- Details
- Category: ธปท.
- Published: Wednesday, 18 April 2018 19:03
- Hits: 2317
ธปท.เผย พ.ร.บ.ระบบการชำระเงินช่วยยกระดับการกำกับดูแลสอดคล้องมาตรฐานสากล-เอื้อใช้นวัตกรรมใหม่ๆ
น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า พ.ร.บ.ระบบการชำระเงิน พ.ศ.2560 ได้เริ่มมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายแล้วเมื่อวันที่ 16 เม.ย.61 ซึ่งกระทรวงการคลังและ ธปท.ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์ในการกำหนดประเภทและการกำกับดูแลผู้ให้บริการระบบการชำระเงินและบริการการชำระเงินภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 17 เม.ย.61
น.ส.สิริธิดา กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นการบูรณาการกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบการชำระเงินมาไว้ในฉบับเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการลดภาระในการปฏิบัติตามกฎหมายหลายฉบับ ช่วยให้การประกอบธุรกิจมีความคล่องตัวและได้รับความสะดวกมากขึ้น และเอื้อต่อการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่มาใช้พัฒนาบริการการชำระเงิน โดยมีการกำกับดูแลที่เหมาะสมกับขนาดและความเสี่ยงของธุรกิจ รวมถึงยกระดับการกำกับดูแลระบบการชำระเงินให้มีความมั่นคงปลอดภัย มีเสถียรภาพ สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
ทั้งนี้ ประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลดังกล่าวครอบคลุมระบบและบริการการชำระเงิน 3 ประเภท คือ 1.ระบบการชำระเงินที่มีความสำคัญ 2.ระบบการชำระเงินภายใต้การกำกับ และ 3.บริการการชำระเงินภายใต้การกำกับ
"จากนี้ ไปภายใน 120 วัน ผู้ให้บริการรายเดิมจะต้องมายื่นขออนุญาต หรือขึ้นทะเบียนไว้แล้วแต่กรณี ซึ่งภายในระหว่าง 120 วันนี้ เมื่อมายื่นเอกสารแล้ว ก็ยังสามารถให้บริการต่อไปได้จนกว่าเราจะมีหนังสือแจ้งกลับไป ส่วนผู้ให้บริการรายเดิม นับจากวันนี้ต้องมายื่นขออนุญาต หรือขอขึ้นทะเบียนตามที่ได้ประกาศไว้" น.ส.สิริธิดา กล่าว
น.ส.สิริธิดา กล่าวว่า ในส่วนของ ธปท.ได้มีการออกประกาศ ธปท.ภายใต้ พ.ร.บ.ระบบการชำระเงิน พ.ศ.2560 จำนวน 14 ฉบับ ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือ 1.ประกาศหลักเกณฑ์ระบบการชำระเงินที่มีความสำคัญ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลผู้ให้บริการระบบการชำระเงินที่มีความสำคัญต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจ และสมาชิกของระบบ เพื่อให้มีการดำเนินการตามมาตรฐานสากล รวมทั้งมีมาตรการจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการคุ้มครองผลสิ้นสุดของการชำระเงิน เพื่อป้องกันความเสี่ยงกรณีที่สมาชิกของระบบถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์หรือล้มละลาย และอาจมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ในระบบการชำระเงิน และระบบการเงินโดยรวม
2.ประกาศหลักเกณฑ์กำกับดูแลระบบการชำระเงินและบริการการชำระเงิน เพื่อให้ระบบการชำระเงินและบริการการชำระเงินมีความมั่นคงปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ให้บริการอย่างต่อเนื่อง และมีการคุ้มครองผู้ใช้บริการอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับลักษณะและความเสี่ยงของแต่ละประเภทธุรกิจ โดยหลักเกณฑ์ที่สำคัญ ได้แก่ 1)คุณสมบัติผู้ประกอบธุรกิจ เช่น การกำหนดประเภทนิติบุคคล และคุณสมบัติกรรมการ ผู้มีอำนาจจัดการ ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่ พ.ร.บ.กำหนด, ฐานะการเงินมั่นคง โดยผู้ประกอบการต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่าตามที่กำหนดสำหรับธุรกิจแต่ละประเภท เช่น e-Money 100 ล้านบาท, ธุรกิจรับชำระเงิน แบ่งเป็น Acquiring 50 ล้านบาท, Payment Facilitating 10 ล้านบาท, รับชำระเงินแทน 10 ล้านบาท, ธุรกิจโอนเงิน 10 ล้านบาท 2)ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงเพียงพอที่จะให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง
"ในส่วนของทุนจดทะเบียนชำระแล้วขั้นต่ำของธุรกิจ e-Money ในกฎหมายใหม่นี้ ได้มีการปรับลดลงมาเหลือเพียง 100 ล้านบาท จากเดิม 200 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อต้องการสนับสนุนให้เกิดผู้ให้บริการรายเล็กๆ เข้ามาในระบบเพิ่มเติม โดยไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะรายใหญ่ที่ปัจจุบันมีอยู่ 20 กว่ารายเท่านั้น ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขัน และช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการ e-Money ได้มากขึ้น" น.ส.สิริธิดา กล่าว
3)มีการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น การเปิดเผยข้อมูลเงื่อนไขบริการแก่ผู้ใช้บริการ การรักษาข้อมูลส่วนบุคคล และคุ้มครองเงินรับล่วงหน้าจากผู้ใช้บริการ 4) ด้านธรรมาภิบาล ได้แก่ การกำหนดให้กรรมการหรือผู้มีอำนาจจัดการ มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลให้มีนโยบายและการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ มีการควบคุมภายในที่เหมาะสม 5)การจัดการความเสี่ยงและความปลอดภัย ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีแผนการบริหารความเสี่ยงต่อเนื่องทางธุรกิจ และแผนฉุกเฉินที่เป็นปัจจุบันและมีการทดสอบอยู่เสมอ ตลอดจนมีการตรวจสอบด้านสารสนเทศเป็นประจำทุกปี
"พ.ร.บ.นี้จะช่วยให้ลดภาระของผู้ประกอบธุรกิจที่จากเดิมต้องปฏิบัติตามกฎหมายถึง 3 ฉบับ ซึ่งจะช่วยให้การโอนเงิน ชำระเงินมีความสะดวก และเอื้อต่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ...ที่ผ่านมา เราเห็นการเติบโตของ Cashless มากขึ้น เช่น พร้อมเพย์ก็มีปริมาณการใช้ต่อเนื่องทุกๆ เดือน และแต่ละเดือนก็มี New High ตลอด ซึ่งเป็นการมุ่งสู่สังคมไร้เงินสดกันมากขึ้น โดยจะเห็นว่าจำนวนเงินที่โอนผ่านพร้อมเพย์แต่ละครั้งเริ่มน้อยลง มียอดต่ำกว่า 3,000 บาทต่อรายการ ทำให้เห็นว่ามีการโอนเงินเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันกันอย่างแท้จริงมากขึ้น" น.ส.สิริธิดา กล่าว
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก ธปท.นับตั้งแต่เริ่มใช้พร้อมเพย์เมื่อวันที่ 27 ม.ค.60 จนถึงล่าสุด 6 เม.ย.61 มียอดการลงทะเบียนพร้อมเพย์แล้วประมาณ 40 ล้านบัญชี แบ่งเป็น การลงทะเบียนโดยผูกบัญชีกับเลขบัตรประชาชน 27 ล้านบัญชี และลงทะเบียนโดยผูกกับหมายเลขโทรศัพท์มือถือ 13 ล้านบัญชี โดยมีปริมาณการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์สะสม 173 ล้านรายการ คิดเป็นมูลค่าราว 7 แสนล้านบาท
น.ส.สิริธิดา ยังกล่าวถึงกรณีข้อมูลลูกค้าของทรูมูฟที่เกิดการรั่วไหลว่า ทาง ธปท.ได้มีกระบวนการติดตามและตรวจสอบเป็นประจำทุกปีกับทรูมันนี่ ซึ่งมีการให้บริการ e-wallet และเป็นหนึ่งในบริษัทลูกของทรูเช่นเดียวกับทรูมูฟ โดยไม่พบว่าจะมีช่องโหว่ที่ทำให้เกิดความเสียหายหรือเกิดความรั่วไหลในข้อมูลของลูกค้าแต่อย่างใด
"เราได้มีการติดตามทุกปี มีการพูดคุยกับผู้ให้บริการทรูมันนี่ ซึ่งไม่พบว่าจะต้องมีข้อห่วงใยใดๆ" น.ส.สิริธิดา กล่าว
อินโฟเควสท์