- Details
- Category: ธปท.
- Published: Saturday, 28 July 2018 21:30
- Hits: 3189
ธปท.เผยเอสเอ็มอีไทย ขอสินเชื่อแบงก์แค่ 17% จาก 3 ล้านราย - NPL กระฉูดกว่า 2.5 แสนลบ.
ธปท. เผยเอสเอ็มอีไทย เข้าถึงสินเชื่อจากแบงก์พาณิชย์เพียง 17% เท่านั้น จากเอสเอ็มอีทั้งหมด 3 ล้านราย พบส่วนใหญ่กระจุกตัวในภาคการผลิต ฟาก NPL ล่าสุดอยู่ที่ 251,767 ล้านบาท พบกลุ่มเหมืองแร่ - ก่อสร้าง - อุตสาหกรรม หนี้ทะลัก
นางสาว จารีย์ ปิ่นทอง นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ได้เปิดเผยถึงมุมมองสินเชื่อธุรกิจไทย ระบุว่า ในปัจจุบันมีเอสเอ็มอีมากกว่า 3 ล้านราย แต่พบว่า มีจำนวน 17% จากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งหมดเท่านั้น หรือประมาณ 520,000 ราย ที่เข้าถึงสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ และยังพบว่า การปล่อยสินเชื่อยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ โดยเฉพาะภาคการผลิต
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่า การที่เอสเอ็มอีมีขนาดเล็ก จึงทำให้เสียเปรียบธุรกิจขนาดใหญ่ที่ได้ประโยชน์จากการเข้าถึงเงินทุนได้คล่องตัวกว่า แต่ทั้งนี้ ยังมีเอสเอ็มอีจำนวนมากที่ยังประสบปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยี ตลาด ส่งผลให้เอสเอ็มอีจำนวนมากไม่สามารถขยายกิจการ หรือเติบโตเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ได้
ทั้งนี้ สิ่งที่ภาครัฐ ภาคธนาคารจะต้องนำมาปรับและพิจารณา คือ รัฐอาจจะต้องพิจารณาปัจจัยอื่นเพิ่มเติทในการสร้าง Credit score สำหรับบริษัทขนาดเล็ก เช่น การชำระหนี้ค่าสาธารณูปโภคที่ตรงเวลา มาคำนวณหรือพิจารณาการให้สินเชื่อกับบริษัทขนาดเล็กด้วย
“ผู้ประกอบการที่ไม่ได้เข้ามากู้เงินกับธนาคารพาณิชย์นั้น ประกอบด้วย ผู้ที่มีความต้องการสินเชื่อ แต่ไม่ได้รับสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ และผู้ประกอบการที่ไม่ได้กู้ผ่านธนาคาร เพราะมีช่องทางอื่นในการระดมทุน เช่น สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ สถาบันการเงินชุมชน เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่เข้าถึงแหล่งเงินได้มากกกว่า เนื่องจาก มีหลักทรัพย์ค้ำประกันสูงกว่า รวมถึงความต้องการเงินทุนที่สูงกว่าด้วย”นางสาวจารีย์ กล่าว
สำหรับ สถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ของเอสเอ็มอีนั้น ณ มกราคม 2561 พบว่า หนี้ NPL ของเอสเอ็มอีอยู่ที่ 251,767 ล้านบาท หรือ 6.22% ของยอดสินเชื่อคงค้าง จากจำนวนผู้ประกอบการที่มีหนี้เสีย 42,094 ราย ซึ่งพบว่า กลุ่มที่มีหนี้เสียค่อนข้างสูง คือ ธุรกิจเหมืองแร่ ที่มี NPL ถึง 47.19% รองลงมาคือ ก่อสร้างที่มีหนี้เสีย 7.6% และ อุตสาหกรรมที่มีหนี้เสีย 7.01%
นางสาว นฎา วะสี นักวิจัยชำนาญการ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธปท. กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า สินเชื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญของบริษัทเล็ก ซึ่งต่างไปจากธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีแหล่งเงินทุนอื่นๆนอกเหนือจากเงินกู้ลจากสถาบันการเงิน และจากการศึกษายังพบว่า การได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินนั้น จะช่วยลดข้อจำกัดในการลงทุนของบริษัทได้
“สิ่งที่เราตั้งข้อสังเกตุตอนนี้ คือ สินเชื่อยังกระจุกตัวในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ แต่มีกำไรปานกลาง และกลุ่มที่ไม่มีสินเชื่อ กระจุกตัวในบริษัทขนาดเล็ก และมีอัตรากำไรต่ำ และกลุ่มที่มีอัตรากำไรสูง ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาต่อว่าเป็นเพราะเหตุใดบริษัทในกลุ่มหลังที่มผลิตภาพดี และมีศักยภาพดีจึงไม่เข้ามาใช้บริการในตลาดสินเชื่อ”นางสาวนฎา กล่าว
นอกจากนี้ จากการศึกษา ยังพบว่า กลุ่มบริษัทที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี เป็นกลุ่มที่มีสักส่วนการมีสินเชื่อธุรกิจต่ำที่สุด โดยอาจจะมีสาเหตุจากบริษัทในกลุ่มดังกล่าวยังก่อตั้งไม่นาน ทำให้สถาบันการเงินมีข้อมูลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานหรือความน่าเชื่อถือทางการเงินไม่เพียงพอที่จะประเมินความเสี่ยงได้ ขณะเดียวกันบริษัทที่มีอายุมากขึ้น จะมีสัดส่วน Credit line มากขึ้น เช่น เงินเบิกเกินบัญชี และบัตรเครดิต
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย