- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Thursday, 09 November 2017 09:31
- Hits: 2821
KBANK คาดกำไรปี 61 ต่ำกว่าปีนี้ที่คาดอยู่ที่ 4 หมื่นลบ. เหตุค่าฟีวูบ-กฏเกณฑ์ทางการเข้มงวด ตั้งงบพัฒนาไอที 4-5 พันลบ./ปี
ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK คาดกำไรปีนี้ใกล้เคียงปี 59 ที่ทำได้ 4 หมื่นลบ. ส่วนปี 61 คาดกำไรลดลงจากปีนี้ที่คาดอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท หลังรายได้ค่าธรรมเนียมลดลง และรองรับกฎเกณฑ์ทางการเข้มงวด ส่วนการตั้งสำรองจะลดลง จากปีนี้ตั้งสำรองประมาณ 5 หมื่นล้านบาท หลังมอง NPL ดีขึ้น พร้อมทุ่มงบไอทีปีละ 4,000-5,000 ล้านบาท ก้าวสู่ยุคดิจิทัลทุกรูปแบบและเป็นอันดับหนึ่งดิจิทัลแบงกิ้งต่อเนื่อง หวังเพิ่มฐานลูกค้า เผยตั้งเป้าสินเชื่อรวมโต 5-7% สอดรับเศรษฐกิจไทยโต 3.7% และNPL ที่ 3.3-3.4%
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยในงาน "แถลงแผนธุรกิจปี 61" ว่า กำไรปีนี้คาดทำได้ใกล้เคียงปี 59 ที่ทำได้ 4 หมื่นล้านบาท หลัง 9 เดือนมีกำไรสุทธิแล้ว 2.8 หมื่นล้านบาท จากการที่ค่าธรรมเนียมลดลง โดยเฉพาะรายได้ที่มาจากการขายประกัน การสนับสนุนของภาครัฐในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น พร้อมเพย์ และ คิวอาร์โค๊ด
ส่วนปี 61 คาดว่ากำไรจะลดลงจากปีนี้ หลังเจอมาตรการที่เข้มงวดของทางภาครัฐ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในการควบคุมการคิดค่าธรรมเนียม การขายประกันผ่านข่องทางต่างๆ การให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ และ มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS 9
อย่างไรก็ตาม ธนาคารคาดว่าปีหน้าจะตั้งสำรองลดลงจากปีนี้ที่คาดว่าตั้งสำรองประมาณ 5 หมื่นล้านบาท จาก 9 เดือนธนาคารตั้งสำรองไปทั้งสิ้น 3.7 หมื่นล้านบาท
สำหรับ หนี้ที่มิก่อให้เกิดรายได้(NPL)ปี 61 คาดว่าจะทรงตัวจากปีนี้ที่ 3.3-3.4% หลังประเมินว่า NPL ปีหน้าจะลดลงจากการที่ธนาคารเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และ เข้าดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในการชำระหนี้ในอนาคต โดย NPL ยังมาจากกลุ่มเอสเอ็มอีเป็นหลัก ในขณะที่รายใหญ่ยังมีสถานะปกติ
นอกจากนี้ ธนาคารตั้งเป้ารักษาอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ(Coverage ratio) ให้อยู่ในระดับ 140% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับปัจจุบัน
"ปีหน้าการทำธุรกิจแบงก์จะยากขึ้น ด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆมีความเข้มงวดมากขึ้น การหารายได้ก็ต้องเปลี่ยนจากเดิมมาจากแบงก์เอสชัวรันส์ และ ค่าธรรมเนียมการโอนต่างๆ ตอนนี้ก็ต้องเน้นคุยกับพาดเนอร์ในการหาผลิตภัณฑ์ และ หาโปรดักส์เงินฝากที่มีต้นทุนต่ำเพื่อเวลาไปปล่อยกู้จะทำให้มีส่วนต่างมากขึ้น"นางสาวขัตติยา กล่าว
นายสุวัตน์ เตชะวัฒนวรรณา รองกรรมการผู้จัดการ KBANK เปิดเผยว่า สินเชื่อรายใหญ่ปี 61 จะเติบโต 5-7% จากปีนี้เติบโต 4-6% หลัง 9 เดือนเกินเป้าไปแล้ว ซึ่งการที่สินเชื่อรายใหญ่มีการเติบโตที่ดีมาจากการลงทุนภาครัฐ แต่กลุ่มที่ธนาคารให้ความระมัดระวังจะพิจารณาเป็นรายธุรกิจ และ จากผลการดำเนินงานที่หวือหวา หรือ เติบโตมากกว่า 100% ซึ่งจะมีความเสี่ยงมากกว่าธุรกิจที่มีผลดำเนินงานตามภาวะอุตสาหกรรมในขณะนั้น
สำหรับ การประมูลคลื่นสัญญาณความถี่ใหม่ที่ทางกสช.จะมีการเปิดประมูลคลื่น 900 MHz และ 1800 MHz ในปี 61 นั้น ธนาคารมีความพร้อมที่จะให้วงเงินค้ำประกันสำหรับผู้ประกอบการมือถือทั้ง 3 ราย ประกอบด้วย ADVANC DTAC TRUE โดยธุรกิจสื่อสารมีแนวโน้มการเติบโต เนื่องจากมีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน และ มีจำนวนคู่แข่งที่น้อยราย อีกทั้ง บริษัททั้ง 3 รายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีฐานลูกค้าจำนวนมาก และ มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารก็ได้มีการเจรจากับลูกค้าอยู่ตลอดเวลา
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK เปิดเผยว่า ระบบธนาคารพาณิชย์กำลังเผชิญกับความท้าทายและโอกาสในการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ ที่มีผลต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ทางธุรกิจหลายด้าน ขณะที่ ปัจจัยด้านพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป คนไทยใช้ชีวิตและทำธุรกรรมการเงินบนโลกออนไลน์มากขึ้น โดยพฤติกรรมการใช้ Mobile Banking เพิ่มขึ้น จากสัดส่วนจำนวนบัญชี Mobile Banking ต่อประชากรที่ 0.9% ในปี 2553 เป็น 34.8% ในปี 2559 เช่นเดียวกับผู้ใช้ e-Money, Internet Banking และบัตรอิเล็คทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน ซึ่งสะท้อนว่าธุรกรรมบนออนไลน์ทวีความสำคัญอย่างมาก
ขณะที่เศรษฐกิจไทยปี 2561 คาดการณ์ว่าจะขยายตัวที่ 3.7% โดย คาดหวังแรงหนุนสำคัญจากการลงทุนโครงการภาครัฐ มาช่วยชดเชยการส่งออกและการท่องเที่ยวที่อาจเติบโตชะลอลงหลังเร่งขึ้นมากแล้วในปีนี้ ส่วนกำลังซื้อของประชาชน ซึ่งเผชิญแรงถ่วงจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และรายได้เกษตรกรที่มีโอกาสชะลอลง
"ทิศทางเศรษฐกิจของไทยและภูมิภาค พฤติกรรมผู้บริโภค แนวนโยบายจากภาครัฐ และบริบทการแข่งขันต่าง ๆ ดังกล่าว เป็นปัจจัยที่ธนาคารกสิกรไทยให้ความสำคัญและประเมินอย่างต่อเนื่อง เพื่อการกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ ให้ธนาคารสามารถปรับตัวตอบสนองต่อการแข่งขันดังกล่าว และยังคงไว้ซึ่งความได้เปรียบในการทำธุรกิจ และคงความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของลูกค้าในระยะยาว "
นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งงบประมาณพัฒนาด้านไอที ปีละประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท โดยในปี 2561 ใช้สำหรับการพลิกโฉม K PLUS จากโมบายแบงกิ้งสู่การเป็น Lifestyle Platform Banking ที่จะตอบสนองการใช้งานของลูกค้าทุกกลุ่ม, แมชชีน คอมเมิร์ช (Machine Commerce) เป็นการนำเทคโนโลยี Machine Learning มาวิเคราะห์และพัฒนาแนวทางการนำเสนอบริการให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้าแต่ละราย , เมนูโอนเงินข้ามประเทศผ่าน K PLUS (Low-Value Remittance) จะเป็นครั้งแรกที่ลูกค้าธนาคารของไทย สามารถทำรายการโอนเงินไปต่างประเทศด้วยตัวเอง ทางสมาร์ทโฟนผ่าน K PLUS ไปยังผู้รับเงินปลายทางกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ,การวางหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนบล็อกเชน ,บริการหักบัญชีและชำระดุลระบบสากล (Clearing and Settlement) ผ่านบล็อกเชน (Enterprise Letter of Guarantee on Blockchain)
นอกจากนั้น ธนาคารกสิกรไทยมีการสร้างพันธมิตรในระบบนิเวศดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกเหนือจากการตั้งทีมงาน Digital Partnership ภายในธนาคาร และกลุ่มบริษัท KBTG แล้ว ธนาคารมีบริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด ทำหน้าที่เข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพ เพื่อแสวงหานวัตกรรมที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของธนาคารและนำมาต่อยอดการให้บริการ ด้วยวงเงินลงทุนเริ่มต้น 1,000 ล้านบาท โดยปี 61 บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล ตั้งเป้าวงเงินลงทุนเพิ่มประมาณ 200-300 ล้านบาท เน้นกลุ่มสตาร์ทอัพที่เสริมศักยภาพของผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคาร
"ในปี 2561 ลูกค้าจะได้รับประสบการณ์ใหม่จากบริการของธนาคารกสิกรไทยที่พัฒนาขึ้นเพื่อการเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของลูกค้า โดยมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ "
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK เปิดเผยว่ธนาคารได้กำหนดแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกันเพื่อบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ ได้แก่
ธุรกิจกลุ่มลูกค้าบุคคล มุ่งมั่นสู่การเป็นธนาคารเพื่อลูกค้าที่นำเสนอโซลูชั่นในระดับบุคคลที่ดีที่สุด เพื่อรักษาการเป็นธนาคารหลักอันดับ 1 ในลูกค้าบุคคล ตั้งเป้าหมายสินเชื่อลูกค้ารายย่อยขยายตัว 6-8% ฐานลูกค้าเพิ่มเป็น 15.1 ล้านราย และขยายฐานลูกค้า K PLUS อีก 34-35% เป็น 10.8 ล้านราย
ธุรกิจกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการ มุ่งเน้นเป็นธนาคารเพื่อลูกค้าเอสเอ็มอี (Bank for SMEs Customers) ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าแบบครบวงจร (Total Solution Provider) ตั้งเป้าหมายสินเชื่อลูกค้าเอสเอ็มอีเติบโต 4-6% รายได้ค่าธรรมเนียมเติบโต 2-4% ครองส่วนแบ่งทางการตลาดในแง่มูลค่าสินเชื่อที่ 28.5%
ธุรกิจกลุ่มลูกค้าบรรษัท มุ่งเป็นธนาคารที่ลูกค้าเชื่อมั่น ตอบโจทย์ความต้องการรอบด้านของลูกค้าธุรกิจ (Trusted Bank for Corporate Customers) โดยตั้งเป้าหมายสินเชื่อธุรกิจลูกค้าบรรษัทเติบโต 5-7% รายได้ค่าธรรมเนียมเติบโต 2-5% ครองส่วนแบ่งทางการตลาดสินเชื่อที่ 22%
ด้านธุรกิจข้ามประเทศ ยังคงเดินหน้ายุทธศาสตร์การเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค AEC+3 (The Bank of AEC+3) ผ่านกลยุทธ์การขยายธุรกิจสู่ภูมิภาค “Dual Track Regional Digital Expansion” โดยหาแนวทางเปิดสาขาในเวียดนามและเมียนมาภายในปี 2561-2562 และการขยายธุรกิจธนาคารดิจิทัล (Digital Expansion) พัฒนาระบบชำระเงินและรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Issuing and Acquiring Business) โดยในปี 2561 ในกลุ่มประเทศ CLMVI คาดว่าจะมีการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์เติบโตกว่า 20%
ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยตั้งเป้าหมายภาพรวมการดำเนินงานในปี 2561 อัตราการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ (Loan Growth) 5-7% อัตราการเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย (Non-Interest Income Growth) อยู่ในระดับทรงตัว มีอัตราส่วนผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) 3.2-3.4% และอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวม (NPL Ratio (Gross)) 3.3-3.4%
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย