- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Friday, 07 July 2017 15:45
- Hits: 3157
KBANK ยันเกณฑ์คุมบัตรเครดิตไม่กระทบ เหตุมีสัดส่วนน้อย เชื่อกด NPL ในอนาคต มั่นใจสินเชื่อรวมปีนี้โตตามเป้า 4-6%
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ในฐานะสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ยืนยันเกณฑ์คุมบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ไม่กระทบ KBANK เหตุมีสัดส่วนเพียง 2 หมื่นลบ. จากพอร์ตสินเชื่อรวม 1 ล้านลบ. เชื่อช่วยกด NPL ในอนาคต มั่นใจสินเชื่อปีนี้โตตามเป้า 4-6% ตามแนวโน้มส่งออกโตต่อเนื่อง รายละเอียดดังนี้
ธุรกิจของธนาคารไม่ได้รับผลกระทบต่อกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมออกประกาศจำกัดเพดานวงเงินสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันทุกประเภท สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน เหลือเพียง 1.5 เท่า จากเดิมให้ไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ โดยไม่เชื่อว่าจะทำให้ภาพรวมรายได้ของธนาคารพาณิชย์รวมถึงรายได้ของกสิกรไทยลดลงตามที่หลายฝ่ายเป็นห่วง
มองว่า ภาพรวมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากกรณีนี้ แต่ในทางกลับกันหากมองในแง่ดี ถือแนวทางช่วยสร้างวินัยที่ดีให้ประชาชนไม่ให้สร้างหนี้เกินตัว เป็นการควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อีกแนวทางหนึ่ง ทำให้มีแต่หนี้ที่มีคุณภาพ
"เชื่อว่าเกณฑ์เพดานการปล่อยเงินกู้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลใหม่จะส่งผลกระทบกับธนาคารเพียงเล็กผลน้อยเท่านั้น เนื่องจากปัจจุบันมีสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลเพียง 2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น จากพอร์ตสินเชื่อรวม ของกสิกรไทยทั้งหมด 1 ล้านล้านบาท แต่จะกระทบลูกค้าบัตรเครดิตจำนวนกี่รายยังไม่สามารถคำนวณได้ในขณะนี้"นายปรีดากล่าว
นอกจากนี้ เชื่อว่าการปรับลดวงเงินจะทำให้ผู้ใช้มีวินัยทางการเงินมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มคนเริ่มทำงานใหม่ที่เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งจะทำให้ปริมาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)ปรับตัวลดลง ส่งผลดีต่อการตั้งสำรองของธนาคารในอนาคตด้วย
ด้านสินเชื่อรวมปีนี้มั่นใจว่าสามารถทำได้ตามเป้า 4-6% จาก 5 เดือนแรกสินเชื่อรวมเติบโตแล้ว 2.3% โดยในช่วงครึ่งปีหลังยังมีแนวโน้มที่เติบโตต่อเนื่องโดยเฉพาะจากภาคการส่งออกที่คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องอีกตามการปรับเพิ่มเป้าการส่งออกในปีนี้เป็น 3.5 - 4.5% จากเดิม 2-3.5% และจากการปล่อยกู้ให้แก่เอกชนในการลงทุนโครงการของภาครัฐ
"ส่วนตัวเชื่อว่า จากการปรับลดเพดานสินเชื่อกลุ่มนี้ลง ยังไม่น่าจะเป็นปัจจัยกดดันให้เกิดปัญหาหนี้นอกระบบมากขึ้น ยกเว้นจะเป็นคนที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินจริงๆ แต่ปัจจุบันที่ธนาคารอนุมัติเพดานสินเชื่ออยู่ที่ 5 เท่าของรายได้นั้น ลูกค้าที่มีคุณภาพ มีประวัติการชำระหนี้ดีก็ยังใช้ไม่เต็มวงเงิน สะท้อนการใช้จ่ายที่ไม่เกินตัว ทั้งธนาคารและลูกค้าเดิมก็ไม่ต้องปรับตัวมาก ลูกค้าใหม่ก็จะมีวินัยการใช้เงินมากขึ้น สอดคล้องกับแนวทางของสมาคมธนาคารไทยที่รณรงค์ให้คนออมเงิน 40% ของรายได้อยู่แล้ว ยกเว้นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่อาจต้องปรับตัวเรื่องการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาสินค้าและบริการที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์และดึงดูดความสนใจลูกค้า"นายปรีดีกล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย