- Details
- Category: ธปท.
- Published: Wednesday, 30 May 2018 08:44
- Hits: 2031
ธปท. เผยงบปี 60 ขาดทุนกว่า 2.7 แสนลบ.จากการตีราคาเงินสำรองระหว่างปท. ยันไม่กระทบเสถียรภาพเศรษฐกิจ
นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ผลการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประจำปี 2560 โดยมีผลขาดทุนรวม 270,688 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลที่เกี่ยวเนื่องกับการตีราคาเงินสำรองระหว่างประเทศเป็นสำคัญ ในขณะที่ต้นทุนจากการดำเนินนโยบายการเงินปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ผลจากการตีราคาเงินสำรองระหว่างประเทศ ตามมาตรฐานบัญชีกำหนดให้ทุกสิ้นปี ต้องตีราคาสินทรัพย์เหล่านี้ในรูปของเงินบาท และ เนื่องจากกว่า 85% ของสินทรัพย์ที่ ธปท. ถืออยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศ ผลจากการตีราคาจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลการดำเนินงานของ ธปท.ผันผวนขึ้นลง ตามอัตราแลกเปลี่ยนในแต่ละช่วง โดยปกติเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวได้ดี ค่าเงินจะมีแนวโน้มแข็งขึ้น ธนาคารกลางก็มักจะขาดทุนจากการตีราคา
แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ค่าเงินอ่อนค่าลง ธนาคารกลางมักจะมีกำไรจากการตีราคา งบการเงินของธนาคารกลางจึงเป็นผลสะท้อนถึงสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมและฐานะการเงินของภาคเศรษฐกิจต่างๆ ของประเทศ
ณ สิ้นปี 2560 ธปท. มีเงินสำรองระหว่างประเทศ (รวมฐานะการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า) กระจายอยู่ในสกุลเงินต่างๆมูลค่ารวมประมาณ 2.4 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นหนึ่งบาทเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. และ ธปท. มิได้กระจายสกุลเงินและสินทรัพย์ที่ลงทุน ธปท. จะขาดทุนจากการตีราคาทันที 2.4 แสนล้านบาท ในทางตรงกันข้าม ถ้าเงินบาทอ่อนค่าลงหนึ่งบาท ธปท. ก็จะมีกำไรจากการตีราคา 2.4 แสนล้านบาท เมื่อบันทึกบัญชีเป็นเงินบาทโดยในปี 2560 เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักหลายสกุลและแข็งค่าขึ้นจาก 35.82 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์ สรอ. เมื่อสิ้นปี 2559 เป็น 32.66 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์ สรอ. เมื่อสิ้นปี 2560 จึงส่งผลให้เกิดการขาดทุนจากการตีราคาจำนวนประมาณ 2 แสนล้านบาท
นางจันทวรรณ กล่าวว่า ผลขาดทุนจากการตีราคาไม่ได้กระทบต่อความมั่นคงด้านต่างประเทศของเศรษฐกิจไทย เพราะเงินสำรองระหว่างประเทศที่จำเป็นต่อการดูแลเสถียรภาพด้านต่างประเทศจะต้องถืออยู่ในรูปของสินทรัพย์ต่างประเทศ ที่มีไว้พร้อมใช้สำหรับการรองรับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศและการไปลงทุนในต่างประเทศของคนไทย ตลอดจนเป็นกันชนรองรับการไหลออกของเงินทุน
สำหรับต้นทุนจากการดำเนินนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ จากการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลสภาพคล่อง อัตราดอกเบี้ย และเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ส่งผลให้ธปท. มีต้นทุนดอกเบี้ยจ่าย ในขณะที่รายรับจากการนำเงินสำรองระหว่างประเทศไปลงทุนได้ผลตอบแทนที่น้อยกว่า เพราะอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำมาโดยต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีในช่วงที่ผ่านมาส่วนต่างของดอกเบี้ยจ่าย-รับ ทยอยปรับดีขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดในปี 2560 ปรับลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 15,000 ล้านบาท และคาดว่าดอกเบี้ยรับจะกลับมาสูงกว่าดอกเบี้ยจ่ายในปี2 561 ตามอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น
ส่วนผลกระทบต่อการดำเนินนโยบาย อาจจะมีข้อกังวลใจว่าตัวเลขขาดทุนของธนาคารกลางจะกระทบต่อการดำเนินงานต่อไปได้หรือไม่ ธปท. ขอเรียนว่า การดำเนินภารกิจของธนาคารกลางไม่ได้มุ่งเน้นแสวงหากำไรเหมือนดังกรณีธุรกิจทั่วไป และตามที่ได้อธิบายข้างต้น ผลขาดทุนที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลขาดทุนที่เกี่ยวข้องกับการตีราคา ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงเป็นกำไรหรือขาดทุนได้ตามการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ ประสบการณ์ของธนาคารกลางในหลายประเทศที่ประสบกับผลขาดทุนเช่นธปท. ชี้ว่าการขาดทุนของธนาคารกลางไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายของธนาคารกลาง แต่เป็นผลจากการทำหน้าที่ของธนาคารกลางในการดูแลสภาพคล่องในระบบการเงินและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเสถียรภาพของระบบการเงินในระยะยาว
"ธปท. ขอให้ความมั่นใจว่า จะยังคงยึดแนวทางการทำหน้าที่ธนาคารกลางที่ดีตามหลักสากล มุ่งมั่นดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของประเทศด้วยความรอบคอบดังที่เป็นมา"
อินโฟเควสท์
นายกฯ ปลื้มตัวเลข GDP ใน Q1/61 โตดีที่สุดในรอบ 20 ไตรมาส, รับรู้ข้อกังขาศก.ไม่กระจายไปชุมชน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวกับประชาชนผ่านรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย กล่าวถึงด้านเศรษฐกิจของประเทศ จากตัวเลขที่ออกมาล่าสุด ใน 3 เดือนแรกของปี 2561 นี้ เศรษฐกิจไทยเติบโตจากช่วงเดียวกัน หรือ 3 เดือนแรกของปีก่อน ถึงร้อยละ 4.8 ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ดีที่สุดใน 20 ไตรมาส ที่ผ่านมา จากการใช้จ่ายปริมาณการส่งออกสินค้าขยายตัวได้ถึงร้อยละ 5 จากประเทศคู่ค้า และการลงทุนของภาคเอกชนที่ขยายตัวดีต่อเนื่องเช่นกัน
โดยไตรมาสนี้มีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 3.1 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความสนใจที่จะลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศด้วยสำหรับการวางรากฐานสำคัญได้แก่ ด้านกายภาพ ด้านทักษะ และด้านกรอบความยั่งยืน คือ การจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศ เพื่อกำหนดทิศทางในการผลักดันนโยบายต่างๆ ให้สอดคล้องและตอบโจทย์ความต้องการของประเทศและประชาชนในระยะยาว
ทั้งนี้ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและโทรคมนาคม โครงการเน็ตประชารัฐ ทุกหมู่บ้าน และโครงการระบบเคเบิลใต้น้ำ ระยะทาง 25,000 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระบบเคเบิลใต้น้ำเส้นแรกเสมือนเป็น land bridge ทางด้านโทรคมนาคมระหว่างประเทศที่จะทำให้ประเทศไทย มีวงจรเชื่อมต่อโดยตรงไปยังประเทศที่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่สำคัญของโลก ตามนโยบายThailand4.0 ของรัฐบาล และการพัฒนาข้อมูลขนาดใหญ่ของภาครัฐ (Big data)สำหรับเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลในมิติต่างๆ ให้เกิดความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมอีกด้วย
"ที่ผ่านมา รัฐบาลรับทราบปัญหาว่า ประโยชน์ของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เราคุยกันว่าดีขึ้นต่อเนื่องนั้น แต่ก็ยังไม่กระจายลงไปในพื้นที่ชุมชน และยังไม่ไปถึงพี่น้องประชาชนเท่าที่ควร หลายคนก็พูด อาจจะบ่นว่าเศรษฐกิจดีขึ้นจริงหรือ ทำไมรายได้ยังไม่เพิ่มขึ้น ปัญหาเหล่านี้ รัฐบาลและ คสช. ไม่ได้นิ่งดูดาย เพราะถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ได้อย่างยั่งยืน"นายกรัฐมนตรีกล่าว
อินโฟเควสท์
รัฐบาลไม่ห่วง IMD ลดอันดับความสามารถการแข่งขันเหตุลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทำขาดดุลการคลัง
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่สถาบัน IMD ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ปรับลดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในปี 61 ลงมาอยู่อันดับที่ 30 จากอันดับที่ 27 ในปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับลดลงไป 3 อันดับนั้น รัฐบาลไม่ได้รู้สึกกังวลมากนักต่อการถูกปรับลดอันดับดังกล่าวลง โดยเฉพาะในส่วนของประสิทธิภาพของภาครัฐ เนื่องจากอันดับที่ลดลงนั้นมาจากการขาดดุลภาคการคลังที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศอย่างต่อเนื่อง อันถือเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต
"เราไม่กังวลต่อการที่อันดับลดลง เพราะรัฐบาลยังมีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เป็นการลงทุนเพื่ออนาคต หรือการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง" นายกอบศักดิ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า ในส่วนของการจัดอันดับที่ลดลงจากการที่บริษัทมีการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากลูกจ้างเพิ่มขึ้นขึ้นนั้น รัฐบาลยังยืนยันว่าจะดำเนินนโยบายในส่วนนี้ต่อไป เพราะนโยบายที่บริษัทเรียกเก็บเงินนำส่งเข้ากองทุนฯ ในส่วนของลูกจ้างเพิ่มขึ้นนั้นเพื่อเป็นการเตรียมการสำหรับรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย เพราะไม่เช่นนั้นจะเป็นภาระของรัฐบาลมากขึ้นในอนาคต
"ถ้าเราไม่เตรียมการเรื่องนี้แต่เนิ่นๆ ในอนาคตก็จะมีปัญหา เพราะปัญหาหลักของประเทศไทยคือ สังคมผู้สูงวัย การที่มีบริษัทเอกชนทำเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ไม่ว่าคะแนนจะลดลง แต่เราคงเดินหน้าตามทางนี้ต่อไป ถ้าเราไม่เก็บเงินในส่วนนี้เลย อนาคตผู้สูงอายุจะลำบาก ดังนั้นอันดับที่ตกลงไปในส่วนนี้ เราไม่ได้ติดใจมาก" นายกอบศักดิ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า เตรียมจะมอบหมายงานให้แก่นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือเลขาสภาพัฒน์คนใหม่ ให้ไปหาแนวทางเพื่อตอบโจทย์เรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยให้หาดัชนีตัวอื่นที่สามารถควบคุมได้มาช่วยชดเชยดัชนีบางตัวที่อันดับลดลงไป เช่น การเข้าถึงดิจิทัล
นอกจากนี้ เชื่อว่าในปีถัดไปประเทศไทยจะได้รับการจัดอันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันในอันดับที่ดีขึ้นกว่าปีนี้ เพราะล่าสุด จากภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/61 ที่ขยายตัวได้ถึง 4.8% และเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ปี ซึ่งจะมีผลให้ดัชนีเศรษฐกิจในประเทศตัวอื่นๆ ปรับตัวดีขึ้นด้วย และน่าจะช่วยให้อันดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยในอนาคต ติดอยู่ใน 20 อันดับตามแผนยุทธศาสตร์ชาติได้
อินโฟเควสท์
โฆษก รบ.แจงใช้งบประมาณขาดดุลลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นผลดีระยะยาว แม้กระทบอันดับการแข่งขันของ IMD
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย IMD ประจำปี 2561 ซึ่งประเทศไทยมีอันดับลดลงจากอันดับที่ 27 เมื่อปีที่แล้ว เป็น อันดับที่ 30 ในปีนี้ ว่า สาเหตุหลักส่วนหนึ่งมาจากการใช้นโยบายงบประมาณขาดดุลของรัฐบาล เพื่อนำเงินไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ทำให้กระทบต่อปัจจัยการประเมินด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ โดยเชื่อว่าเป็นผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น แต่ในระยะยาวการลงทุนนี้จะช่วยยกระดับขีดความสามารถของประเทศและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม"
ขณะที่ประสิทธิภาพของรัฐเรื่องอื่นๆ ที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างมาก เช่น การแก้ไขกฎระเบียบและปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐให้มีความสะดวกต่อการดำเนินธุรกิจ การปรับปรุงอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อัตราภาษีการบริโภค การสร้างแรงจูงใจในการลงทุน ฯลฯ
ส่วนปัจจัยการประเมินอีก 3 ด้าน คือ ด้านโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะสาธารณูปโภคพื้นฐาน และโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่เกิดจากการลงทุนของรัฐบาล มีอันดับดีขึ้น และด้านสภาวะเศรษฐกิจกับด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจนั้น มีอันดับคงเดิม
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำว่าแม้ว่าอันดับโดยรวมของไทยจะลดลง เป็นทิศทางเดียวกับประเทศอื่นในอาเซียน แต่คะแนนดิบที่ได้รับคือ 79.450 ซึ่งยังคงสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของโลกที่ 76.61 และอยู่ในอันดับที่ 3 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์และมาเลเซียเช่นเดียวกับปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านอื่นๆ เช่น ด้านสังคม การศึกษา และสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนและความจำเป็นในการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะช่วยเสริมให้อันดับของไทยดีขึ้นต่อไป
"นายกฯ ยังได้กล่าวถึงกรณีที่นักการเมืองบางคนวิจารณ์ว่านายกรัฐมนตรีไม่มีพื้นฐานการศึกษาด้านเศรษฐกิจ และ 4 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของประเทศยังโตไม่มากนัก เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ว่า รัฐบาลนี้ทำงานเป็นทีมและมีทีมเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง มีผลงานที่ชัดเจน ทำให้เศรษฐกิจโตขึ้นเรื่อยๆ จากที่ดิ่งต่ำสุดและติดลบในช่วงก่อนปี 2557 ขึ้นมาเกือบ 5% และมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก จึงอยากเตือนว่าไม่ควรออกมาพูดเช่นนี้ เพราะสุดท้ายจะกลับเข้าตัวเอง"
อินโฟเควสท์