดตัวตามการเบิกจ่ายงบกลาง และผลของฐานสูงจากการเร่งเบิกจ่ายงบเพิ่มเติมของกลุ่มจังหวัดในปีก่อน
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนทรงตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเครื่องชี้การลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ขยายตัวเล็กน้อยตามยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศ ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนในหมวดก่อสร้างหดตัวตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง ทั้งนี้ เมื่อปรับฤดูกาลแล้ว เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนลดลงจากเดือนก่อน จากทั้งเครื่องชี้การลงทุนในหมวดก่อสร้างและหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์
มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวที่ 5.5% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำหดตัว 1.0% จากการเร่งส่งออกรถยนต์นั่งไปออสเตรเลียในช่วงก่อนหน้า และผลกระทบของวาตภัยต่อการขนส่งสินค้าไปประเทศคู่ค้า อาทิ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และฮ่องกง ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราวที่ทำให้การส่งออกไปประเทศดังกล่าวหดตัว นอกจากนี้ ยังมีผลของฐานสูงจากการส่งออกโทรศัพท์มือถือตามการเปิดตัวโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ในปีก่อน และการเร่งส่งออกโซลาร์เซลล์และเครื่องซักผ้าก่อนการใช้มาตรการ Safeguard ของสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี การส่งออกในหลายกลุ่มสินค้ายังขยายตัวได้ อาทิ สินค้าที่มีมูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบ เครื่องประดับและอัญมณี เครื่องจักรและอุปกรณ์ และสินค้าเกษตร ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าที่หดตัวส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวสอดคล้องกัน โดยเฉพาะการผลิตในหมวดยานยนต์ และหมวดยางและพลาสติก
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ขยายตัวเล็กน้อยที่ 2.1% จากระยะเดียวกันปีก่อนตามการขยายตัวจากจำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซียเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งจากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นต่อเนื่องภายหลังการเลือกตั้งในประเทศ และผลของฐานต่ำในปีก่อนที่มีการเหลื่อมเดือนของวันหยุด ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวฮ่องกง ไต้หวัน และอินเดียขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวบางกลุ่มยังคงหดตัว อาทิ จีน อังกฤษ และรัสเซีย ทั้งนี้ เมื่อปรับฤดูกาลแล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวทรงตัวจากเดือนก่อนตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง ขณะที่นักท่องเที่ยวอาเซียนยังขยายตัวดี
มูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัวชะลอลงที่ 14.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการลดลงของการนำเข้าทองคำเป็นสำคัญ และหากหักทองคำขยายตัวชะลอลง 12.5% โดยเป้นการขยายตัวในหลายหมวดสินค้า อาทิ 1) หมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ตามการนำเข้าน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม โลหะ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 2) หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ตามการนำเข้าเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มที่ขยายตัวสูง ขณะที่การนำเข้าสินค้าไม่คงทนทรงตัว และ 3) หมวดยานยนต์และชิ้นส่วน ตามการนำเข้ารถยนต์นั่ง และชิ้นส่วนยานยนต์ สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ขยายตัวดี
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.33% ลดลงจาก 1.62% ในเดือนก่อน ตามราคาอาหารสดที่ลดลงตามราคาผักและผลไม้เป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลทรงตัวจากเดือนก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นตามการลดลงของการนำเข้าทองคำเป็นสำคัญ สำหรับดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิจากด้านหนี้สิน ตามการลงทุนในหลักทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในตราสารหนี้ระยะยาวของภาครัฐ การกู้ยืมระยะสั้นของสถาบันการเงินที่รับฝากเงิน และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
สำหรับ ในไตรมาส 3 ปี 2561 เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องจากอุปสงค์ในประเทศเป็นสำคัญ โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีตามการใช้จ่ายในเกือบทุกหมวดสินค้า สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่อุปสงค์ต่างประเทศขยายตัวชะลอลง โดยภาคการท่องเที่ยวขยายตัวชะลอลงจากผลกระทบเหตุการณ์เรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต และการส่งออกสินค้าขยายตัวชะลอลง สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัว ด้านอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลตามดุลการค้าเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิ
อินโฟเควสท์