- Details
- Category: ธปท.
- Published: Saturday, 29 September 2018 11:12
- Hits: 3453
ธปท.เตรียมคลอดเกณฑ์ P2P สิ้นปีนี้ พร้อมขยายโอนเงินออนไลน์เป็น 7 แสนบ.
ธปท.เผยภายในสิ้นปีนี้ เตรียมคลอดเกณฑ์ทำธุรกิจ P2P Lending Platform หวังเพิ่มช่องทางกู้เงินบุคคลต่อบุคคลแบบถูกกฎหมาย เบื้องต้นย้ำต้องจดทะเบียนในไทย - ทุนขั้นต่ำ 5 ลบ. พร้อมขยายวงเงินการโอนเงินผ่านเลขบัญชีเพิ่มจาก 5 หมื่นบาท เป็นไม่เกิน 7 แสนบาทด้วย สั่งแบงก์ขยายคอขวดกันระบบล่ม
นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงการเปิดให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล (P2P Lending Platform) ว่า ภายในสิ้นปีนี้ ธปท. จะออกหลักเกณฑ์สำหรับผู้ที่จะดำเนินธุรกิจในรูปแบบ P2P Lending Platform ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาร่วมกับสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทั้งนี้ ผู้ที่จะประกอบธุรกิจดังกล่าวได้ จะต้องเข้าทดสอบใน Regulatory Sandbox ก่อนให้บริการจริง
นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงิน และเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ที่จะดำเนินธุรกิจ P2P Lending Platform จะต้องเข้าร่วมทดสอบใน Regulatory Sandbox หลังจากผ่านการทดสอบแล้ว ธปท.จะเสนอให้กระทรวงการคลังออกใบอนุญาตเพื่อดำเนินธุรกิจได้ ด้านสถาบันการเงินปัจจุบันสามารถดำเนินธุรกิจในรูปแบบดังกล่าวได้อยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตอีก แต่หลักเกณฑ์ดังกล่าวนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องการดำเนินธุรกิจการปล่อยเงินกู้แบบมีสัญญามีช่องทางมากขึ้น รวมถึงให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีโครงการเข้าถึงบริการทางการเงินได้เพิ่มมากขึ้นด้วย
สำหรับ เบื้องต้น ผู้ที่จะดำเนินธุรกิจใน P2P Lending Platform ได้นั้น จะต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในไทย มีทุนขั้นต่ำ 5 ล้านบาทตลอดระยะเวลาการประกอบธุรกิจ และมีคนไทยถือหุ้นมากกว่าหรือเท่ากับ 75% สำหรับผู้กู้ ที่เป็นบุคคลธรรมดาจะต้องไม่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ P2P Lending Platform และไม่เป็นผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจ P2P Lending Platform รวมถึงไม่ขอกู้ด้วยโครงการหรือ Underlying เดียวกันจาก Platform อื่นก่อนหน้า
ด้านผู้ให้กู้นั้น เบื้องต้นกำหนดให้บุคคลธรรมดา สามารถร่วมปล่อยกู้ได้ถึง 500,000 บาทต่อปี ขณะที่นิติบุคคลที่ใความเข้าใจ และสามารถประเมินความเสี่ยงได้ดี จะสามารถปล่อยกู้ร่วมได้ไม่จำกัดวงเงิน และไม่เป็นผู้ประกอบการ P2P Lending Platform หรือ Crowdfunding Portal สำหรับดอกเบี้ยกำหนดเพดานไม่เกิน 15% ต่อปี สำหรับผู้กู้ที่มีโครงการนั้น สามารถกู้ได้สูงถึง 50 ล้านบาท
“ครั้งนี้เป็นการเปิดให้ผู้กู้หลายๆคนเข้ามาอยู่ใน Platform ซึ่ง Platform จะช่วยแมชชิ่งกันระหว่างผู้กู้กับผู้ให้กู้ โดยอยู่บนเงื่อนไขที่ธปท.กำหนด ขณะที่การดูแลความเสี่ยงนั้น ผู้ปล่อยกู้จะต้องพิจารณาความเสี่ยงที่สามารถรับได้ แต่ด้านธปท.จะดูในการคุ้มครองผู้บริโภคควบคู่กันไป ด้านการติดตามทวงถาม หรือเรื่องการผิดสัญญานั้นจะเป็นไปตามที่กฎหมายมีอยู่แล้ว”นางสาวสิริธิดา กล่าว
นางสาวสิริธิดา กล่าวถึงแนวทางการขยายตัวของการบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์และการขยายวงเงินการโอนเงินผ่านช่องทางออนไลน์ ว่า ปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ได้กำหนดวงเงินสูงสุดในการโอนเงินผ่านเลขที่บัญชีไว้ที่ 50,000 บาทต่อครั้ง แต่ในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ปริมาณการธุรกรรมสูงขึ้น จากการเปิดให้บริการพร้อมเพย์และการเปิดฟรีค่าธรรมเนียม ดังนั้นเพื่อความสะดวกมากขึ้นให้กับประชาชน ธปท.จึงได้หารือกับสมาคมธนาคารไทย เพื่อขยายวงเงินการโอนจาก 50,000 บาทต่อครั้ง เป็นไม่เกิน 700,000 บาทต่อครั้ง โดยจะเริ่มตั้งแต่ตุลาคมนี้เป็นต้นไป
“ที่ผ่านมาการโอนผ่านบัญชีมีข้อจำกัด คือ 50,000 บาทต่อครั้ง ขณะที่การโอนผ่านพร้อมเพย์หรือแบบหมายเลขโทรศัพท์กับบัตรประชาชนสูงถึง 2 ล้านบาท ซึ่งแล้วแต่ข้อกำหนดของสถาบันการเงิน ดังนั้นเพื่อขยายช่องทางของหมายเลขบัญชีจึงกำหนดให้เพิ่มวงเงินการโอนต่อครั้งเพิ่มขึ้นด้วย”นางสาวสิริธิดา กล่าว
นอกจากนี้ จากเหตุการณ์ระบบของสถาบันการเงินล่มในช่วงวันสิ้นเดือน เนื่องจากมีธุรกรรมสูงกว่าช่วงวันปกติ ธปท.จึงได้หารือร่วมกับ สมาคมธนาคารไทยและบริษัทกลาง ITMX เพื่อขยายช่องในการทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงก์กิ้ง โดยกำหนดให้รองรับปริมาณธุรกรรมสูงถึง 2 เท่าจากช่วงปกติ รวมถึงการติดตามปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้สามารถแก้ไขได้ทันถ่วงที
“เราได้ให้แบงก์ขจัดปัญหาคอขวดในการทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงค์กิ้ง โดยเฉพาะในช่วงสิ้นเดือน และให้สามารถรองรับปริมาณธุรกรรม สูงสุดอย่างน้อย 2 เท่า รวมถึงสร้างและพัฒนา Dash board หรือ หน้าแรกที่แสดงรายการบน Application ในการติดตามการทำงานของระบบในภาพรวม ให้เกิดความรวดเร็วในการแก้ปัญหา”นางสาวสิริธิดา กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย