- Details
- Category: ธปท.
- Published: Sunday, 07 October 2018 23:35
- Hits: 9881
ธปท.ปรับเกณฑ์สินเชื่อบ้านราคาสูงกว่า 10 ลบ.และบ้านหลังที่ 2 ขึ้นไป คาดเริ่มใช้ 1 ม.ค.62
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับปรุงเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยกำหนดให้มีเงินดาวน์ขั้นต่ำ สำหรับการกู้หลังที่ 2 ขึ้นไป หรือ ที่อยู่อาศัยที่มีมูลค่า 10 ล้านบาทขึ้นไป โดยต้องวางดาวน์อย่างน้อย 20% ของมูลค่าหลักประกัน (LTV limit 80%) และปรับเกณฑ์การนับสินเชื่อ top-up ที่ใช้หลักประกันเดียวกันให้สะท้อนความเสี่ยง โดยจะเปิดรับฟังความเห็นตั้งแต่วันนี้จนถึง 22 ต.ค.61 ซึ่งมาตรการนี้คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 62 เป็นต้นไป
นางวจีทิพย์ พงษ์เพ็ชร ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า ธปท.ได้ปรับปรุงเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันที่จะช่วยลดความเสี่ยงในเชิงระบบ และมุ่งสร้าง Credit Culture ที่ดีให้แก่สถาบันการเงินมีมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอย่างเหมาะสม ไม่กระตุ้นการก่อหนี้เกินตัวของภาคครัวเรือน และไม่เอื้อให้มีการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อเข้าอยู่จริง สามารถซื้อที่อยู่อาศัยได้ในราคาที่เหมาะสม
ธปท.ระบุว่า สาเหตุที่ต้องมีการปรับปรุงเกณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากการแข่งขันปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มาตรฐานการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินหย่อนลง ไม่จำเป็นต้องมีเงินดาวน์หรือออมก่อนกู้ก็สามารถขอสินเชื่อได้ ขณะที่พบสัญญาณการกู้ซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อลงทุนโดยหลังผลตอบแทนที่สูง (search for yield) สูงขึ้น หากไม่มีการกำกับดูแลที่เหมาะสมอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงและความเปราะบางในระบบเศรษฐกิจการเงินได้
ดังนั้น ธปท.จึงได้มีข้อเสนอแนวนโยบาย Macroprudential สาหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่จะบังคับใช้เฉพาะกับการขอกู้ครั้งใหม่เท่านั้น โดยการซื้อที่อยู่อาศัยราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป หรือการกู้เพื่อซื้อบ้านหลังที่ 2 ขึ้นไป ต้องต้องมีการวางเงินดาวน์อย่างน้อย 20% ของมูลค่าหลักประกัน (LTV Limit 80%) จากเดิมการซื้อบ้านราคาสูงกว่า 10 ล้านบาท ระบุว่าควรวางเงินดาวน์อย่างน้อย 20% (RW by LTV 80%) ส่วนการกู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 ขึ้นไป กำหนดว่าการกู้ตั้งแต่หลังที่ 1 ควรวางเงินดาวน์อย่างน้อย 5-10% (RW by LTV 90-95%) ทั้งนี้เพื่อดูแลความเสี่ยงจากการเก็งกำไร
และให้นับรวมเงินกู้ทุกประเภทที่ใช้หลักประกันเดียวกันในการคำนวนส่วนที่สถาบันการเงินปล่อยกู้ได้ ทั้งเงินกู้เพื่อซื้อบ้าน สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อจ่ายเบี้ยประกันชีวิต สินเชื่อเพื่อการปรับปรุง/ต่อเติม/ซ่อมแซม เป็นต้น จากปัจจุบันนับเฉพาะเงินกู้เพื่อซื้อบ้านเท่านั้น โดยมีผลบังคับใช้เฉพาะกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ และสินเชื่อที่จะ refinance
"หลักเกณฑ์ที่ปรับปรุงใหม่นี้จะช่วยลดดีมานด์เทียม และลดโอกาสการเก็งกำไรที่จะทำให้ราคาบ้านเร่งตัวขึ้นสูงเกินปัจจัยพื้นฐาน" นางวจีทิพย์ กล่าว
พร้อมระบุว่า มาตรการนี้ช่วยให้ประชาชนที่ซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยจริง (real demand) สามารถซื้อบ้านได้ในราคาที่เหมาะสมมากขึ้น เพราะอุปสงค์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนและการเก็งกำไร (ดีมานด์เทียม) จะลดลง ขณะที่ประชาชนที่ซื้อเพื่อลงทุนรับความเสี่ยงได้ดีขึ้น ไม่ประเมินความเสี่ยงต่ำเกินควร และลดโอกาสที่จะถูกผลกระทบจากการปรับลดลงของราคาอสังหาริมทรัพย์
ขณะที่ในแง่ของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์นั้น จะทำให้สามารถวางแผนการลงทุนได้อย่างเหมาะสม และลดความเสี่ยงจากโอกาสที่จะเกิดภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่วนในแง่ของสถาบันการเงินนั้น จะส่งผลให้คุณภาพสินเชื่อดีขึ้น ช่วยลดภาระการกันสำรองในอนาคต และมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของมูลค่าหลักประกัน
อย่างไรก็ดี หลักเกณฑ์ใหม่ที่มีการปรับปรุงนี้จะเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของ ธปท. จนถึงวันที่ 22 ต.ค.61 และจัดให้มีการประชุมชี้แจงรับฟังความคิดเห็นจากสถาบันการเงิน ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค โดยคาดว่าจะออกประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยได้ภายในเดือนพ.ย.61 ก่อนที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค.62 เป็นต้นไป
ด้านนายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการกลุ่มงานด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ธปท.กล่าวว่า ปัจจุบันการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยส่งผลให้มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินมีแนวโน้มหย่อนลง โดยสัดส่วนจำนวนบัญชีสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ที่มีมูลค่าสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันอสังหาริมทรัพย์ (LTV) เกิน 90% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งในระบบธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
และหากรวมสินเชื่อ top-up ทั้งสินเชื่อปล่อยใหม่และสินเชื่อรีไฟแนนซ์จะพบพฤติกรรมการให้ LTV ที่สูงกว่า 100% (มูลค่าสินเชื่อมากกว่ามูลค่าหลักประกัน) เริ่มมากขึ้นในวงกว้าง ทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบและแนวสูงในทุกระดับราคา รวมถึงการกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยสัญญาที่ 2 ขึ้นไป ซึ่งการแข่งขันในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยดังกล่าวในปัจจุบันผู้กู้จึงอาจไม่จำเป็นต้องเตรียมออมเงินในส่วนของเงินดาวน์ไว้ก่อน
นอกจากนี้ สถาบันการเงินมีการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่มีมูลค่าสินเชื่อเมื่อเทียบกับรายได้ (loan-to income: LTI) สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการยอมรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นในการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมีส่วนทำให้คุณภาพของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มด้อยลง สวนทางกับคุณภาพสินเชื่ออุปโภคบริโภคประเภทอื่นที่ปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งความเปราะบางของภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจากมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่หย่อนลง สะท้อนจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 77.5% ต่อ GDP
"แนวนโยบายใหม่นี้ ถือเป็นมาตรการเชิงป้องกันที่ช่วยลดความเสี่ยงเชิงระบบ มุ่งสร้าง credit culture ที่ดี โดยทำให้ผู้กู้ ต้องมีการออมก่อนกู้ มีเงินดาวน์ก่อนที่จะซื้อบ้าน มีวินัยทางการเงินไม่กู้เกินความจำเป็น มีความสามารถในการผ่อนชำระเพื่อการเป็นเจ้าของบ้านได้จริง ในขณะที่ฝั่งผู้ให้กู้ จะได้ลูกหนี้ที่มีคุณภาพมากขึ้น ลดภาระการกันสำรองในอนาคต และมีความสามารถรองรับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของมูลค่าหลักประกันได้" นายสักกะภพ กล่าว
พร้อมระบุว่า สถานการณ์การแข่งขันในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เป็นอยู่ในขณะนี้หากไม่มีการดูแล อาจส่งผลลบต่อมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสถาบันการเงินมีการยอมรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นในวงกว้าง ซึ่งหากไม่มีมาตรการในเชิงลักษณะป้องกัน จะทำให้การแข่งขันในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอาจเพิ่มความรุนแรงและสะสมความเปราะบางมากขึ้นจนก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ และกระทบต่อความสามารถของระบบเศรษฐกิจและการเงินในการรองรับความผันผวนในอนาคต จึงถือเป็นบทบาทของผู้กำกับดูแลในการกำหนดกติกาการแข่งขันของสถาบันการเงินให้มีความเหมาะสมด้วยมาตรการกำกับดูแลความเสี่ยงเชิงระบบ เพื่อป้องกันมิ ให้พฤติกรรมสุ่มเสี่ยงขยายผลในวงกว้าง และช่วยเสริมสร้างมาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ดี เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
"ยืนยันว่า การที่ ธปท.ปรับปรุงหลักเกณฑ์สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยดังกล่าว ไม่ใช่เป็นเพราะเห็นว่าเกิดภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์แล้ว เพียงแต่เราแค่เห็นสัญญาณ แต่มันยังไม่เกิด เราจึงได้ออกมาตรการที่เป็นเชิงป้องกันมากกว่าที่จะเป็นมาตรการเชิงแก้ไข" นายสักกะภพระบุ
ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงมาตรการของ ธปท.ว่า เป็นเรื่องที่ดี และเป็นหน้าที่ของ ธปท.ที่ต้องดูแล ขณะที่สถาบันการเงินต้องปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง
อินโฟเควสท์
ผู้ประกอบการอสังหาฯ เตรียมเสนอ ธปท.ปรับเกณฑ์สินเชื่อบ้านฯให้ชัดเจนตรงจุดไม่เหมารวม หวั่นกระทบห่วงโซ่ศก.
นายอธิป พีชานนท์ นายกธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ในวันที่ 11 ต.ค.นี้จะเข้าไปรับฟังการปรับปรุงเกณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีการกำหนดวงเงินดาวน์ของการซื้อบ้านหลังที่ 2 และการซื้อบ้านราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป โดยคาดว่ากลุ่มผู้ประกอบการจะมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะให้กับ ธปท.หลายประเด็น โดยเฉพาะการสร้างความชัดเจนของมาตรการที่กำลังจะประกาศบังคับใช้
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการมองว่า โดยในภาพรวมแล้วทาง ธปม.ควรจะระบุเงื่อนไขให้ชัดเจนและตรงจุด ไม่ควรที่จะออกเกณฑ์มาแบบเหมารวม ธปท.ควรจะกำหนดความชัดเจนของประเภทสินค้า เพราะเบื้องต้นคาดว่าจะมีผลกระทบกับกลุ่มสินค้าแนวราบที่ส่วนใหญ่เป็นการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง ไม่ใช่การเก็งกำไร และผู้ซื้อบ้านหลังแรกที่เป็นคอนโดมิเนียม และต้องการซื้อบ้านหลังที่ 2 เพื่อเปลี่ยนเป็นอยู่บ้านแนวราบ โดยการเพิ่มวงเงินดาวน์เป็น 20% สำหรับบ้านจัดสรรนั้น ผู้ซื้อจะต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นมาก และระยะเวลาการสะสมเงินดาวน์เพียง 6 เดือนถือว่าสั้นมาก คาดว่ามีผลกระทบหากเหมารวมโครงการบ้านจัดสรรไปด้วย
ขณะที่โครงการคอนโดมิเนียมจะได้รับผลกระทบมากเช่นกัน เพราะผู้ซื้อในสัดส่วนราว 50% ซื้อเพื่อเป็นบ้านหลังที่ 2 เช่นเดียวกับโครงการบ้านพักตากอากาศในต่างจังหวัดก็จะกระทบด้วยเช่นกัน เพราะส่วนใหญ่ก็เป็นบ้านหลังที่ 2
นอกจากนั้น ยังเห็นว่าคำจำกัดความของการซื้อบ้านหลังที่ 2 ควรจะหมายถึงการที่ผู้ซื้อบ้านมีภาระผ่อนชำระบ้านหลังแรกกับสถาบันการเงินยังไม่เสร็จสิ้น และขอกู้มาซื้อบ้านหลังที่ 2 แต่ผู้ที่ชำระคืนหนี้กู้ซื้อบ้านไปแล้วทั้งหมดและผู้ที่ซื่อบ้านด้วยเงินสดไปแล้วไม่ควรนับรวม
ส่วนกำหนดการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ใหม่จะต้องมีความชัดเจน เพราะมองว่าผู้ที่ทำสัญญาซื้อก่อนวันที่ 1 ม.ค.62 ซึ่งเป็นวันที่คาดว่าจะมีการบังคับใช้เกณฑ์ใหม่นั้น หากจ่ายเงินดาวน์หลังวันที่ 1 ม.ค.62 ก็ควรจะต้องจ่ายเงินตามหลักเกณฑ์เดิม โดยสัญญาที่เริ่มมาก่อนหน้านั้นจะต้องอนุโลมเป็นเกณฑ์เดิมไปก่อนเพื่อให้เกิดความยุติธรรม
นายอธิป กล่าวว่า หลังจากเกณฑ์ของ ธปท.ประกาศออกมา น่าจะทำให้การเปิดโครงการใหม่ของผู้ประกอบการชะลอตัวลงตั้งแต่เดือนต.ค.นี้เป็นต้นไป และจะกระทบกับการโอนโครงการในปี 62 โดยเฉพาะยอดโอนคอนโดมิเนียมอาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งนี้ การโอนโครงการคอนโดมิเนียมทั้งตลาดในแต่ละปีเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5 แสนล้านบาท/ปี
ทั้งนี้ เกณฑ์การวางเงินดาวน์ใหม่ที่ ธปท.ประกาศออกมาจะกระทบเฉพาะในส่วนของผู้กู้ที่ซื้อบ้านหลังที่ 2 เท่านั้น ซึ่งเพิ่มวงเงินดาวน์เป็น 20% จากเดิม 10% ส่วนผู้ซื้อบ้านที่ราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไปไม่ได้รับผลกระทบมากนะก เนื่องจากเป็นเกณฑ์เดิมที่วางเงินดาวน์อย่างน้อย 20%
"เกณฑ์วางเงินดาวน์ใหม่จะทำให้ผู้ซื้อสับสนและกังวลใจ เราก็สงสัยว่าแบงก์ชาติเลือกเวลากับมาตรการมาเหมาะสมกับงานมหกรรมบ้านและคอนโดหรือเปล่า เมื่อข่าวแบบนี้ออกมาชาวบ้านก็เกิดความสับสน อะไรที่เค้าไม่เข้าใจก็จะ wait and see ไม่รู้ว่างแบงก์ชาติคุยกับรัฐบาลหรือเปล่า เพราะหากกระทบกับตลาดอสังหาฯก็จะกระทบกับเศรษฐกิจ และการป้องกันของแบงก์ชาติก็ไม่รู้ว่าระวังมากเกินไปหรือเปล่า เหมือนกับเมืองไทยยังไม่มีหิมะแต่เอาโซ่มารัดล้อรถ หลังจากนี้ก็จะเห็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ชะลอการเปิดตัว เพราะการปรับ LTV ใหม่ต้องใช้เงินดาวน์สูง และต้องรอดูลูกค้าตอบรับโครงการปัจจุบันยังไง"นายอธิป กล่าว
ด้านนางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า หลักเกณฑ์ใหม่ของ ธปท.มีผลกระทบต่อโครงการคอนโดมิเนียมค่อนข้างมาก เพราะผู้ซื้อส่วนใหญ่ซื้อเป็นบ้านหลังทื่ 2 และผลกระทบต่อลูกค้าที่จะเริ่มโอนก็จะต้องหาเงินดาวน์มาเพิ่มเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ไหม่ มองว่าไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับลูกค้า โดยเฉพาะโครงการที่มีกำหนดการโอนในช่วงต้นปี 62 จะได้รับผลกระทบอย่างมากเพราะลูกค้าจะมีเวลาไม่มากนักในการหาเงินดาวน์เพิ่มขึ้น
ขณะที่ในส่วนของผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบในแง่ของการรับรู้รายได้ที่อาจจะเกิดความล่าช้า และการการขายโครงการคอนโดมิเนียมอาจชะลอตัวลง ไม่ว่าจะเป็นคอนโดมิเนียมที่เปิดใหม่ และโครงการคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จแล้วเหลือขาย ซึ่งหากผลกระทบที่เกิดขึ้นมากจะส่งผลต่อภาพรวมของตลาดทั้งหมด เพราะคอนโดมิเนียมถือว่ามีสัดส่วนครึ่งนึงของมูลค่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด 5 แสนล้านบาท
"มองว่าเกณฑ์แบงก์ชาติที่ออกมาไม่สมเหตุสมผล เพราะจะกระทบต่อลูกค้าและโครงการที่กำลังจะมีการโอนในเร็วๆนี้ คนที่ตายคือผู้ประกอบการ เพราะว่าหากลูกค้าไม่มีความพร้อมในการวางเงินดาวน์เพิ่มจะเป็นปัญหากับผู้ประกอบการที่การโอนอาจจะเกิดการชะลอตัวขึ้น เพราะโครงการคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่ก็ซื้อขายมาล่วงหน้า และหากเกณฑ์ใหม่ใช้ลูกค้าบางกลุ่มอาจจะไม่พร้อมที่จะเพิ่มเงินดาวน์ให้เป็นไปตามเกณฑ์ และทำให้โอนทำไม่ได้ตามที่ตั้งไว้"นางอาภา กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะยังไม่เห็นด้วยกับเกณฑ์เกี่ยวกับการเพิ่มเงินดาวน์ แต่สิ่งที่เห็นพ้องกับ ธปท. คือ การนำสินเชื่อประเภทอื่นๆมาคิดคำนวณวงเงินในการปล่อยกู้ เพื่อที่จะทำให้ทราบถึงภาระหนี้สินของผู้กู้ และเป็นการลดความเสี่ยงให้กับธนาคารอีกด้วย
คลัง เผยแบงก์ชาติเรียกเอกชนหารือมาตรการคุมสินเชื่ออสังหาฯ 11 ต.ค.นี้ หนุนส่งสัญญาณให้ระมัดระวัง
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เรียกผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าหารือมาตรการควบคุมการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในวันที่ 11 ต.ค.61 เพื่อหารือให้ได้ข้อสรุปและข้อยุติที่เหมาะสม และเป็นประโยชน์กับการเดินหน้าเศรษฐกิจประเทศ
"ตลาดอย่าเพิ่งไปคาดคะเนกันเองว่า มาตรการจะออกมารุนแรง อยากให้รอดูข้อมูลแต่ละฝ่าย ซึ่งเชื่อว่าเอกชนมีข้อมูลข้อเท็จจริงที่คล้ายกับทาง ธปท. แต่ต้องทำความเข้าใจกัน การส่งสัญญาณของ ธปท.ในเรื่องนี้ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะทำให้ตลาดตื่นตัวและมีความระมัดระวังมากขึ้น" รมช.คลัง กล่าว
ทั้งนี้ จากการรายงานข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เชื่อว่าการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังไม่มีความน่ากังวลมาก เนื่องจากปริมาณซัพพลายในตลาดปีนี้ มีน้อยกว่าปีก่อนหน้า ขณะที่ปริมาณการโอนที่อยู่อาศัยสะสมก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนยอดการจองยังทรงตัว ไม่พบความผิดปกติ จึงไม่ต้องกังวลอะไร
ส่วนการคุมการปล่อยสินเชื่อต่อราคาที่อยู่อาศัย (LTV) ก็ควรดูภาวะตลาด เช่น บ้านหลังที่สองก็ปรับ LTV ลดลงได้ และต้องดูคุณภาพสินเชื่อ ภาพรวมหนี้เสีย มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยหรือไม่ เพราะ LTV ไม่ใช่ตัวชี้วัดคุณภาพสินเชื่อ แต่ต้องดูผู้บริโภคเป็นหลัก ส่วนแนวโน้มการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ พบว่ายังอยู่ในสัดส่วนเฉลี่ย 10% ยังเป็นตัวเลขที่พอรับได้
รมช.คลัง เชื่อว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มขยายตัวดีอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องมีการออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม ส่วนมาตรการคุมสินเชื่อของ ธปท.ก็ต้องรับฟังความเห็นให้รอบด้าน ซึ่งปัจจุบัน ที่อยู่อาศัยแนวราบและการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยหลังแรก ไม่น่าจะมีปัญหา ส่วนกลุ่มคอนโดมิเนียม ก็ต้องจำแนกให้ดี เพราะมีลูกค้าที่มีรายได้หลากหลาย และมีราคาขายที่แตกต่างกัน
อินโฟเควสท์