- Details
- Category: ธปท.
- Published: Sunday, 19 August 2018 15:09
- Hits: 11020
ธปท.เผย สินเชื่อแบงก์พาณิชย์ Q2/61 โต 5.4% คาดทั้งปีโต 4-6% ห่วงคนจนเจอพิษดบ.ขาขึ้น
ธปท.เผยสินเชื่อแบงก์พาณิชย์ Q2/61 โต 5.4% ส่วนทั้งปีคาดโต 4-6% ด้าน NPL ยังอยู่ในกรอบประเมิน 2.92-2.95% เชื่อต้นปีหน้าเริ่มลดลง รับศก.ฟื้นตัว ขณะที่แบงก์ลงทุนดิจิทัล กระทบกำไรบางช่วง พร้อมห่วงคนจนหากดอกเบี้ยเริ่มเข้าสู่ขาขึ้น
นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2/2561 ที่ผ่านมา เติบโต 5.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น สำหรับสินเชื่อธุรกิจขยายตัวในหลายประเภทธุรกิจ โดยเฉพาะจากพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีที่วงเงินค่อนข้างสูง สำหรับสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวในทุกพอร์ตสินเชื่อโดยเฉพาะจากการเร่งตัวต่อเนื่องของสินเชื่อรถยนต์ ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.93% ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนที่ 2.92%
โดยในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา พบว่า สินเชื่อธุรกิจ ขยายตัว 4.1% เพิ่มขึ้นในหลายประเภทธุรกิจ โดยเฉพาะจากสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีที่วงเงินค่อนข้างสูง แม้การขยายตัวของสินเชื่อเอสเอ็มอี ที่มีวงเงินขนาดเล็กปรับดีขึ้นบ้าง แต่ยังกระจุกตัวในบางพื้นที่ โดยเฉพาะกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี ขยายตัว 7.5% จากธุรกิจโรงไฟฟ้า ธุรกิจอาคารชุดที่พักอาศัยและอาคารแฟลตเพื่อขาย และธุรกิจขายส่งสินค้าทั่วไป สำหรับสินเชื่อขนาดใหญ่หดตัวที่ 1.8% เนื่องจากธุรกิจขนาดใหญ่มีทางเลือกในการระดมทุนผ่านตราสารหนี้และหุ้น ประกอบกับธุรกิจบางส่วนมีการชำระคืนหนี้
ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภค ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหลักจากสินเชื่อรถยนต์ที่เร่งตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 มาอยู่ที่ 12.4% สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ที่เติบโตต่อเนื่องหลังสิ้นสุดระยะเวลาการถือครองรถยนต์คันแรก 5 ปี
ขณะที่ทั้งปี 2561 คาดว่าสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์จะยังเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 4-6% จากการขยายตัวของสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ขณะที่ NPL จะทรงตัวในระดับที่ 2.92-2.95% ก่อนจะเริ่มปรับตัวลดลงในช่วงต้นปีหน้า ตามภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น
นางสาวดารณี กล่าวว่า ในไตรมาส 2 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากค่าใช้จ่ายกันสำรองที่ลดลง และรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของสินเชื่อ แม้รายได้ค่าธรรมเนียมจะได้รับผลกระทบจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงิน โดยในไตรมาส 2 พบว่า รายได้จากค่าธรรมเนียมจากการโอนเงินลดลง 11.2% แต่ทั้งนี้ ในระยะต่อไป ยอมรับว่า จากการพัฒนาด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นนั้น จะส่งผลกระทบต่อกำไรของธนาคารพาณิชย์บ้างในบางไตรมาส แต่ในระยะยาวจะส่งผลดีต่อต้นทุนและการบริหารจัดการในระยะต่อไป
ด้านแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่มองว่าจะเข้าสู่ภาวะขาขึ้นนั้น อาจส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากมีหนี้ในระดับสูง หรือ มีหนี้ในหลายประเภท ทั้งสินเชื่อบ้าน สินเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น
“ดอกเบี้ยขาขึ้น เราห่วงกลุ่มที่เปราะบางอยู่แล้ว เช่น กลุ่มที่มีรายได้น้อย เนื่องจากมีกันชนไม่มาก หากมีอะไรมากระทบก็อาจเกิดอาการไม่ดีได้ เช่น กลุ่ม คนฐานราก ที่เป็นหนี้ค่อนข้างเยอะ ซึ่งขณะนี้ธปท.ยังไม่ได้มีเกณฑ์ที่ชัดเจนออกมาว่าจะต้องกำหนดภาระหนี้ที่เท่าไหร่ แต่ในปัจจุบัน พบว่า สถาบันการเงินมีเกณฑ์ดังกล่าวกำกับไว้อยู่แล้ว”นางสาวดารณี กล่าว
ธปท.เชื่อวิกฤติตุรกีกระทบตลาดเงินไทยจำกัด แต่ไม่ประมาทสั่งจับตาใกล้ชิด
ธปท.เชื่อวิกฤติตุรกีกระทบตลาดเงินไทยจำกัด เหตุความเชื่อมโยงทางการค้าระหว่างกันยังไม่สูงมาก แต่ไม่ประมาทสั่งจับตาพร้อมประเมินสถานการณ์ใกล้ชิด
นางจันทรวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายยุทธศาสตร์ และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า ธปท.พร้อมติดตามสถานการณ์ในตลาดการเงินโลกอย่างใกล้ชิด จากเหตุการณ์ในประเทศตุรกี ทั้งความเชื่อมโยงทางการค้า การลงทุน และ การเงิน โดยเบื้องต้น ประเมินว่า ความเชื่อมโยงของไทยกับประเทศตุรกียังไม่สูงมาก จึงส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินไทยจึงอยู่ในวงจำกัด
อย่างไรก็ตาม ธปท.จะติดตามผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ และช่องทางการส่งผ่านต่างๆ เพื่อประกอบการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
อนึ่ง ตุรกีกำลังเผชิญกับสถานการณ์ ค่าเงินลีลาอ่อนค่าลงอย่างหนัก แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์จากความกังวลเศรษฐกิจของตุรกีหลังสหรัฐเพิ่มอัตราภาษีต่อเหล็กและอลูมิเนียมที่นำเข้าจากตุรกีขึ้นอีก 2 เท่าเป็น 50% และ 20% ตามลำดับ ขณะที่ธนาคารกลางตุรกีปรับลดสัดส่วนกันสำรองเงินสกุลลีรา 2.5%
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย