- Details
- Category: ธปท.
- Published: Thursday, 11 September 2014 12:31
- Hits: 3566
ธปท. เผย ล่าสุด KTB -TMB นำร่องเสนอขายตราสารเงินกองทุนตามหลักเกณฑ์ Basel III ไปแล้วรวมมูลค่า 6.2 หมื่นลบ.
ธปท. เผยล่าสุด KTB TMB นำร่องเสนอขายตราสาร Basel III ไปแล้วรวมมูลค่า 6.2 หมื่นลบ. แนะแบงก์ใดจะขายตราสารดังกล่าว ควรให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ลงทุน ดูความพร้อมในการรับความเสี่ยงด้วย เหตุตราสารประเภทนี้มีความเสี่ยงสูงกว่าตราสารหนี้ทั่วๆ ไป ค่อนข้างคล้ายตราสารทุน แต่มีข้อดีต่อแบงก์คือ รองรับความเสียหายของสถาบันการเงินได้-ลดภาระทางการเงินของทางการในการให้ความช่วยเหลือ และดีต่อผู้ลงทุนคือเป็นการเพิ่มทางเลือก
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เปิดเผยว่า จากปัญหาวิกฤตการณ์สถาบันการเงินในปี 2008 ที่ผ่านมา เป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นว่าตราสารหนี้ด้อยสิทธิระยะยาวที่เกณฑ์ Basel อนุญาตให้นับรวมเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 นั้นไม่ช่วยรับความเสียหายของสถาบันการเงินที่มีปัญหาได้อย่างแท้จริง จึงเป็นเหตุที่นำไปสู่การปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของตราสารหนี้ที่อนุญาตให้นับเป็นเงินกองทุนได้ โดยมีวัตถุประสงค์ให้สามารถรองรับความเสียหายของสถาบันการเงินใกล้เคียงกับตราสารทุนทั่วไป
คุณลักษณะสำคัญที่ช่วยรองรับความเสียหาย คือ ในยามที่สถาบันการเงินมีปัญหา ตราสารหนี้ด้อยสิทธินี้ต้องสามารถแปลงเป็นหุ้นสามัญ หรือลดมูลค่าหนี้เพื่อช่วยบรรเทาภาระของสถาบันการเงินและช่วยให้ฐานะเงินกองทุนของสถาบันการเงินเข้มแข็งขึ้น ตลอดจนภายใต้สถานการณ์ที่ทางการเห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องเข้าช่วยเหลือสถาบันการเงิน (เพราะมิฉะนั้นอาจลุลามบานปลาย) ตราสารหนี้เหล่านี้ก็ต้องช่วยลดภาระทางการเงินของทางการเงินในการเข้าช่วยเหลือด้วย
ข้อดีของตราสารเงินกองทุนนี้ คือ ในภาวะปกติที่สถาบันการเงินมีความแข็งแกร่ง แต่หากต้องการเพิ่มทุนเพื่อขยายธุรกิจหรือรองรับการขยายสินเชื่อ ตราสารเงินทุนนี้ก็จะเป็นทางเลือกในการเพิ่มทุนของสถาบันการเงินนอกเหนือจากการออกขายหุ้นสามัญทั่วไป และในยามภาวะที่มีปัญหาก็สามารถใช้รองรับความเสียหายได้อย่างดีใกล้เคียงกับหุ้นสามัญตามกลไกที่กล่าวข้างต้น นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ลงทุนตราสารนี้ก็เป็นทางเลือกเพิ่มเติมในการลงทุนด้วย
ประการสำคัญ คือ ตราสารหนี้ประเภทนี้มีลักษณะที่ค่อนข้างซับซ้อนและมีความเสี่ยงสูงกว่าตราสารหนี้ทั่วๆ ไป กล่าวคือ มีความเสี่ยงคล้ายตราสารทุน (ซึ่งปกติตราสารทุนจะมีความเสี่ยงสูงกว่าตราสารหนี้อยู่แล้ว) เพราะต้องช่วยรองรับผลเสียหายของสถาบันการเงินเมื่อสถาบันการเงินนั้นประสบปัญหาในด้านความไม่เพียงพอของเงินกองทุนโดยจะถูกแปลงเป็นหุ้นสามัญหรือปรับลดมูลค่าหนี้ เมื่อทางการตัดสินใจเข้าช่วยเหลือทางการเงิน ด้วยเหตุนี้ ธนาคารพาณิชย์ ที่จะขายตราสารประเภทนี้จึงต้องดูแลความเหมาะสมของผู้ลงทุนทั้งในแง่ความรู้ความเข้าใจ และความพร้อมในการรับความเสี่ยงด้วย
ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2557 สถาบั้นการเงินไทยมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงทั้งสิ้น (Total Capital Ratio) อยู่ที่ระดับ 15.8% ซึ่งสูงกว่าอัตราส่วนขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดที่ 8.5% และที่ผ่านมาได้มีธนาคารพาณิชย์หลายราย เช่น ธนาคารกรุงไทย และธนาคารทหารไทย เป็นต้น ออกและเสนอขายตราสารเงินกองทุนตามหลักเกณฑ์ Basel III ไปแล้วทั้งสิ้นประมาณ 62,000 ล้านบาท
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)เปิดเผยว่าคณะกรรมการกำกับตลาดทุนมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์เพื่ออนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ออกและเสนอขายตราสาร Basel III ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไปได้ รวมถึงอนุญาตให้กองทุนรวมทุกประเภท ยกเว้นกองทุนรวมตลาดเงินลงทุนในตราสาร Basel III ทั้งในและต่างประเทศได้ไม่เกินอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนด เพื่อเปิดโอกาสให้ธนาคารมีช่องทางสร้างความเข้มแข็งของเงินกองทุนเพิ่มขึ้น และผู้ลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย