- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Monday, 31 July 2017 23:12
- Hits: 9315
KKP คงเป้าสินเชื่อปีนี้โตไม่ต่ำกว่า 5% แต่ NPL อาจสูงกว่าเป้าที่ 5.2%
นายอภินันท์ เกลียวปฎินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด(มหาชน) หรือ KKP เปิดเผยในงานแถลงข่าว ยอมรับ NPL สิ้นปีนี้ อาจกดไม่ได้ตามเป้าที่ 5.2% หลังไตรมาส 2/60 หนี้เสียพุ่งแตะ 5.8% แต่ยังคงเป้าสินเชื่อปีนี้โตไม่ต่ำกว่า 5% เผยมี IPO ในมือ 4-5 ดีล คาดทยอยเข้าตลาดฯ ภายในปีนี้และปีหน้า
ธนาคารยังไม่ปรับเป้าสินเชื่อรวมในปีนี้ ซึ่งคาดว่าทั้งปีนี้สินเชื่อจะโตไม่ต่ำกว่า 5% แม้ว่าครึ่งปีนี้จะทำได้ 4.1% เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจต่อจากนี้ยังมีความผันผวน โดยปัจจุบันสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 1.83 แสนล้านบาท
"สินเชื่อยังมีความไม่แน่นอน เพราะมันเป็นฤดูกาล บางทีก็เข้ามาเยอะ บางทีก็หดตัว และ ยิ่งรายใหญ่ลูกค้ามีการชำระคืน โดยสินเชื่อรายใหญ่ปัจจุบันที่อยู่ระหว่างพิจารณาอนุมัติตอนนี้มีวงเงินอยู่ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นโปรเจกไฟแนนซ์ โดยมีระยะเวลา 1-2 ปี ส่วนรายย่อยเฉลี่ยเข้ามาเดือนละ 4 พันล้านบาท รวม 5 เดือนที่เหลือก็ 2 หมื่นล้านบาทแล้ว ทำให้เป้าหมายการขยายสินเชื่อยังเป็นไปตามเป้าที่เราวางไว้"นายอภินันท์ กล่าว
ส่วนหนี้ที่มิก่อให้เกิดรายได้ (NPL)ยอมรับว่า จะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ในสิ้นปีนี้ 5.2% จากครึ่งปีนี้อยู่ที่ 5.8% โดยเกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มือสอง และ สินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งสินเชื่อรถยนต์ยังไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ โดยครึ่งปียังหดตัว 5.2% ซึ่งมาจากการแข่งขันที่สูง โดยเฉพาะการแข่งขันทางด้านราคา ซึ่งสิ้นปีนี้คาดว่าสินเชื่อรถยนต์จะหดตัวต่อเนื่อง
ส่วนการตั้งสำรองในช่วงที่เหลือที่เหลือของปี คาดว่าจะทรงตัว หรือ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากครึ่งปีแรกที่อยู่ 0.98% โดยธนาคารตั้งเป้าปีนี้ไว้ที่ 1-1.2% ซึ่งปัจจุบันอัตราส่วนสำรองทั้งสิ้นต่อสำรองตามเกณฑ์ 185.1% และ อัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ 104.6%
"ในช่วงที่เหลือปีนี้เราไม่มีแผนที่จะขายหนี้ออกไป เพราะในอดีตเราทำหน้าที่บริหารจัดการหนี้อยู่แล้ว และส่วนใหญ่หนี้ที่เรามีก็มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน"นายอภินันท์ กล่าว
ในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีแผนการเสนอขายหุ้นใหม่ให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก(IPO) อีก 4-5 ดีล โดยคาดว่าจะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงที่เหลือปีนี้และในปีหน้า
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
KKP ยอมรับ NPL ทั้งปีนี้ อาจพุ่งทะลุเป้าหลังศก.ฟื้นช้ากว่าคาด ยังคงเป้าสินเชื่อปีนี้โต 5%
นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) กล่าวยอมรับว่า แนวโน้มสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปีนี้อาจจะสูงกว่าที่ธนาคารที่ตั้งเป้าหมายจะควบคุมไว้ไม่ให้เกิน 5.2% หลังจากครึ่งปีแรก NPL ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 5.8% ถือว่าอยู่ในระดับสูง และเพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนที่ 5.6% โดยเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวอย่างที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ยังไม่กลับมาดีขึ้น อีกทั้งยังมี NPL ของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การควบคุม NPL ให้เป็นไปได้ตามเป้าหมายค่อนข้างท้าทาย และอาจโอกาสเกินเป้า
สำหรับ การตั้งสำรองหนี้ที่มีปัญหาในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากครึ่งปีแรกที่มีการตั้งสำรองในระดับ 4.5 พันล้านบาท หรือเป็นระดับ Credit cost ที่ 0.98% ซึ่งธนาคารได้ตั้งเป้า Credit cost ในปีนี้อยู่ที่ 1-1.2% โดยปัจจุบันอัตราส่วนสำรองตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ที่ 185.1% และอัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพของอยู่ที่ 104.6%
ประกอบกับ ช่วงที่เหลือปีนี้ธนาคารยังไม่มีแผนจะขายหนี้ออกไป หลังจากครึ่งปีแรกขายออกไปแล้ว 460 ล้านบาท เพราะธนาคารจะหันมาเน้นการเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาของลูกหนี้มากขึ้น และหนี้ส่วนใหญ่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันอยู่แล้ว ทำให้ไม่มีความจำเป็นมากนักที่จะต้องขายหนี้ออกไปอีก
นายอภินันท์ กล่าวว่า แนวโน้มสินเชื่อรวมของธนาคารในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะขยายตัวได้สูงกว่าครึ่งปีแรกที่ขยายตัว 4.1% และทั้งปีนี้ยังคงเป้าการขยายตัวที่ 5% โดยสินเชื่อลูกค้าบรรษัทหรือสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ยังคงเป็นปัจจัยหนุนการขยายตัวของสินเชื่อรวม แม้ว่าสินเชื่อลูกค้าบรรษัทจะมีการเบิกใช้สินเชื่อเข้ามามาก แต่ก็มีการชำระคืนที่ค่อนข้างเร็ว และเป็นสินเชื่อที่ให้ควบคู่กับงานด้านวาณิชธนกิจ ซึ่งมองว่ายังมีโอกาสเติบโตได้ในระดับใกล้เคียงกับครึ่งปีแรกที่ขยายตัว 106.8%
ส่วนสินเชี่อรายย่อยที่เป็นกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อเอสเอ็มอีคูณ 3 ยังมีการขยายตัวที่ต่อเนื่อง จากการรุกขยายฐานลูกค้าของธนาคาร และมองว่าในช่วงครึ่งปีหลังมีโอกาสที่จะขยายตัวได้เพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรกที่ขยายตัว 53%
"ความต้องการใช้ทั้ง 2 ประเภทยังสูงอยู่ โดยสินเชื่อรายใหญ่ตอนนี้ที่เป็น Project Finance ที่อยู่ไน Pipe line ตอนนี้มีอยู่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่ทยอยเกิดขึ้นในช่วง 1-2 ปีนี้ และสินเชื่อรายย่อยตอนนี้ก็เข้ามาเฉลี่ย 4 พันล้านบาท/เดือน หรือถึงสิ้นปีตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไปรวมกันก๊ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท"นานอภินันท์ กล่าว
ส่วนแนวโน้มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในปีนี้ คาดว่าจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ อาจจะแค่ทรงตัวหรือกลับมาเป็นบวกได้เล็กน้อย หลังจากที่ยอดขายรถยนต์ในประเทศเติบโตต่ำกว่าการคาดการณ์ และตลาดรถยนต์ใหม่เติบโตมากกว่าตลาดรถยนต์มือสอง ซึ่งตรงกันข้ามกับกลยุทธ์การดำเนินงานของธนาคารที่เน้นสินเชื่อรถยนต์มือสอง ประกอบกับธนาคารเห็นแนวโน้มของ NPL รถยนต์ใหม่ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ยังคงระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ใหม่ ส่งผลให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในครึ่งปีแรกติดลบ 5.2%
ขณะที่งานวาณิชธนกิจในส่วนการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินและการเป็นผู้รับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนครั้งแรก (IPO) และการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงที่เหลือของปีนี้และต่อเนื่องไปถึงปี 61 มีจำนวน 4-5 ดีล ซึ่งจะทยอยเสนอขายและเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงที่เหลือของปีนี้และปี 61
ด้าน บลจ.ภัทร ครึ่งปีแรกมีการเติบโตที่ดีทั้งในส่วนของกองทุนรวม และกองทุนส่วนบุคคล โดยมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการของกองทุนกว่า 5.6 หมื่นล้านบาท มีกองทุนภายใต้การบริหาร 30 กองทุน (Mutual Fund 27, Property Fund 3) ส่วนกองทุนส่วนบุคคล มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารกว่า 1.56 หมื่นล้านบาท เติบโตกว่า 50% เมื่อเทียบกับปลายปี 59
นายอภนันท์ มองว่าแนวโน้มมุมมองต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังว่าจะมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นบ้าง แต่ยังมีปัจจัยที่ต้องจับตามอง 3 ประการ ได้แก่ รายได้เกษตรกรเริ่มชะลอตัวลงจากราคาสินค้าเกษตรที่เริ่มปรับลดลง โดยเฉพาะยางและปาล์มน้ำมัน อาจทำให้การบริโภคในระยะต่อไปชะลอตัวลง ถัดมาคืออัตราการใช้กำลังการผลิตยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้การลงทุนภาคเอกชนไม่น่าจะปรับขึ้นได้เร็วนัก และสุดท้ายคือภาคการส่งออกอาจชะลอตัวลงในระยะต่อไปจากราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันและสินค้าเกษตรที่ปรับลดลงตามแนวโน้มราคาน้ำมันโลก และการแข็งค่าของเงินบาทที่จะกระทบต่อรายได้ผู้ส่งออกในรูปเงินบาท
ด้านธุรกิจตลาดทุน โดยเฉพาะในส่วนของ Private Bank ภายใต้ธุรกิจไพรเวทเวลธ์สำหรับผู้ลงทุนไทยมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีสินทรัพย์ภายใต้การให้คำแนะนำ (Asset under Advice: AuA) อยู่ที่ 4.03 แสนล้านบาท (ไม่รวมเงินฝาก) โดยมียอดเงินลงทุนใหม่กว่า 2.2 หมื่นล้านบาท และล่าสุด บล.ภัทร ได้เปิดบริการใหม่ คือ Global Investment Service (GIS) ซึ่งเป็นการให้บริการลงทุนต่างประเทศสำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่งสูง เพื่อเพิ่มโอกาสการลงทุนด้วยผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ไร้ข้อจำกัดด้านพรมแดน ซึ่งการบริการดังกล่าวนี้เทียบชั้นไพรเวทแบงค์ระดับโลก
อินโฟเควสท์