- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Thursday, 07 December 2017 23:23
- Hits: 9213
สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ คลอด ‘มาตรการพิเศษเพื่อขับเคลื่อน SMEs สู่ยุค 4.0’ออกสินเชื่ออุ้มเอสเอ็มอี วงเงิน 7 หมื่นลบ. คาดช่วยผู้ประกอบการได้ถึง 1 ล้านราย
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank หรือ ธพว.) ให้การต้อนรับรองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายอุตตม สาวนายน และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสมชาย หาญหิรัญ พร้อมคณะผู้ติดตาม เข้าร่วมประชุมหน่วยงานในสังกัด กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง สภาอุตสาหกรรม และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) เรื่อง ‘มาตรการพิเศษเพื่อขับเคลื่อน SMEs สู่ยุค 4.0’ โครงการ 9 มาตรการส่งเสริมและช่วยเหลือ SMEs โครงการแพคเกจสินเชื่อเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการทุกระดับ ตั้งแต่ SMALL MINI และ MICRO ผ่านสถาบันการเงินทั้งภาครัฐและเอกชน มุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจคู่เติมศักยภาพแกร่งให้ SMEs ไทย พร้อมจัดทำ Big Data เชื่อมโยงฐานข้อมูล SMEs ขนาดยักษ์ กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาในอนาคต โดยมี นายพสุ โลหารชุน ประธานกรรมการ และนายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. ร่วมให้การต้อนรับ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2560 ณ ห้องแก้ววิเชียร SME Development Bank สำนักงานใหญ่
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมมาตรการขับเคลื่อนเอสเอ็มอี สู่ยุค 4.0 ในวันนี้ว่า ขณะนี้ทุกหน่วยงานอยู่ระหว่างหามาตรการพิเศษ เพื่อขับเคลื่อนเอสเอ็มอี ให้มีศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมทั้งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ในยุคที่เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงซึ่งในเบื้องต้นธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ ได้เสนอวงเงิน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเอสเอ็มอี 70,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากยังมีเอสเอ็มอีที่ต้องการเข้าถึงเงินทุนในการเสริมสร้างธุรกิจ จึงได้เพิ่มวงเงินเป็น 90,000 ล้านบาท
“หน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ต้องเร่งจัดทำแนวทางการนำมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้นำไปปฏิบัติได้ชัดเจน อีกทั้งภายใน 7 วัน กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งจัดทำเว็บไซต์กลางที่รวบรวมฐานข้อมูลข้อมูลขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับ SMEs หรือ SMEs Big Data ให้เห็นเป็นรูปธรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ SMEs ในอนาคต”
สำหรับ มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีนั้น จะจัดทำทั้งสิ้น 10 โครงการ กรอบวงเงินทั้งสิ้นประมาณ 200,000 ล้านบาท ผ่านสถาบันการเงินของรัฐและธนาคารพาณิชย์เครือข่าย เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งคาดว่าจะช่วยเอสเอ็มอีได้ 200,000 กว่าราย แต่หากรวมถึงมาตรการฝึกอบรม สนับสนุน ที่ไม่ใช่การส่งเสริมและช่วยเหลือด้านการเงิน ประกอบด้วยการปฏิรูปกลไกการส่งเสริมเอสเอ็มอี การเพิ่มขีดความสามารถและการปรับเปลี่ยนธุรกิจ การยกระดับเศรษฐกิจฐานชุมชน เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะช่วยส่งเสริมเอสเอ็มอีได้มากกว่า 1 ล้านราย โดยมาตรการดังกล่าวจะเสนอแพคเก็จให้คณะรัฐมนตรี หรือ ครม.พิจารณาภายในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อมอบเป็นของขวัญให้กับประชาชน
“วงเงินที่จะช่วยสนับสนุนเอสเอ็มอีนั้น วงเงินที่จะเสนอประมาณ 200,000 กว่าล้านบาท และเกิดเงินหมุนเวียนในระบบกว่าล้านล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเกิดเงินหมุนเวียนในระบบอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งวงเงินนั้น เช่น เอสเอ็มอีแบงก์จะมีวงเงินประมาณ 90,000 ล้านบาท ของออมสินเบื้องต้น 30,000 ล้านบาท แต่จะมีวงเงินพิเศษ หรือ โครงการดอกเบี้ย 0% วงเงินประมาณ 15,000 ล้านบาท”นายสมคิด กล่าว
นายสมคิด กล่าวว่า ในปี 2561 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตดี ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้ประเมินว่า จีดีพีจะโตเท่าไหร่ แต่อยากให้ดูการปฏิรูป และเดินหน้าไปสู่การพัฒนา ซึ่งในปี 2561จะเน้นการส่งเสริมเอสเอ็มอี และตอบสนองความต้อวการและเสริมศักยภาพผู้ประกอบการให้มีความสอดคล้องกับสานการณ์ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในทุกมิติ และมองว่า ในปีหน้าทิศทางเศรษฐกิจจะดีขึ้นแน่นอน
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กรอบวงเงินในการสนับสนุนเอสเอ็มอีครั้งนี้ มากกว่า 200,000 ล้านบาท และจะทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 200,000 กว่าล้านบาท เกิดการจ้างงานจำนวนมาก แต่หากรวมมาตรการที่ไม่ใช่ทางการเงินนั้นจะรวมมีเงินหมุนเวียนในระบบกว่าล้านล้านบาท
มาตรการดังกล่าว ต้องการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ไม่ใช่หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ทั้งการพัฒนาด้านความรู้ การผลิต บัญชี เงินทุน เพื่อปูพื้นฐานครอบคลุมทุกด้าน จึงมุ่งปูพื้นฐานให้เอสเอ็มอีในชุมชนเป็นหลัก ส่วนผู้ประกอบการระดับกลางจะช่วยบางส่วนที่เติมเต็ม ตั้งแต่การสนับสนุน วิสาหกิจชุมชนจนถึงผู้ประกอบการระดับขนาดกลางทั้งด้านการผลิต การตลาด การส่งเสริมนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยี โดยมีเป้าหมายให้ SMEs เกิดความเข้มแข็งพร้อมนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดและยกระดับขีดความสามารถ ให้ไปสู่ช่องทางการค้าที่มีอยู่หลากหลาย ซึ่งในกระบวนการดังกล่าวจะอาศัยความร่วมมือผ่านการเชื่อมโยงจากหลายๆ หน่วยงาน เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
โดยมีการแบ่งการบริการออกเป็นอีก 4 ด้านคือ 1. Service Upgrading (กลไกสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจ) โดยจะเร่งยกระดับการบริการผ่าน การตั้งศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) จากเดิมจำนวน 9 ศูนย์ ขยายเป็น 23 ศูนย์ทั่วประเทศ พร้อมขยายส่วนบริการเพิ่ม ได้แก่ Co-Working Space เครื่องจักรทันสมัย บริการการปรึกษาเชิงลึกผ่าน Expert Pool (ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ) ที่ปรึกษาทักษะทางการเงิน การเชื่อมโยงเครือข่ายองค์กรสนับสนุน แพ็กเกจคูปองเสริมแกร่งธุรกิจ SMEs ที่จะเพิ่มความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการทั่วไป และที่ประสบปัญหากว่า 10,000 รายทั่วประเทศ รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือ SME (SME Support Center) ด้วยกลไกและบริการทั้งหมดผ่านระบบดิจิทัลให้เกิดขึ้น 248 แห่งทั่วประเทศ
2. Enablers (การเสริมแกร่ง SMEs) ด้วยการนำผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีผ่านการสรรหา จากภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย การช่วยเป็นโค้ชในการพัฒนาบุคลากร การจัดทำแพล์ทฟอร์ม SME Big Data เพื่อให้ ผู้ประการเข้าถึงบริการฐานข้อมูล โครงการที่ตรงกับความต้องการการพัฒนาแต่ละด้าน และองค์ความรู้ใหม่ ๆ ผ่าน SME One Portal ได้ทุกที่ทุกเวลา 3. Capacity Upgrading and Transforming การพัฒนาขีดความสามารถและการโดยมีพี่เลี้ยงจากองค์กรธุรกิจชั้นนำระดับโลกกว่า 20 ราย เช่น ปตท. เดลต้า เอสซีจี เดนโซ่ มาเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพ พร้อมร่วมทุนผ่าน กองทุนให้เปล่า (Angel Fund) กับกลุ่มสตาร์ทอัพ เพื่อช่วยในการจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (B2B) ระหว่างผู้ประกอบการไทยตั้งแต่ระดับต้นน้ำ – ปลายน้ำกว่า 1,400 ราย พร้อมเชื่อมต่อสู่แพลทฟอร์ม J-Goodtech ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้สินค้า SMEs ไทยมีความน่าเชื่อถือและขยายตลาดไปสู่ระดับสากลได้มากขึ้น
4. Local Economy (การยกระดับเศรษฐกิจฐานชุมชน) เป็นนโยบายการยกระดับผู้ประกอบการฐานรากหญ้า พัฒนาสู่ SMEs รากแก้ว ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น ททท. และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) อพท. พร้อมผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่มีชื่อเสียงระดับโลก การบ่มเพาะเกษตรกรกว่าร้อยละ 30 ให้เป็นผู้ประกอบการเกษตรแปรรูป ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นเจ้าภาพหลักในการประสานและขับเคลื่อนมาตรการเหล่านี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวว่าวงเงิน 90,000 ล้านบาทที่อยู่ในความดูแลของธนาคารนั้นเพื่อมาดำเนินการพัฒนาเอสเอ็มอีผ่าน 3 โครงการ โดยคาดว่าจะเข้าถึงเอสเอ็มอีในระบบกว่า 75,000 ราย มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 400,000 ล้านบาท ซึ่ง 3 โครงการดังกล่าวแบ่งเป็น 1.กองทุนฟื้นฟู ไมโคร เอสเอ็มอี ที่ไม่มีหลักประกัน ให้กูสูงสุด 1 ล้านบาท 2.สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ให้กู้สูงสุด 5 ล้านบาท และ 3.สินเชื่อเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร อุปกรณ์ ให้กู้สูงสุด 15 ล้านบาท.