- Details
- Category: ธปท.
- Published: Tuesday, 02 September 2014 17:30
- Hits: 3782
ธปท.จัดสัมมนา 'มิติใหม่ของภาคการเงินเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน' 16-17 ต.ค. นี้
รายงานข่าวจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานว่า ระหว่างวันที่ 16-17 ตุลาคม 2557 จะมีการจัดสัมมนาวิชาการประจำปี 2557 ของ ธปท.เรื่อง'มิติใหม่ของภาคการเงินเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน' (Rethinking Finance for SustainableGrowth) ณ ห้องบางกอกคอนเวนชั่น โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ ธปท. ระบุว่า โครงสร้างและการทำงานของระบบการเงินเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่ส่งผลต่อศักยภาพการผลิตคุณภาพของการเจริญเติบโตและเสถียรภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจไทยกำลังประสบกับความท้าทายในหลายด้านที่ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอลงอย่างชัดเจนในทศวรรษที่ผ่านมา การเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ความสามารถในการบริหารความเสี่ยง รวมทั้งประสิทธิภาพในการจัดสรรเงินทุนโดยสถาบันการเงิน ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดว่าประเทศไทยจะสามารถก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ไปสู่มิติใหม่ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้หรือไม่สัมมนาวิชาการในปีนี้จึงมุ่งที่จะสังเคราะห์องค์ความรู้เกี่ยวกับบทบาทของภาคการเงินต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะชี้ให้เห็นถึงอุปสรรคหลักๆ ในระบบการเงินที่ปิดกั้นหรือหน่วงรั้งการยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน รวมทั้งประเมินความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจที่อาจแอบแฝงอยู่ในภาคการเงิน
เช่นเดียวกันกับปีที่ผ่านมา การสัมมนาวิชาการในปีนี้จะเป็นเวทีที่เปิดกว้างและสนับสนุนการแลกเปลี่ยนความคิดและมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญที่มาจากหลากหลายสาขา โดยจะมีการนำเสนองานวิจัยจากนักวิชาการทั่วประเทศรวม 6 บทความ ซึ่งครอบคลุมมิติต่างๆ ดังนี้
- ข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการทางการเงินและเงินทุนในเศรษฐกิจไทยมีมากน้อยเพียงใดสาเหตุจากปัจจัยอะไร นวัตกรรมทางการเงินสามารถช่วยลดข้อจำกัดเหล่านี้ได้ขนาดไหน
- อุปสรรคในระบบการเงินต่อการดำเนินธุรกิจ SME ในประเทศไทย และบทบาทของภาครัฐในการบรรเทาอุปสรรคเหล่านั้น โดยเฉพาะกลไกการค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
- บทบาทและข้อจำกัดของภาคการเงินในการให้บริการแกภ่ าคครัวเรือน ทั้งในแง่การเป็นแหล่งทุนและการประกันความเสี่ยง
- ความสัมพันธ์ระหว่างระบบการเงินและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
- วิกฤตเศรษฐกิจการเงินที่เกิดขึ้นหลายครั้งในอดีตแสดงให้เห็นว่าการจัดสรรทุนที่เกินพอดีบั่นทอนเสถียรภาพและศักยภาพเศรษฐกิจ แบ่งเป็น ในฝั่งผู้ให้กู้ การจัดสรรทุนที่เกินพอดีทั้งในมิติสถาบันและเชิงระบบมีต้นตอมาจากอะไรการแข่งขันระหว่างสถาบันการเงินมีบทบาทในการสร้างความเสี่ยงเชิงระบบมากน้อยเพียงใด และควรดูแลอย่างไร และ ในฝั่งผู้กู้ หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นสะท้อนอะไรเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจเป็นปัญหาต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจจริงหรือไม่ และทางการควรจะมีนโยบายในการดูแลหนี้ครัวเรือนอย่างไร
- ความสัมพันธ์ระหว่างความมั่นคงทางการคลังกับเสถียรภาพการเงิน เสถียรภาพของสถาบันการเงินไม่อาจดำรงอยู่ได้เมื่อความเชื่อมั่นต่อหนี้ภาครัฐสั่นคลอน ช่องทางการส่งผ่านซึ่งกันและกันระหว่างภาคการคลังกับระบบการเงินมีอะไรบ้าง แนวทางการปฏิรูปการคลังของไทยควรเป็นอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงจากการใช้เงินนอกงบประมาณและการดำเนินกิจกรรมกึ่งการคลัง ภาครัฐควรมีกฎเกณฑ์ในการดำเนินนโยบายการคลัง (Fiscal Rules) หรือไม่ในรูปแบบใด
นอกจากนี้ ในงานจะมีปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Design of Financial Systems” โดย Professor Robert M. Townsend จากมหาวิทยาลัย Massachusetts Institute of Technologyประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับระบบการเงินไทยมาเป็นเวลายาวนาน และในช่วงท้ายของงานสัมมนาจะมีการเสวนาในหัวข้อ “ภาคการเงินกับการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย” โดยระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้แก่ ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ธปท. จะจำหน่ายบัตรเข้าร่วมการสัมมนาตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ในราคาบัตรละ 3,000 บาทผู้สนใจสามารถสำรองที่นั่ง/ซื้อบัตร และสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายนโยบายการเงิน ธปท. โทร. 0 22836980-1, 0 2356 7389 โทรสาร 0 2282 5082 หรือ E-mail: [email protected] หรือผ่าน website ธปท. www.bot.or.th ธนาคารแห่งประเทศไทย
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย